xs
xsm
sm
md
lg

หยุด 7 วันอันตราย...หยุดเมา! งัดหมัดเด็ดฉลอง ‘สงกรานต์ปลอดภัย’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย จารยา บุญมาก

ผ่านมาแล้วเกินครึ่งทางสำหรับช่วง “7 วันอันตราย” ตั้งแต่วันที่ 11-17 เม.ย. โดยในปีนี้มีการตั้งเป้าลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงสงกรานต์ลงอีก 5% ซึ่งในปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 361 ราย ส่วนสาเหตุอันดับต้นๆ ยังคงเป็นเพราะ “เมาแล้วขับ” ขณะเดียวกัน ตัวเลขการเสียชีวิตจะค่อยๆ ลดลงแต่กลับพบปัญหาลุกลามไปยังนักดื่มหน้าใหม่ โดยข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) พบการเสียชีวิต 1 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมามีความพยายามในการรณรงค์ในเชิงบวกมากยิ่งขึ้น โดยเปลี่ยนจากการณรงค์หยุด “7 วันอันตราย” มาเป็น “สงกรานต์ปลอดภัย”

สำหรับมาตรการในการลดความสูญเสียในปีนี้ เริ่มที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จากสถติในปี 2553 หลังพบอุบัติเหตุจราจรเกิดจากเมาแล้วขับ ร้อยละ 40 จากจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ 3,802 ราย ได้มีการสั่งการโรงพยาบาลในสังกัดเฝ้าระวังการบาดเจ็บ 33 แห่งทั่วประเทศ ส่วนกรมควบคุมโรค โดยสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังคงต้องเร่งขับเครื่องเรื่องการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เนื่องจาก 3 ปีที่ประกาศใช้กฎหมาย พบผู้ถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น 3,628 ราย ในจำนวนนี้มีการกล่าวโทษและดำเนินคดี 1,001 ราย

นพ.สมาน ฟูตระกูล ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ความผิดที่เกิดขึ้นส่วนขายในเวลาที่กฎหมายห้ามขายถึงร้อยละ 56 รองลงมาขายในสถานที่ห้ามขายร้อยละ 19 ขายในลักษณะต้องห้ามร้อยละ 11 ขายให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีร้อยละ 7 และการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกร้อยละ 7

สาเหตุส่วนหนึ่งที่ยังพบการกระทำผิดมากมาย นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ให้ความเห็นว่า เป็นเพราะกฎหมายคุมเหล้าอ่อน คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เร่งมือการรณรงค์ให้ความรู้เด็ก แต่ไม่มีการเอาผิดกับร้านค้าที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่เด็กต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงความความหละหลวมในเรื่องการเก็บภาษีนั้นยังล้าหลัง ดังนั้นหากอยากประสบความสำเร็จในการลดนักดื่ม ลดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับอย่างจริงจัง การเอาผิดต่อร้านค้าและผู้ประกอบการต้องมีระบบ และพยายามเก็บภาษีที่ไม่บ่างแยกประเภทของแอลกอฮอล์ตามความเข้มข้น เพราะการเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เข้มข้นน้อย ราคาถูกจะทำให้เด็กและเยาวชนดื่มมากขึ้น

จุดอ่อนต่างๆ ที่พบนี้ ล้วนเป็นปัจจัยเด่นที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ต้องรณรงค์เรื่อง “วัฒนธรรมสร้างสุข สงกรานต์ปลอดภัย สนุกสุขใจไร้แอลกอฮอล์” โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส. กล่าวถึงยุทธศาสตร์เชิงรุกของการลดอุบัติเหตุ คือ ต้องส่งเสริมพื้นที่เล่นน้ำในช่วงสงกรานต์อย่างสร้างสรรค์ และส่งเสริมพื้นที่สงกรานต์ปลอดเหล้า โดยปีนี้ สสส.ได้ร่วมมือกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว หลักๆ เลย คือ สร้างพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าใน 44 จังหวัด บนถนนสายหลักที่มีนักท่องเที่ยวคับคั่งได้แก่ ถนนตระกูลข้าว 16 แห่ง คือ 1.ถนนข้าวเหนียว จ.ขอนแก่น 2.ถนนข้าวเม่า จ.มหาสารคาม 3.ถนนข้าวสุก จ.อ่างทอง 4.ถนนข้าวแต๋น จ.น่าน 5.ถนนข้าวแช่ จ.ปทุมธานี 6.ถนนข้าวปุก จ.แม่ฮ่องสอน 7.ถนนข้าวเปียก จ.อุดรธานี 8.ถนนข้าวสังข์หยุด จ.พัทลุง 9.ถนนข้าวทิพย์ จ.จันทบุรี 10.ถนนดอกไม้ จ.อุบลราชธานี 11.ถนนข้าวเย็น จ.ศรีสะเกษ 12.ถนนข้าวก่ำ จ.กาฬสินธุ์ 13.ถนนข้าวปุ้น จ.นครพนม 14.ถนนข้าวฮาง จ.สกลนคร 15.ถนนข้าวหลาม จ.เลย และ 16.ถนนขนมเส้น จ.แพร่

