xs
xsm
sm
md
lg

คลี่ปม “มิดะ-ลานสาวกอด” กู้ศักดิ์ศรีหญิงชาวอาข่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

‘หมี่ดะ’ หญิงสาวชาวอาข่า
โดย....ทิติยา เถาธรรมพิทักษ์
     

ในที่สุดสังคมไทย คงเข้าใจกันเสียทีว่า “มิดะ” ไม่ใช่ครูสอนเพศศึกษา และ “ลานสาวกอด” ไม่ใช่สถานที่พลอดรัก เป็นเวลายาวนาน ที่พวกเราต่างมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อชนชาวอาข่า ส่งผลให้วาทกรรม “มิดะ” และ “ลานสาวกอด” กลายเป็นต้นเหตุทำให้ชาวเขากลุ่มนี้ต้องทนทุกข์และก่อเกิดเป็นปมฝังใจมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี โดยที่มาของความเข้าใจผิดนี้เกิดจากหนังสือ บทเพลง ละคร ภาพยนตร์ การ์ตูน ที่คนต่างวัฒนธรรมสร้างขึ้นโดยไม่เข้าใจอย่างท่องแท้ว่าแท้จริงแล้ว มิดะ และสานสาวกอด คืออะไร
     

นายอาจู จูเปาะ ประธานชมรมอาข่าในประเทศไทย บอกว่า คนส่วนใหญ่รู้จักมิดะและลานสาวกอดจากหลายสื่อด้วยกัน แต่ที่รู้จักกันมากที่สุดก็มาจากบทเพลงของ “จรัล มโนเพ็ชร” ศิลปินชาวเหนือ ซึ่งเพลงนี้ได้กล่าวถึง"มิดะ"หญิงสาวผู้เป็นครูสอนเพศศึกษาให้แก่ชายหนุ่มชาวอาข่าที่กำลังเข้าสู่วัยออกเรือน และยังกล่าวถึง “ลานสาวกอด”ที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสถานที่ไว้พลอดรัก สามารถกอดสาวได้ตามใจชอบอีกด้วย และด้วยความเข้าใจที่บิดเบือนไม่ตรงกับความเป็นจริงนี้เองก็ทำให้ชาวอาข่าโดยเฉพาะผู้หญิงชาวอาข่าถูกมองในแง่ไม่ดี รวมทั้งยังกลายเป็นปมที่ฝังลึกอยู่ในใจจนถึงปัจจุบัน
     

“แท้จริงแล้ว มิดะ หรือในภาษาอาข่าอ่านออกเสียงว่า “หมี่ดะ” หมายถึงหญิงสาวบริสุทธิ์ที่ยังไม่เคยผ่านการแต่งงานมาก่อน และในสังคมชาวอาข่า ไม่เคยมีผู้หญิงที่มีหน้าที่สอนเรื่องเพศให้แก่หนุ่มสาวเช่นนี้ ขณะที่ลานสาวกอด โดยความเป็นจริงแล้วชาวอาข่าไม่มีสถานที่แบบนี้เลย มีแต่บริเวณลานดินที่ใช้สำหรับร้องเพลงตามประเพณีเรียกว่า “แดข่อง” และเป็นสถานที่สำคัญที่หมู่บ้านอาข่าทุกหมู่บ้านจะต้องมี โดยมีลักษณะเป็นลานดิน ชาวบ้านจะนำท่อนไม้มาวางต่อกันเป็นวงกลมรอบๆ ลานแล้วหนุ่มสาวตลอดจนคนทุกวัยสามารถมาร่วมกันใช้สถานที่นี้เพื่อร้องรำทำเพลงตามประเพณีได้”
     
