xs
xsm
sm
md
lg

สงกรานต์และครอบครัว ความงดงามอันหลากหลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่มีเทศกาลไหนอีกแล้วที่คำว่า ‘บ้าน’ จะสำคัญที่สุดเท่ากับเทศกาลสงกรานต์ หัวลำโพงสถานีขนส่งหมอชิต และสถานีขนส่งอื่นๆ แน่นขนัด ถนนในกรุงเทพฯ โล่งหูโล่งตาผิดธรรมชาติ ชีวิตผู้คนนับล้านที่หลั่งไหลเข้ามากระเสือกกระสนในกรุงเทพฯ ต่างมุ่งหน้ากลับบ้านซบตักแผ่นดินและท้องฟ้าที่คุ้นเคย

สงกรานต์จึงมีความหมายมากกว่าเทศกาลสาดน้ำ

ชีวิต บ้าน และสงกรานต์ จึงมีสิ่งละอันพันละน้อยทางวัฒนธรรมประเพณีอันงดงาม หลากหลาย ตามแต่ละถิ่นที่ ศาสนา และรากฐานชีวิตอันจำเพาะที่ฟูมฟักแต่ละคนขึ้นมา

ติดตามการกลับบ้านของผู้คนว่า ชีวิตดำเนินไปอย่างไรเมื่อนกพเนจรได้กลับคืนรัง

ปี๋ใหม่เมือง

“งานประเพณีปีใหม่ของคนเหนือหรือปี๋ใหม่เมืองถือเป็นประเพณีสำคัญอันดับแรกๆ เลยนะ เป็นวันที่คนในครอบครัวจะมาทำกิจกรรมร่วมกัน อย่างครอบครัวที่มีลูกไปทำงานที่อื่น ช่วงนี้ก็จะกลับบ้านมาพร้อมหน้าพร้อมตากัน”

วารียา วิริยะ สาวเชียงใหม่ ที่อยู่ในครอบครัวที่ยังคงวิถีแบบชาวเหนือแท้ๆ เล่าให้ฟังถึงความสำคัญของสงกรานต์ โดยเธอยังเล่าต่อไปอีกว่า ในแต่ละวัน เธอและครอบครัวก็จะมีกิจกรรมที่แตกต่างกันไป

“วันที่ 12 นี่คนที่อยู่ไกลบ้านจะกลับมากันแล้ว และจะร่วมกับคนในครอบครัวทำความสะอาดบ้านต้อนรับวัน 'สังขารล่อง' (13 เมษายน) ซึ่งจะมีพิธีการรดน้ำดำหัวกันในเครือญาติและครอบครัว พอเข้าวันที่ 14 ก็เป็น 'วันเนา' วันนี้จะถือกันมากเรื่องห้ามพูดหยาบ และต้องคิดดี ทำดี เพราะเชื่อกันว่ามันจะส่งผลไปตลอดทั้งปี พอวันที่ 15 ก็เป็น 'วันพญาวัน' จะมีการขนทรายเข้าวัดกัน ทางเหนือก็จะพิเศษหน่อยเพราะมีการปักตุงด้วย

“ในวันที่ 15 นี้ถือเป็นวันปีใหม่ กิจกรรมอีกอย่างที่ครอบครัวทำกันคือการเอาไม้ง่ามที่เรียกว่าไม้ค้ำสะหลีเข้าไปค้ำต้นโพธิ์ในวัดกัน ตกค่ำก็จะพากันเข้าวัดฟังเทศน์”

ส่วนในวันที่ 16 ซึ่งถือว่าเป็นวันท้ายๆ ของเทศกาลปีใหม่เมือง วารียาบอกว่า มันมีชื่อเรียกว่า 'วันปากปี๋' หรือวันปากปีนั่นเอง

“วันนี้ทุกบ้านจะทำแกงขนุนกันนะ เป็นอาหารมงคล แล้วก็จะกินข้าวกินปลาพร้อมหน้าพร้อมตากัน ส่วนใครที่ยังไม่ได้เดินทางไปดำหัวผู้ใหญ่คนอื่นๆ ก็จะไปกันวันนี้แหละ”

ชาวมอญกับสงกรานต์

ชาวมอญถือเป็นหนึ่งชนชาติที่กระจายตัวอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสมุทรสาคร นนทบุรี ราชบุรี ฯลฯ

ความพิเศษของพวกเขาไม่ใช่เพียงแค่เป็นชนโบราณเท่านั้น หากแต่ยังสามารถรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไว้อย่างแน่นเหนียว ประเพณีสงกรานต์ก็ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีความสำคัญทั้งในแง่ของความเป็นพุทธศาสนิกชน และความเป็นครอบครัว โดย อำไพ มัฆมาน ประธานกลุ่มมอญสยาม ลุ่มน้ำแม่กลอง เล่าว่า กิจกรรมอย่างหนึ่งที่บุตรหลานชาวมอญทำให้แด่ญาติผู้ใหญ่เป็นประจำทุกปีก็คือ 'การอาบน้ำให้'

