“ธีระชน” เตรียมเสนอโยกย้ายล๊อตใหม่เทศกิจอยู่ในพื้นที่เกิน 2 ปี ทั้ง 50 เขต หลังโยกมาแล้วล็อตแรก 1,900 ราย พร้อมนำคดีส่วยเทศกิจเข้าสู่ที่ประชุมปราบทุจริต กทม.เล็งให้จ่ายค่าธรรมเนียมรักษาความสะอาดผ่านตู้เอทีเอ็ม-Pay Point กันทุจริตเรียกเก็บเงินเกิน
วันนี้ (23 มี.ค.) นาย ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงข่าวถึงกรณีที่ นายทวิชภณ บุญมายน หัวหน้าฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตบางรัก ได้เข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อกองบัญชาการสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในเรื่องที่มีเจ้าหน้าที่เทศกิจ เขตบางรัก ปลอมใบเสร็จเรียกเก็บเงินจากผู้ค้าในเขตบางรัก ว่า ได้มีการนำกรณีดังกล่าวบรรจุเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนการทุจริตและประพฤติมิชอบในการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (สสท.กทม.) ซึ่งมี พล.ต.อ.วศิษฐ์ เดชกุญชร เป็นประธาน โดยเป็นวาระเร่งด่วนในวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม เวลา 09.30 น.เพื่อที่จะกำหนดเป็นมาตรการและแนวทางอื่นๆเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้องค์กร กทม.ได้รับความเสียหายไปมากกว่านี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2553 ได้มีการร้องเรียนหัวหน้าฝ่ายเทศกิจ เขตบางรัก และสมคบกับ นายป๊อก ซึ่งเป็นผู้เก็บเงินจากผู้ค้ามายัง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งทาง กทม.โดยรองปลัด กทม.ทวีศักดิ์ เดชเดโช ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งตนเองได้มีการเรียกหัวหน้าเทศกิจรายนี้เข้ามาพบ แต่ไม่ได้มีการนำใบเสร็จรับเงินปลอมอันเป็นหลักฐานที่นำไปแสดงต่อกองบัญชาการสอบสวนกลางแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม นายสุรเกียรติ ลิ้มเจริญ ผู้อำนวยการเขตบางรัก ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องใบเสร็จปลอม เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลบางรัก ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 2 เมษายนนี้ ส่วนคณะกรรมการที่รองปลัด กทม.แต่งตั้งขึ้นจะได้มีการติดตามผลการตรวจสอบต่อไป ขณะเดียวกัน ก็ได้สั่งให้มีการตรวจสอบการปลอมแปลงใบเสร็จอีก 49 เขต ซึ่งไม่มีรายงานแจ้งพบแต่อย่างใด
นายธีระชน กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ หลังจากที่ กทม.ดำเนินการภายใต้โครงการประชาวิวัฒน์ในการอนุมัติจุดผ่อนผันให้กับหาบเร่แผงลอยโดยกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เรียบร้อยแล้วจะทำให้ กทม.มีแผงค้าประมาณ 4,000 แผง และเพื่อเป็นการป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์ ป้องกันใบเสร็จปลอม และจะไม่มีมีการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาค่าปรับจะให้มีการชำระค่าธรรมเนียมการรักษาความสะอาดตารางเมตรละ 300 บาท ซึ่งแผงค้าส่วนใหญ่จะมีขนาด 2 ตารางเมตร ก็จะเท่ากับว่า ผู้ค้าจะต้องชำระค่าธรรมเนียมรักษาความสะอาดคนละ 900 บาทต่อเดือน โดยจะส่งผลให้กทม.สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ได้ประมาณ 500 ล้านบาทต่อเดือน ทั้งนี้ การชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะให้ชำระผ่านตู้เอทีเอ็ม การชำระผ่าน Pay Point เหมือนการชำระภาษีค่าบริการต่างๆ และออกใบเสร็จรับเงินเป็น E- document และหากยังพบว่ามีผู้ค้านอกจุดผ่อนผัน หลังจากที่ บช.น.อนุมัติเรียบร้อยแล้ว กทม.จะจับปรับในอัตราโทษสูงสุด 2,000 บาทต่อวัน
นายธีระชน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กทม.เตรียมที่จะโยกย้ายเทศกิจที่อยู่ในพื้นที่นานเกิน 2 ปี เพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตในหน้าที่โดยก่อนหน้านี้ได้มีการโยกย้ายมาแล้ว 1,900 ราย ตามที่ตนได้เสนอเป็นนโยบายไป