ลานวัฒนธรรม
ขณะที่น.ส.พรเพ็ญ แซ่ดู่ เยาวชนชาวอาข่า ได้สะท้อนให้เห็นว่านอกจากความเข้าใจผิดที่มาจากบทเพลง หรือสื่อต่างๆ แล้วปัจจุบันอินเทอร์เน็ตยังเป็นอีกช่องที่ทำให้คนภายนอกรับข่าวสารผิดๆ เกี่ยวกับ มิดะ และลานสาวกอด และนำมาซึ่งผลกระทบมากมาย เช่น ทำให้คนต่างวัฒนธรรมมีการแสดงออกในทางลบกับชาวอาข่า ทั้งคำพูด ทัศนคติ ที่เป็นการลดทอนศักดิ์ของผู้หญิงอาข่า รวมทั้งเมื่อเสพข้อมูลเข้าไปก็ทำให้คนอยากขึ้นมาพิสูจน์ความจริงว่ามิดะและลานสาวกอดมีจริงๆ หรือไม่  ดังนั้นทำให้ชาวอาข่าบางคนจึงเลือกที่จะปิดบังฐานะตนเองต่อสังคม โดยไม่บอกว่าตนเองคือชาวอาข่า ไม่กล้าพูดภาษาอาข่า เพราะอาจจะถูกดูถูกเหยียดหยามและไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม 
     

นางหมี่จู มอแลกู่ นายกสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย บอกว่า วัฒนธรรมชาวอาข่าไม่ได้กีดกันว่าชาย-หญิงจะต้องแต่งงานกันภายในเผ่าเท่านั้น ที่ผ่านมาก็มีคนอาข่าหลายคนที่แต่งงานกับคนต่างวัฒนธรรม ต่างชาติ ต่างภาษา และจากความเข้าใจที่ไม่ตรงกันนี้ย่อมมาซึ่งผลกระทบแน่นอน

"อย่างที่บอกว่าหญิงอาข่าต้องผ่านผู้นำชุมชนหรือชายต้องผ่านแม่หม้ายในการสอนเพศสัมพันธ์ก็ทำให้สามีหรือภรรยาที่ต่างวัฒนธรรมกันเกิดข้อสงสัยว่าคู่ของตนเองนั้นเป็นอย่างที่บทเพลง หนังสือ สื่อต่างๆ เสนอหรือเปล่า ถ้าเป็นชาวอาข่าแต่งงานด้วยกันเองก็จะเข้าใจและไม่เกิดประเด็นนี้ขึ้น เพราะต่างก็รู้ว่าไม่ได้เป็นจริงดังเช่นคนภายนอกพูดถึง กระนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเฉพาะชาวอาข่าเท่านั้นที่โดนแต่ชนเผ่าทุกชนเผ่าต่างก็ได้รับผลกระทบด้วย เพราะคนภายนอกไม่รู้ว่าเผ่าไหนคืออาข่า เผ่าไหนคือม้ง ลีซอ"

ด้านศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) บอกว่า การแก้ไขปัญหาความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเรื่องนี้อยากจะให้มีการจัดเวทีสาธารณะเพื่อให้คนนอกวัฒนธรรมเข้าใจชาวอาข่า โดยจะให้สื่อทั้งสื่อดั้งเดิม และสื่อสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทในรูปแบบเกลือจิ้มเกลือคือ ส่งสัญญาณกลับไปสู่สาธารณะว่าสิ่งที่คนเมืองเข้าใจกันนั้นคลาดเคลื่อนไม่เป็นความจริง เป็นจุดเริ่มต้นให้เจ้าของวัฒนธรรมเข้ามาชี้แจงอธิบายให้สังคมเข้าใจในสิ่งที่ตรงกัน นอกจากนี้อยากจะมีผลิตการ์ตูนชุดใหม่ โดยให้ชุมชนกลุ่มอาข่าเข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอเนื้อหาข้อมูล หลังจากนั้น สวธ.ก็จะเป็นเจ้าภาพในการผลิตไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการ์ตูนแอนิเมชัน ภาพยนตร์สั้น
     

แม้อดีตจะไม่สามารถแก้ไขได้ สื่อต่างๆ ที่เคยมีการผลิตก็ยังมีอยู่แต่สิ่งที่ทำได้ต่อจากนี้ คือ การผลิตสื่อหรือหนังสือที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องหักล้างข้อมูลเก่าๆ และเผยแพร่ให้คนนอกรับทราบ พร้อมๆ กับการเยียวยาจิตใจที่บอบช้ำมาเนิ่นนาน เพื่อกู้ศักดิ์ศรีของหญิงชาวอาข่ากลับคืนมา
กำลังโหลดความคิดเห็น