สวนดุสิตโพล เผยคนไทยยกย่อง “สมเด็จพระเทพฯ” ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีของการรักการอ่าน อึ้งคนไทยไม่รู้ 2 เม.ย.เป็นวันรักการอ่านแห่งชาติ ชี้คนไทยไม่ค่อยอ่านหนังสือเพราะสภาพสังคม ไม่ได้รับการปลูกฝังให้มีนิสัยรักการอ่าน
ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ โดยกำหนดให้วันที่ 2 เม.ย.ของทุกปี เป็นวันรักการอ่าน และกำหนดให้ปี 2552-2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่าน เพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมการอ่านให้เกิดเป็นรูปธรรม สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต คนไทยจะได้รับการพัฒนาความสามารถในการอ่านและการรู้หนังสืออย่างต่อเนื่องและทั่วถึง สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จึงได้สอบถามความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ ทั้งสิ้น 2,304 คน ระหว่างวันที่ 28 มี.ค.ถึง 1 เม.ย. ดังนี้
ประเทศไทยควรมี “วันรักการอ่าน หรือไม่” อันดับ 1 ระบุควรมี 91.42% เพราะเป็นการกระตุ้นและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการปลูกฝังนิสัยให้คนไทยรักการอ่าน เป็นการรณรงค์ที่ดี ควรส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่านมากขึ้น อันดับ 2 ระบุไม่ควรมี เพราะวันสำคัญมีเยอะแล้ว ควรมีการส่งเสริมให้รักการอ่านเป็นประจำทุกวัน ไม่ใช่แค่วันเดียว สิ้นเปลื้องงบประมาณ ไม่ได้ช่วยให้คนไทยอ่านหนังสือมากขึ้น
ประชาชนรู้หรือไม่ว่า 2 เม.ย.เป็นวันรักการอ่าน อันดับ 1 ระบุไม่รู้ 60.98% เพราะไม่ได้สนใจหรือติดตามข่าวสาร ไม่ทราบว่าวันรักการอ่านเป็นวันใด เดือนไหน ไม่เคยได้ยินจากการประชาสัมพันธ์จากสื่อต่างๆ อันดับ 2 ระบุ รู้ 39.02% จากสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ สถานศึกษา อินเทอร์เน็ต เพื่อนและคนรอบข้าง
ทำไม คนไทยจึงไม่ค่อยรักการอ่าน อันดับแรก สภาพสังคม/สิ่งแวดล้อมรอบตัวของคนไทยในปัจจุบันมีเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น เช่น เกม อินเทอร์เน็ต การแชท 40.51% อันดับ 2 ไม่ได้รับการปลูกฝังให้มีนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เด็ก ขาดต้นแบบ แบบอย่างที่ดีในการอ่าน 26.12% อันดับ 3 คนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือเพราะอ่านแล้วรู้สึกเบื่อ ไม่สนุก ง่วงนอน จะชอบฟังหรือชอบดูมากกว่าอ่าน 20.09% อันดับ 4 คนไทยไม่เห็นถึงประโยชน์หรือความสำคัญของการอ่าน ขาดแรงกระตุ้น 7.16% อันดับ 5 หนังสือดีๆ ส่วนมากมีราคมแพง หนังสือทั่วไปมีเนื้อหาไม่น่าสนใจ รูปเล่มไม่สวยงามหรือดึงดูดให้ซื้อ 6.12%
ใครที่เป็นแบบอย่างของการรักการอ่าน โดยคนไทยยกย่อง สมเด็จพระเทพฯ ทรงเป็นแบบอย่าบงที่ดีของการรักการอ่านมากที่สุด ส่วนภาคสังคม อันดับ 1 พ่อแม่ รองลงมา ครู อาจารย์ อันดับ 3 เพื่อน คนใกล้ชิด
ส่วนนักการเมืองที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการอ่าน อันดับแรก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อันดับ 2 นายทักษิณ ชินวัตร อันดับ 3 นายชวน หลีกภัย อันดับ 4 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และสุดท้าย นายสมัคร สุนทรเวช
สำหรับนักเขียนไทยในดวงใจ อันดับ 1 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อันดับ 2 ทมยันตี อันดับ 3 ท่าน ว.วชิรเมธี อันดับ 4 ท่านพุทธทาสภิกขุ และอันดับ 5 วินทร์ เลียววารินทร์