"ทุกสงกรานต์ลูกหลานจะต้องมาอาบน้ำให้พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย เพื่อมอบความสะอาด ความสดชื่นแก่ผู้อาวุโส และยังถือเป็นสิริมงคลของลูกหลานด้วย เพราะเวลาอาบท่านจะถือโอกาสอบรมสั่งสอน ให้รัก ให้สามัคคีกัน"

สำหรับวิธีอาบก็คือ ผู้หญิงจะนุ่งกระโจมอก ผู้ชายนุ่งโสร่งหรือผ้าขาวม้า โดยจะไปอาบน้ำในบริเวณที่จะไม่ทำให้บ้านเปรอะเปื้อนมากนัก หรือถ้าอาบบนบ้านไม่สะดวกจริงๆ ก็จะลงไปอาบข้างล่าง โดยลูกหลานจะจัดเป็นตั่งที่ทำด้วยไม้หรือไม้ไผ่แทน ส่วนน้ำที่ใช้อาบจะทำให้หอมด้วยการลอยดอกมะลิ เวลาอาบจะมีกลิ่นหอมและเย็น พออาบเสร็จลูกหลานก็จะทาแป้งและมอบเสื้อผ้า อาจจะเป็นเสื้อใหม่ ผ้าใหม่ ผ้าขาวม้า หรือผ้าสไบ

นอกจากนี้ ประเพณีการให้ขนมก็ถือว่าสำคัญ โดยปกติแล้วบ้านต่างๆ จะทำข้าวแช่เป็นอาหารถวายพระในช่วงเช้า หลังจากถวายเสร็จ ลูกหลานที่ออกเรือนไปแล้วจะนำข้าวแช่ไปมอบให้แก่ญาติผู้ใหญ่ เพื่อแสดงความเคารพ โดยจะทำทั้ง 3 วันคือตั้งแต่ 13-15 เมษายน แต่ถ้าลูกหลานคนไหนที่อยู่ห่างไกลกันมากก็จะส่งขนมมาให้

สงกรานต์คนอีสาน ฮีตฮอยยังแข็งแรง

สำหรับชาวอีสาน เทศกาลสงกรานต์ถือเป็นวันแห่งความสุขและสนุกสนาน เพราะจะได้พบเจอญาติพี่น้องและคนในครอบครัวที่ต่างแยกย้ายกันไปทำมาหากินต่างถิ่น เมื่อกลับมาเจอกัน สิ่งที่ทำร่วมกันคือการทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ รวมไปถึงการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่เพื่อขอให้มีความเป็นสุข

วรรณศักดิ์พิจิตร บุญเสริม อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวัฒนธรรมศาสตร์ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เล่าถึงสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาที่ถือเป็นกิจกรรมครอบครัวในช่วงวันสงกรานต์ โดยเฉพาะวันที่ 13 เมษายน ว่า

“ผมคิดว่าการที่รัฐบาลจัดไว้ว่าให้เป็นวันครอบครัว ก็น่าจะมาจากจุดนี้ว่าทุกคนจะได้กลับมาบ้าน สังเกตไหมครับว่าคนอีสานที่ไปทำงานต่างถิ่นก็จะได้กลับบ้านในช่วงนี้แหละ เพราะว่าบุญสงกรานต์มันมีพิธีกรรมบางตัวที่เกี่ยวข้องกับการทำร่วมกันของครอบครัว”

กิจกรรมที่ทำกันในครอบครัวของคนอีสาน หากว่ากันตามตรงก็ไม่ใช่ของไทยโดยตรง เพราะล้วนมาจากมอญ พม่า อย่างการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ จริงๆ แล้วคนไทยไม่ได้เน้นตรงนี้ แต่เน้นเรื่องการแห่ปราสาท การตบประทาย (ก่อเจดีย์ทราย)

เมื่อถึงวันสงกรานต์ก็คือวันปีใหม่ ทางอีสานเน้นตรงที่เป็นวันเปลี่ยนศกใหม่ มีการทำความสะอาดบ้าน ผูกข้อต่อแขน ขอขมาลาโทษ ผู้ใหญ่มีการทำบุญบ้าน อะไรที่ทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่บ้านจะนิยมทำกัน

“บางที่มีการจุดบั้งไฟ จะใช้จุดบอกผีปู่ผีย่า จะมีการทำพิธีขอขมาลาโทษหรือเลี้ยงผีประจำหมู่บ้าน ผีปู่ตา เช่น ที่จังหวัดมหาสารคาม บางที่ที่มีกู่เก่าก็มีการจุดบั้งไฟ ทุกคนในครอบครัวต้องมา ใครไม่มาไม่ได้ หรือใครไม่มาก็ต้องส่งตัวแทนมา ถ้าไม่มาก็ต้องเอาของขมาลาโทษมาด้วย ทุกบ้านก็ต้องจุดบั้งไฟ ก็มีการบูชาผีด้วย”

ประเพณีสิ่งที่สืบต่อกันมา วรรณศักดิ์พิจิตร บอกว่า ยังมีการปฏิบัติกันอยู่ หากบ้านไหนมีคนแก่อายุ 60 ปีขึ้นไปก็ยังคงยึดถือ เพราะเชื่อว่าจะทำให้หมู่บ้านร่มเย็นเป็นสุข

