xs
xsm
sm
md
lg

งามเหนือกาลเวลา ธรรมเนียมสงกรานต์แห่งราชสกุล “อิศรเสนา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




ในยามที่โลกหมุนเวียนเปลี่ยน ผ่านยุคสมัยจนคนรุ่นใหม่แทบไม่คำนึงถึงแง่งามแต่เก่าก่อน ทว่าในรอบรั้วขอบชิดของบ้านสไตล์ยุโรปประยุกต์ของราชสกุล “อิศรเสนา” ซึ่งเจ้าของปัจจุบันคือ “คุณพงศ์” - พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา ทายาทคนเดียวของ พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) ประเพณีสงกรานต์ของครอบครัวอิศรเสนาตั้งแต่ครั้งอดีตยังคงจารึกไว้ในวิถีปฏิบัติ สืบทอดกันมาอย่างอบอุ่น สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับเทศกาลสงกรานต์ในปัจจุบัน
 
บ้านอิศรเสนา หลังนี้มีอายุกว่า ๑๒๐ ปี ตั้งอยู่ริมคลอดหลอด บนถนนอัษฎางค์ ออกแบบโดย E.G.Gollo สถาปนิกชื่อดังชาวอิตาเลี่ยนในสมัยรัชกาลที่ ๕ แม้ในวันปกติจะมีเพียงคุณพงศ์และครอบครัวเท่านั้นที่อาศัยอยู่ แต่เมื่อใกล้ถึงเทศกาลสงกรานต์ บ้านหลังนี้ ก็กลับครึกครื้นขึ้นอีกครั้งด้วยสมาชิกในหมู่เครือญาติทั้งของราชสกุลอิศรเสนาและบรรดาญาติพี่น้องจากราชสกุลอื่นๆ ที่เกี่ยวดองกัน
 
คุณพงศ์ เล่าว่า ทุกวันอาทิตย์สิ้นเดือนมีนาคมของทุกปี ขณะที่คนไทยทั้งประเทศเตรียมนับถอยหลังเพื่อต้อนรับวันปีใหม่ไทย ณ บ้านอิศรเสนาแห่งนี้ ก็กำลังง่วนอยู่กับการจัดเตรียมสถานที่ และเครื่องข้าวแช่ ไว้ต้อนรับญาติพี่น้องกว่า ๘๐ ชีวิต ที่เป็นอันรู้กันว่าต้องมารวมตัวกันครั้งใหญ่ เพื่อร่วมทำบุญสงกรานต์ ฉลองพระบรมอัฐิ พระอัฐิและอัฐิของบรรพบุรุษ และก็ถือโอกาสรดน้ำขอพรผู้หลักผู้ใหญ่ในราชสกุลตามขนบอันดีงาม
 
ภายในบ้านหลังนี้ ถือเป็นแหล่งรวมใจของลูกหลานราชสกุลอิศรเสนา เนื่องด้วยเป็นสถานที่เก็บพระอัฐิของ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพงศ์อิศเรศ กรมหมื่นกษัตริย์ศรีศักดิเดช องค์ต้นราชสกุลอิศรเสนา ซึ่งเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบวรเจ้ามหาเสนานุรักษ์ พระราชอนุชาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) หรือ สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ (วังหน้าในรัชกาลที่ ๒) กับพระองค์เจ้าหญิงสำลีวรรณ พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
 
ในฐานะทายาทอิศรเสนา ซึ่งเป็นผู้สืบทอดตำนานข้าวแช่ของราชสกุลที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว คุณพงศ์เล่าว่า ที่ต้องเป็นรายการ “ข้าวแช่” ในช่วงสงกรานต์ ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ เพียงแต่ข้าวแช่ จัดเป็นอาหารที่คนไทยแต่โบราณนิยมรับประทานกันในช่วงหน้าร้อน ถ้าเอ่ยถึงข้าวแช่ แต่ละราชสกุลก็มีสูตรการทำเครื่องข้าวแช่ที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่ว่าจะมีเครื่องเคราชนิดใดบ้างที่โดดเด่น ให้รูปลักษณ์และรสชาติที่ไม่เหมือนกับบ้านอื่นๆ เรียกว่า เมื่อนำข้าวแช่ทั้งชุดจากแต่ละบ้านมาจัดสำรับเรียงกัน ก็จะรู้ได้ทันทีว่าสำรับนี้เป็นข้าวแช่จากตำรับของราชสกุลใด

“ถ้าเป็นข้าวแช่ของที่บ้านอิศรเสนา หัวไชโป๊วเราจะยัดไส้หมูแล้วนำไปชุบไข่ทอด พริกหยวกก็จะหั่นเป็นคำๆ แทนที่จะทำเป็นพริกหยวกทั้งเม็ด ส่วนหัวหอมก็จะยัดไส้ปลาแห้ง ลูกกะปิก็จะทำและปรุงรสแตกต่างกันไป ไม่เหมือนบ้านอื่น แต่สำหรับราชสกุลอิศรเสนา เครื่องเคราทุกอย่างยังคงรสชาติดั้งเดิมไว้ไม่เปลี่ยน ซึ่งผมจะเป็นคนทำทุกอย่างด้วยตัวเอง พร้อมผู้ช่วยอีก 20 คน”
 
ในวันสงกรานต์ตามธรรมเนียมไทย นอกจากคนไทยจะถือโอกาสนี้ทำบุญเลี้ยงพระต้อนรับศักราชใหม่แล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ของขนบอันดีงามในช่วงสงกรานต์ นั่นคือ การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ซึ่งสมาชิกในตระกูลอิศรเสนาจนถึงรุ่นที่ ๗-๘ ในวันนี้ ยังคงเหลือผู้หลักผู้ใหญ่ในครอบครัวอยู่หลายท่าน และใช่เพียงเชื้อสายที่สืบทอดจากฝั่งอิศรเสนาเท่านั้น แต่ในช่วงเวลาแห่งความอบอุ่นนี้ จำนวนเครือญาติราวครึ่งที่มาร่วมงานก็ยังอุ่นหนาฝาคั่งด้วยพี่น้องจากราชสกุลสนิทวงศ์ ราชสกุลกุญชร เป็นต้น
 
คุณพงศ์เป็นอีกคนหนึ่งที่ภาคภูมิใจกับขนมธรรมเนียมไทยอย่างมาก และพยายามสืบสานธรรมเนียมเหล่านี้ไม่ให้สูญหายหรือผิดเพี้ยนไปจากเดิม ซึ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ มีประเพณีอันดีงามที่สืบต่อกันมา คือ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ที่คุณพงศ์บอกเล่าถึงวิธีการที่ถูกต้องไว้ว่า
 
“ตามธรรมเนียมไทย เวลารดน้ำผู้หลักผู้ใหญ่ เด็กต้องเป็นฝ่ายขอพรจากท่าน ไม่ใช่เด็กไปอวยพรผู้ใหญ่ ซึ่งผิดหลักปฏิบัติตามธรรมเนียมอย่างมาก เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่ถือเรื่องอาวุโสมาก ผู้ใหญ่เท่านั้นที่จะให้พรเด็ก ที่บ้านอิศรเสนา การรดน้ำขอพรจะจัดให้ลูกหลานรดน้ำผู้ใหญ่ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเท่านั้น ส่วนท่านอื่นๆ ต่อให้ท่านจะมีพระคุณกับเราขนาดไหนก็ตาม หากอายุท่านไม่ถึง 60 ปี หรือพ้นวัยเกษียณ เราก็จะไม่รดน้ำท่านเด็ดขาด เพราะคนไทยถือว่าเป็นการแช่ง ส่วนลูกหลานเองก็มีหน้าที่ต้องเตรียมของไปมอบให้ญาติผู้ใหญ่ด้วย นอกจากน้ำอบไทยแล้ว ตามธรรมเนียมของที่เตรียมให้ท่าน ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะเป็นผ้าตัดเสื้อหรือผ้าป่านรูเบีย ที่มาจากเมืองแขก ส่วนผู้ชายก็จะเตรียมกางเกงแพรให้ท่าน”
 
ส่วนคำให้พรที่ผู้หลักผู้ใหญ่เตรียมไว้ให้ลูกหลานในบ้านอิศรเสนา แม้จะเป็นถ้อยความเดิมๆ ที่ไม่ต่างไปจากปีก่อนๆ มากนัก แต่ในด้านความรู้สึกแล้ว เพียงประโยคสั้นๆ ที่ว่า “ขอให้สุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บไม่ไข้ ให้มีความสุขความเจริญในชีวิต คิดอะไรก็ขอให้สมความปรารถนา” ก็พาให้จิตใจของผู้มีอาวุโสน้อยกว่าแช่มชื่นขึ้นได้ตลอดปี สมเป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ของไทยตามธรรมเนียม อันเรียบง่าย งดงาม และเปี่ยมล้นด้วยความอบอุ่น
 
“เราเป็นคนไทย ต้องภูมิใจในความเป็นไทย” คุณพงศ์ ทิ้งท้ายพร้อมด้วยความมุ่งมั่น... “ตราบที่ผมยังมีชีวิตอยู่ธรรมเนียมเหล่านี้ก็จะยังถูกสืบทอด” ซึ่งหากวันข้างหน้าที่ตัวเขาไม่ได้อยู่คอยดูแลหรือไร้ผู้สืบตระกูล บ้านอิศรเสนาแห่งนี้ ก็พร้อมแปรเปลี่ยนสภาพจากบ้านพักให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนรู้ถึงความเป็นไทย มอบไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง

 
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net
กำลังโหลดความคิดเห็น