“พื้นที่ดังกล่าวยังคงสามารถฉลองวันสงกรานต์ได้ตามปกติ ทั้งคอนเสิร์ต ขบวนรถเล่นน้ำ แต่จะเป็นสงกรานต์บริสุทธิ์ ที่นำเสนอทุกเรื่องสร้างสรรค์ของแต่ละพื้นที่ เช่น ประเพณีท้องถิ่นของจังหวัดขอนแก่นจะมีขบวนแห่เกวียนบุปผชาติ การเล่นคลื่นมนุษย์บันทึกสถิติโลกเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยไม่ต้องพึ่งพาแอลกอฮอล์” ดร.สุปรีดาอธิบาย

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ทาง สคอ.มีมาตรการเสริมเรื่องของการปรับบทบาทของหน่วยบริการที่จุดตรวจเมาไม่ขับทั่วประเทศผ่าน ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตทางถนน (ศปถ.) ให้เพิ่มการเฝ้าระวังจุดเสี่ยงบนท้องถนน และจับตาดูร้านค้าใกล้เคียงกับจุดตรวจเมาไม่ขับ ที่ลักลอบจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะจำหน่ายให้กับเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี พร้อมทั้งประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้จุดตรวจเมาไม่ขับทั่วประเทศ กวดขันผู้ขับขี่ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ว่ามีอาการมึน เมา หรือไม่ หากพบให้ซักประวัติว่า ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากร้านใด หรือดื่มจากร้านใด เพื่อขยายผลการจับกุม นอกจากนี้ ได้ผลิตสื่อรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ให้กับองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน เพื่อร่วมรณรงค์ให้เกิดพื้นที่สงกรานต์ปลอดภัย เพื่อที่จะได้ลดนักดื่มหน้าใหม่และลดอุบัติเหตุอันเกิดจากการเมาแล้วขับด้วย

แม้ปัจจุบันเยาวชนไทยต้องตกเป็นเหยื่อของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุนำมาซึ่งการสูญเสียหลายด้าน ทั้งเรื่องของความพิการทางร่างกายและการพลาดโอกาสการศึกษา และทรัพย์มหาศาลที่ต้องจ่ายไปกับค่ารักษาพยาบาล แต่ปีนี้เราก็ยังได้เห็นบทบาทของเยาวชนในเชิงขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจังเช่นกัน

นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการกลุ่มงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อทดแทนธุรกิจแอลกอฮอล์ด้านประเพณี วัฒนธรรม เล่าว่า ปัจจุบันนี้เครือข่ายเด็กและเยาวชนทั้งระดับมัธยมศึกษาถึงระดับปริญญาตรี มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังปัญหาดังกล่าวมีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยเข้าเป็นอาสาสมัครสอดส่องดูแลความเรียบร้อย เป็นนักสืบออนไลน์ (online ) และรายงานความเคลื่อนไหวของปัญหาผ่านโซเชียลมีเดีย (Social Media) เช่น เฟซบุ๊ก (Facebook) บล็อก (Blog) ทวิตเตอร์ (Twitter)

“เทคโนโลยีเหล่านี้เยาวชนส่วนมากรู้และเข้าใจวิธีการดี ดังนั้น เพื่อให้เขาสนุกกับเทคโนโลยี เราก็ควรเปิดพื้นที่ให้พวกเขามีส่วนร่วม นอกจากนี้ยังภาคีเครือข่ายยังเฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมาย และพฤติกรรมการเล่นน้ำสงกรานต์ที่ไม่เหมาะสมผ่านกล้อง CCTV ซึ่งทำมานานกว่า 3 ปีแล้ว เพื่อเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลของปัญหาให้ง่ายขึ้น” นายวิษณุกล่าวทิ้งท้าย

สารพัดยุทธศาสตร์ที่กล่าวมาจะสามารถลดปัญหาได้หรือไม่ คงต้องรอติดตามสรุปผลหลังเทศกาลสงกรานต์กันอีกที






กำลังโหลดความคิดเห็น