สธ.ย้ำเตือนประชาชนให้ดูแลความอบอุ่นร่างกายอย่างเพียงพอ ในช่วงอากาศหนาวเย็น เพื่อป้องกัน 3 โรคสำคัญ คือ โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และ โรคปอดบวม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว ขอให้หลีกเลี่ยงนอนในที่ลมโกรก และหลีกเลี่ยงดื่มสุรา เพราะไม่ช่วยให้ร่างกายทนหนาวได้ และอาจทำให้เสียชีวิตได้
วันนี้ (29 มี.ค.)ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้หลายพื้นที่มีอากาศหนาวเย็น กระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยสุขภาพประชาชน เนื่องจากสภาพอากาศเช่นนี้ จะส่งผลให้เกิดโรคภัยต่างๆ แทรกซ้อนได้ง่าย โรคที่พบได้บ่อย 3 โรค ได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และโรคปอดบวม รวมถึงโรคที่เกิดจากสภาพอากาศที่แห้ง เช่น โรคผิวหนัง โดยกลุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ได้แก่ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคตับ โรคไต โรคโลหิตจาง เนื่องจากมีภูมิต้านทานต่อโรคต่ำ จะเจ็บป่วยง่าย และเมื่อป่วยแล้วจะมีอาการรุนแรงกว่าประชาชนทั่วไป
ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อว่า ในการป้องกันภัยจากอากาศหนาวเย็น ขอให้ประชาชนรักษาความอบอุ่นร่างกายอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะที่บริเวณศีรษะ และหน้าอก ขอให้สวมเสื้อผ้าหนาๆ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ซึ่งสภาพร่างกายเปลี่ยนแปลงได้ง่ายตามสภาพอากาศ ควรใส่ถุงเท้า สวมหมวกไหมพรม หากไม่มีขอให้ใสเสื้อผ้าหลายๆ ชั้น และห่มผ้าให้หนากว่าปกติ ดื่มน้ำ ดื่มเครื่องดื่มอุ่น ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มความอบอุ่นแล้ว ยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นร่างกาย ผิวหนังไม่แห้งง่ายด้วย
เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ประเภทแป้งและไขมัน เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น ซึ่งอาหารเหล่านี้จะให้พลังงานสร้างความอบอุ่นร่างกาย ประการสำคัญขอให้หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา ซึ่งนอกจากไม่ช่วยให้ร่างกายอุ่นแล้ว ยังมีผลเสียทำให้ร่างกายไม่สามารถทนต่อสภาพอากาศที่หนาวเย็น และอาจเสียชีวิตได้ นอกจากนี้หลีกเลี่ยงการนอนในที่แจ้ง หรือที่มีลมโกรก และหลีกเลี่ยงการนำเด็กเล็กไปใกล้บริเวณที่มีการก่อไฟผิง เนื่องจากควันไฟจะระคายเคืองเยื่อบุทางเดินหายใจของเด็กได้
ดร.พรรณสิริ กล่าวต่ออีกว่า หากประชาชนมีอาการไข้หวัด คือ เป็นไข้ ไอ มีเสมหะ ขอให้นอนพักผ่อนที่บ้าน อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ขอให้ไปพบแพทย์ เพื่อให้การดูแลรักษา ลดปัญหาโรคแทรกซ้อนที่อันตรายที่สุด คือ โรคปอดบวม อาจทำให้เสียชีวิตได้