“เป็นสิ่งที่ทำร่วมกันในครอบครัว แต่ภาพรวมของคนอีสานยังเหลืออยู่เยอะ 70-80 เปอร์เซ็นต์ได้ที่ทำแบบนี้ ในเมืองก็มีวัฒนธรรมใหม่ๆ เข้ามาแทน อย่างผมเองพอวันที่ 13 ผมกับครอบครัวต้องไปหาแม่ เอาพวงมาลัยไปขอขมาลาโทษ ไม่มีพิธีรีตองมาก และกินข้าวร่วมกัน”

สงกรานต์ใต้คงเงียบเหงา เพราะน้ำท่วม

รจกร กั้นเกตุ นักศึกษาสาวชาวใต้ผู้เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยรัฐบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ กล่าวว่า

ถ้าเป็นช่วงวันหยุดติดต่อกันหลายวันเธอจะกลับบ้านไปใช้เวลาอยู่กับครอบครัวที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี อย่างวันสงกรานต์ปีนี้เธอก็มีแผนจะกลับมาพักผ่อนกับครอบครัวเช่นเดิม

“ดีใจที่ได้กลับบ้าน อยู่ที่ไหนก็ไม่สุขใจเท่าบ้านเราหรอก จากเมื่อก่อนเราเรียนแล้วก็กลับบ้าน แต่พอเข้ามหาวิทยาลัย ต้องมาอยู่หอที่กรุงเทพฯ คนเดียว ก็คิดถึงบ้าน คิดถึงอาหารใต้ที่แม่ชอบทำให้กิน”

สำหรับสงกรานต์ของชาวสุราษฎร์ฯ ยังคงรักษาไว้ซึ่งประเพณีไทย และไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเล่นน้ำสงกรานต์แต่ให้ความสำคัญกับครอบครัวเสียมากกว่า

“เทศกาลสงกรานต์ที่สุราษฎร์ฯ จะมีการทำบุญตักบาตร รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่
กันตามประเพณีไทย แต่ที่จังหวัดเราจะเล่นน้ำกันเพียงวันเดียว เฉพาะวันที่ 13
นิยมไปเล่นน้ำกับบริเวณแม่น้ำตาปีกลางเมืองสุราษฎร์ฯ แล้ววันที่ 14-15 ก็จะเป็นวันที่ชาวสุราษฎร์ฯ ใช้เวลาเที่ยวกับครอบครัว อยู่กับครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตา”

ทว่าการเล่นน้ำสงกรานต์ปีนี้คงเงียบเหงา เนื่องจากผลกระทบจากเรื่องน้ำท่วมภาคใต้ที่นำความสลดมาให้ชาวเมือง

สงกรานต์ของชาวคริสต์

พิจิตรา ธรรมสถิตย์ นักวิชาการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร หญิงสาววัย 27 ปี ชาวคริสเตียนจากจังหวัดแพร่ เธอคือหนึ่งคนในหลายๆ คนที่จะกลับไปใช้เวลากับพ่อแม่พี่น้องพ้องเพื่อนที่บ้านเกิด

เธอเล่าว่า ชาวคริสต์ก็มีกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสงกรานต์เช่นกัน อาจจะไม่ใช่การตักบาตร ทำบุญ แต่คล้ายคลึงในแง่การจัดกิจกรรมร่วมกันในศาสนสถาน ถ้าชาวพุทธเข้าวัด ชาวคริสต์อย่างเธอก็เข้าโบสถ์

“เราจะมีการอธิษฐานร่วมกันให้พระเจ้าดูแลปกป้องคนในครอบครัวและผู้สูงอายุ ถ้าไปโบสถ์ ทางโบสถ์จะมีการจัดงานวันสงกรานต์ มีการรดน้ำดำหัวเป็นการแสดงความห่วงใยที่มีต่อผู้สูงอายุ แล้วทุกคนในโบสถ์ก็ช่วยกันอธิษฐานให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง โดยทั่วไปการอธิษฐานทำได้เสมออยู่แล้ว แต่ในช่วงเทศกาลก็อาจจะให้ความสำคัญกับครอบครัวและผู้สูงอายุมากขึ้นกว่าปกติ”

สงกรานต์ของชาวคริสต์ ไม่เน้นสาดน้ำ เธอว่า แต่จะเน้นการแสดงความรัก ความผูกพันของคนในครอบครัว

.........

คือกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้คนต่างกระทำแผกเพี้ยนกันไปตามรากฐานของตน แต่ที่เหมือนกันอย่างเห็นได้ชัดคือ สายใยแห่งครอบครัว

แล้วโยงใยอันละเอียดอ่อนระหว่างชีวิตของคุณ บ้าน และสงกรานต์ เป็นแบบไหน?

>>>>>>>>>>>

เรื่อง: ทีมข่าว CLICK
ภาพ: ธัชกร กิจไชยภณ





กำลังโหลดความคิดเห็น