ปลัด สธ.ให้กองแบบแผน ประเมินโครงสร้างอาคารบริการโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยง 10 จังหวัด เช่น เชียงราย เชียงใหม่ กาญจนบุรี ตาก และวางแผนปรับปรุงอาคารให้คงทนแข็งแรง เพื่อความมั่นใจผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ เผยข้อมูลผู้บาดเจ็บจากแผ่นดินไหวที่พม่า ล่าสุด เวลา 11.30 น.พบเจ็บทั้งหมด 16 ราย เป็นคนไทย 4 ราย ต่างชาติ 12 ราย โดยนอนโรงพยาบาล 7 ราย เป็นคนจีน 3 ราย และพม่า 4 ราย
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้กองแบบแผนประเมินโครงสร้างอาคารบริการของโรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน น่าน พะเยา แพร่ ตาก และกาญจนบุรี เพื่อสร้างความมั่นใจผู้ป่วย และความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ และวางแผนปรับปรุงให้มีอาคารมีความคงทนต่อผลกระทบจากแผ่นดินไหว รวมทั้งให้กองวิศวกรรมการแพทย์ ดูแลระบบความปลอดภัยในโรงพยาบาล เช่น ทางหนีไฟ อุปกรณ์ดับเพลิง ระบบไฟฟ้าสำรอง ระบบสื่อสาร การติดตั้งอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ให้แข็งแรง และจัดทำแนวทางปฏิบัติให้สถานพยาบาลสำหรับใช้ในกรณีแผ่นดินไหวโดยเฉพาะ
ด้านนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหากรณีภัยพิบัติญี่ปุ่น ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ว่า เบื้องต้นได้รับรายงานจากจังหวัดเชียงราย ว่า ผลการตรวจสอบอาคารโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ของโยธาธิการจังหวัด ร่วมกับวิศวกรจากกองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พบว่าได้รับความเสียหายเล็กน้อย ไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้าง สามารถใช้การได้ ขอให้ผู้ป่วยและประชาชนสบายใจ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะทำการตรวจสอบสถานบริการอื่นๆ เพิ่มเติมอีก
สำหรับผู้บาดเจ็บ ล่าสุด เมื่อเวลา 11.30 น.มีผู้บาดเจ็บทยอยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรวมทั้งหมด 16 ราย เป็นคนไทย 4 ราย พม่า 7 ราย และจีน 5 ราย โดยเข้ารักษาที่โรงพยาบาลแม่สาย 10 ราย ในจำนวนนี้ ส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ 4 ราย เป็นชาวพม่าถูกหินและบ้านถล่มทับ ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ 1 ราย ขาซ้ายหัก 1 ราย กระดูกเชิงกรานแตก 1 ราย และมือขวาหัก 1 ราย ส่วนที่เหลือ 6 รายบาดเจ็บเล็กน้อยแพทย์ให้กลับบ้านได้ และที่โรงพยาบาลเชียงแสน 6 ราย เป็นชาวจีน ข้ามมาจากฝั่งลาว 5 ราย ในจำนวนนี้ 3 ราย กระดูกสันหลังหักส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลเอกชนศรีบุรินทร์
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า วานนี้ (24 มี.ค.) ทีมจิตแพทย์ไทยลงพื้นที่ดูแลคนไทยที่จังหวัดยามานาชิ ประมาณ 50 คน ได้ให้คำปรึกษาเพื่อลดความวิตกกังวล และรักษาอาการเจ็บป่วยทั่วๆ ไป สำหรับผลการเฝ้าระวังผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีจากญี่ปุ่น ยังไม่พบสิ่งผิดปกติ ทั้งในสิ่งแวดล้อมอาหารนำเข้า และที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีคนไทยที่เดินทางกลับจากญี่ปุ่น มาขอรับคำปรึกษาที่จุดบริการผู้โดยสารขาเข้า 51 ราย ไม่พบอาการผิดปกติ ส่วนคนไทยที่เดินทางไปญี่ปุ่นมาขอรับคำปรึกษา 18 ราย ไม่มีรายใดเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงตามที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศ