เลขาธิการ สปสช.เผยมติบอร์ด สปสช.ตั้งผู้แทน 9 คน หารือร่วมบอร์ด สปส.ในมาตรา 10 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ คาด 1 เดือนทราบผล
หลังจากชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับสิทธิการรักษาพยาบาลของประกันสังคม โดยได้ยื่นหนังสือถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ในการตราพระราชกฤษฎีกาให้บริการแก่ผู้ประกันตนที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 5, 10 และ 66 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยหากไม่ดำเนินการจะมีการฟ้องร้องฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
วานนี้(18 เม.ย) นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยได้มีการพิจารณาเรื่องการดำเนินงานตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ว่า บอร์ด สปสช.มีมติเห็นชอบให้มีการแต่งตั้งผู้แทนคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 9 คน มี นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะอนุกรรมการประสานยุทธศาสตร์ บอร์ด สปสช. ศ.(พิเศษ) ไพจิตร ปวะบุตร รองประธาน ศ.อัมมาร สยามวาลา อนุกรรมการฯ ฯลฯ เพื่อเข้าหารือกับคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เกี่ยวกับความพร้อมในการดำเนินการตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยจะทำหนังสือถึงบอร์ด สปส.เพื่อขอเข้าหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ คาดว่า จะได้ข้อสรุปว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ในอีก 1 เดือน ซึ่งหากบอร์ด สปส.เห็นด้วย มีความพร้อมในการดำเนินการในการนำผู้ประกันตนจำนวน 9.4 ล้านคนเข้ามาอยู่ในความดูแลของ สปสช.โดยจะต้องนำงบประมาณในส่วนของการรักษาพยาบาลราว 2 หมื่นล้านบาทมายังกองทุน สปสช.ก็สามารถดำเนินการ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาในการดำเนินการต่อไป
“ขณะนี้ สปส.ใช้จ่ายงบผู้ประกันตนตกหัวละประมาณ 2,100 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งจริงๆ แล้วหากโอนมายัง สปสช.น่าจะใช้งบประมาณต่ำกว่า เนื่องจากผู้ประกันตนส่วนใหญ่อายุไม่มาก ความเสี่ยงในการก่อโรคน้อย แต่ทั้งหมดยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ต้องรอให้มีการเจรจาก่อนว่า บอร์ด สปส.จะเห็นด้วยในการดำเนินการตามมาตรา 10 หรือไม่ ส่วนที่ก่อนหน้านี้มีการเรียกร้องให้โอนผู้ประกันตนมายังกองทุน สปสช. โดยที่ผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายเงินในส่วนนี้ แต่ให้รัฐบาลเป็นผู้จ่ายนั้น ” นพ.วินัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อผู้แทนบอร์ด สปสช.ทั้ง 9 คน ได้คัดเลือกมาจากคณะอนุกรรมการประสานยุทธศาสตร์ ของบอร์ด สปสช.ซึ่งประกอบไปด้วย นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานอนุกรรมการ ศ.(พิเศษ) ไพจิตร ปวะบุตร รองประธานอนุกรรมการ ศ.อัมมาร สยามวาลา อนุกรรมการ นายสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ อนุกรรมการ นายยุทธ โพธารามิก อนุกรรมการ ศ.เกียรติคุณ วิจิตร ศรีสุพรรณ อนุกรรมการ ผศ.สำลี ใจดี อนุกรรมการ นายบารมี ชัยรัตน์ อนุกรรมการ และ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม อนุกรรมการ