สมาคมข้าราชการฯ จวก นโยบายคลัง ออกกฎเหล็ก ห้ามเบิกยานอกบัญชีหลัก ผิดระเบียบการจ้างข้าราชการ ยันไม่ฟ้อง แต่จ้างบริษัทเก็บข้อมูล ขรก.ได้รับผลกระทบ ส่ง “มาร์ค-กร” สัปดาห์นี้ เพื่อพิจารณาใหม่
วันนี้ (23 มี.ค.) ที่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นายจาตุร อภิชาตบุตร นายกสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย และ พลตรีหญิงพูลศรี เปาวรัตน์ กรรมการบริหารสมาคมข้าราชการอาวุโสแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง “ความเดือดร้อนของข้าราชการไทยจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านสวัสดิการรักษาพยาบาล” โดย นายจาตุรกล่าวว่า สืบเนื่องมาจากนโยบายของกระทรวงการคลัง ได้ออกหนังสือสั่ง 9 โรค ที่เป็นยานอกบัญชีหลักไม่ให้เบิก
โดยอ้างว่าค่ารักษาพยาบาลที่ข้าราชการเบิก 6.3 หมื่นล้านบาท แต่แนวคิดลดค่าใช้จ่ายลักษณะนี้ไม่ใช่แนวทางลดค่าใช้จ่ายแนวทางเดียว ยังมีแนวทางอื่นๆ อีก ดังนั้น 2 สมาคมได้หารือกัน ว่า เนื่องจากสภาพการจ้างข้าราชการ ว่า มีเงินเดือน มีค่ารักษาพยาบาลตัวเอง ลูก และพ่อแม่ ถ้าเกษียณจะมีเงินบำนาญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเงินเงื่อนไขที่เรารู้มาตลอด อย่างไรก็ดี เมื่อมีการเจ็บป่วยซึ่งเคยเบิกได้มาเบิกไม่ได้ ทำให้เดือดร้อน
“เพื่อให้รัฐบาลเกิดความเชื่อถือ ข้อมูลว่าเกิดความเดือดร้อน จึงให้บริษัทที่ทำงานด้านข้อมูลไปสำรวจข้าราชการที่เป็นสมาชิกสมาคม 5,000 ราย และอีกกลุ่มเป็นข้าราชการใหม่ 100 คน ซึ่งได้ข้อมูลกลับมา 10% โดยบริษัทที่สำรวจยืนยันว่าเป็นจำนวนที่มากพอ วิเคราะห์ได้ นอกจากนี้ ยังได้มีการทำโฟกัสกรุ๊ป” นายจาตุร กล่าว
นายจาตุร ระบุผลสำรวจว่า 95% ใช้สิทธิรักษาอยู่ มีเพียง 6% ไม่เคยใช้สิทธินี้เลย ส่วนใหญ่ 87% เมื่อเจ็บป่วยจะไปรักษาโรงพยาบาลของรัฐมากกว่าโรงพยาบาลเอกชน มี 13% ใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน และประเด็นสำคัญส่วนใหญ่ข้าราชการไม่เคยรับรู้ว่าจะมาการเปลี่ยนแปลงการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะการห้ามแพทย์สั่งยานอกบัญชีหลัก
นอกจากนี้ ยังมีความคิดเห็นที่ได้จากแบบสอบถามและโฟกัสกรุ๊ป มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของข้าราชการ โดยข้าราชการเกษียณ จะเข้ารักษาพยาบาล ส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคประจำตัว คือ กระดูก ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงยาและวิธีการให้ยา ยกตัวอย่าง หมอจ่ายยา 6 เดือน กระทรวงการคลัง บอกว่า มากไป ให้หมอจ่ายแค่ 2 เดือน ข้าราชการ แจ้งว่าเขาได้รับผลกระทบมาก อายุมากไปโรงพยาบาลคนเดียวไม่ได้ ต้องให้ลูกหลานพาไป ลูกหลานต้องลางาน และต้องจ่ายค่าแท็กซี่ไปกลับ 6 ครั้งต่อปี ซึ่งต้องจ่ายเอง
ส่วนข้าราชการที่ต้องรักษาตัวประจำ กับ ข้าราชการใหม่ จะมีความเห็นแตกต่างกัน ตรงที่ ข้าราชการเกษียณหรือมีโรคประจำตัว จะบอกว่าสิ่งที่เขาต้องการตลอด คือ สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล เมื่อเจ็บป่วยจะได้รับการรักษาอย่างดี ขณะที่ข้าราชการใหม่ จะมุ่งหวังความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน นำความรู้มาใช้ประโยชน์ และหากเขารักษาสุขภาพดี รัฐน่าจะส่งเสริมให้ข้าราชการมีสุขภาพแข็งแรง อย่างออกกำลังกายป้องกันโรค มีหลักสูตรที่รัฐรับรองจะขอเบิกจากรัฐได้มั้ย หรือตลอดชีวิตข้าราชการบางคนไม่เคยเบิกเลยจนเกษียณ แต่มีบางคนเบิกเป็นล้านบาท ตรงนี้น่าจะมีรางวัล
