“จุรินทร์” เผย สาธารณสุขไทย จับมือกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ นำเอาประชากรศาสตร์ เป็นตัวตั้งในการแก้ปัญหา และวางแผนพัฒนางานด้านสาธารณสุข
วันนี้ (20 เม.ย.) ที่ห้องประชุมรัฐสภา กทม.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า นายนาจิบบุลเลาะห์ อัสซิฟิ (Mr.Najib Assifi) ผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประจำประเทศไทย และรองผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เข้าพบหารือร่วมกันในการเดินหน้าแผนงานความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติต่อไปในอนาคต โดยจะทำแผน 5 ปี เริ่มเดินหน้าตั้งแต่ พ.ศ.2555
โดยขอบเขตความร่วมมือ มีหลายเรื่อง เช่น 1.งานอนามัยแม่และเด็ก เป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล และเป็นหนึ่งหัวข้อสำคัญของโครงการปฏิรูปประเทศไทย ที่นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานเปิดโครงการในวันที่ 23 เมษายน 2554 นี้ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มีการดำเนินงานเรื่องนี้มาต่อเนื่อง และคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบพระราชบัญญัติการอนามัยเจริญพันธุ์ รวมทั้งให้ความสนใจกรณีเด็กหญิงแม่ โดยการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีแนวโน้มสูงขึ้น จากการคลอดของผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 ใน พ.ศ.2548 เป็นร้อยละ 16 ในปี พ.ศ.2553 และพระราชบัญญัติการอนามัยเจริญพันธุ์ ระบุชัดเจนให้นักเรียนที่ตั้งครรภ์สามารถเรียนต่อได้
นอกจากนี้ จะได้ร่วมกันจัดบริการคลินิกที่เป็นมิตรกับวัยรุ่นในโรงพยาบาลของในกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง รวมทั้งเสนอแนะให้กระทรวงศึกษาธิการ เพิ่มพัฒนาครูผู้สอนหลักสูตรเพศศึกษา และให้พัฒนาหลักสูตรเพศศึกษาอย่างรอบด้าน 2.ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว เป็นอีกกลุ่มคนที่กองทุนประชากรต้องการเข้าถึง ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายจัดตั้งอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าวขึ้น ในพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่ เช่น ที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งงานของกองทุนประชากร สามารถส่งผ่านทาง อสม.แรงงานต่างด้าวได้
3.ด้านโรคเอดส์ ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (18 เม.ย) ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีมติให้จ่ายยาต้านไวรัสเอดส์ให้แก่ผู้ติดเชื้อที่มี ซีดีโฟร์ ต่ำกว่า 350 โดยมีรายละเอียดในการให้ผู้ติดเชื้อที่มีข้อบ่งชี้ต่างๆ 4.ในกลุ่มผู้สูงอายุ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดช่องทางพิเศษในโรงพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุ นอกจากนี้ รัฐบาลได้จ่ายเบี้ยยังชีพเดือนละ 500 บาทต่อเดือนต่อคน แล้วในอนาคตรัฐบาลจะจัดทำพระราชบัญญัติบำนาญประชาชน ภายใต้พระราชบัญญัติการออมแห่งชาติ
ทั้งนี้ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์ในแง่ของการนำเอาประชากรศาสตร์ มาเป็นตัวตั้งในการแก้ปัญหาและวางแผนพัฒนาทุกๆ ด้าน รวมทั้งด้านสาธารณสุขด้วย