“ผมมองว่า การลดค่าใช้จ่ายโดยไม่บอกล่วงหน้า เป็นการผิดสัญญา แต่เราไม่อยากคุยเรื่องกฎหมาย ซึ่ง รมว.คลัง บอกว่าจะกลับไปดูเรื่องนี้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้รัฐบาลแก้ไขให้ส่วนหนึ่งแล้ว ชะลอคำสั่งดังกล่าว ถ้าหากไม่มีการแก้ไข จะเกิดความไม่เชื่อถือเกิดขึ้น ไม่เชื่อถือหมอ ข้าราชการป่วยจะไปหาหมอ หมอสั่งให้กินยา ถ้าบอกว่ายาเกินความจำเป็น เป็นยาบำรุง จะโทษข้าราชการไม่ได้ต้องโทษหมอ ดังนั้นจะต้องให้เครดิตความเชื่อมั่นใจจรรยาบรรณแพทย์ตลอดเวลา” นายจาตุร กล่าว
นายจาตุร กล่าวต่อว่า ขณะนี้บ้านเรามีระบบการรักษาอยู่ 3 ระบบ ประกันสุขภาพ ประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ อย่างไรก็ตาม หากมีการเปรียบเทียบแต่ละระบบว่ามีความเหลื่อมล้ำคงไม่ได้ เพราะแต่ระบบนั้นเกิดขึ้นมาตามสภาพการจ้าง อย่างข้าราชการ เงินเดือนจะน้อยกว่าเอกชน แต่มีสิ่งแลกเปลี่ยนจากข้าราชการโดยนำความรู้ความสามารถมาพัฒนาสาธารณะ ประเทศ
“เงินเดือนข้าราชการต่ำกว่าเอกชน แต่มีข้อสัญญาว่า หากเจ็บป่วยจะได้รับสวัสดิการด้านการรักษาทั้งครอบครัว จุดดีตรงนี้ คือ ข้าราชการเพิ่งเข้าใหม่ ซึ่งมีเงินเดือนน้อยไม่ต้องห่วงหากพ่อแม่ป่วยเพราะเบิกได้” นายจาตุร กล่าวต่อว่า ข้อมูลที่บริษัทไปสำรวจมานั้น ถือว่าครบถ้วนตรงประเด็น ตนจะนำข้อมูลเหล่านี้ส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรัฐบาลนำไปพิจารณาต่อไปภายในสัปดาห์นี้
พลตรีหญิง พูลศรี เปาวรัตน์ กรรมการบริหารสมาคมข้าราชการอาวุโสแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กระทรวงการคลัง ตัดสินใจออกคำสั่งให้แพทย์ งดสั่งยานอกบัญชี เพื่อสนองนโยบายรัฐ โดยผู้ที่ได้รับสิทธิไม่ได้ทราบล่วงหน้า จึงเกิดความเดือดร้อนทั่วหน้า จึงขอให้รัฐบาลยกเลิกประกาศนี้ จริงๆ แล้วมีกฎระเบียบการรักษาพยาบาล เว้นกิจการเสริมสวย รัฐจะจ่ายให้
“ความต้องการของพวกเรา ไม่ใช่สิทธิมากกว่าคนอื่น แต่ต้องการได้ยาตามการวินิจฉัยของแพทย์ ยาถูกกับโรค ไม่ใช่ดูที่ราคายา ถ้าสั่งยาแล้วไม่ถูกกับโรค การรักษาอาจจะช้า คนไข้อาจพิการ ฟื้นฟูก็ลำบาก หากเป็นเช่นนี้จะสิ้นเปลื้องงบประมาณมากกว่ารักษาด้วยยาที่ดีแล้วหาย” พลตรีหญิงพูลศรี กล่าวต่อว่า งบประมาณในการรักษาประชาชนของประเทศไทย ต่ำกว่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลก ซึ่งกำหนดว่า 5-10% ของ GDP แต่ประเทศที่เจริญแล้วอยู่ที่ 10-15% สำหรับแค่ 3.4% เท่านั้น ถ้าเปรียบเทียบงบประมาณนี้กับส่วนอื่นๆ ที่รัฐต้องจ่าย จึงขอความเห็นให้รัฐบาลพิจารณาให้ถี่ถ้วนและขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามระบบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า นโยบายของรัฐผิดสัญญาการจ้าง นายจาตุร ตอบว่า “ใช่” แต่เพิ่งทราบว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กับ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ให้ทบทวนเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ตนไม่ต้องการให้ข้าราชการตื่นตะหนก ส่วนเหตุผลที่ไม่ร้อง ซึ่งจะเป็นการต่อสู้ด้านกฎหมาย ตนมองว่า ไม่มีประโยชน์ ที่เรียกร้องตอนนี้เนื่องจากคนที่เจ็บป่วยถูกตัดทันที ต้องซื้อยาเอง