xs
xsm
sm
md
lg

สกศ.ไฟเขียวร่างเกณฑ์ตรวจสอบประสิทธิภาพใช้งบ สพฐ.-เขตพื้นที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สกศ.ไฟเขียวร่างหลักเกณฑ์ ตรวจสอบ ประเมินประสิทธิภาพ การใช้จ่ายงบ สพฐ.-เขตพื้นที่ ยันแค่ติดตามความคุ้มค่า ไม่ได้จับผิดการใช้งบฯ เน้นดูภาพรวมผลสัมฤทธิ์ ทางการศึกษา พร้อมมอบฝ่ายกฎหมายปรับคำนิยามให้ชัด ก่อนเสนอ “ชินวรณ์” ชง ครม.พิจารณา

ศ.(พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยผลการประชุม สกศ.เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการในการตรวจสอบติดตาม และการประเมินประสิทธิภาพประสิทธิผลการใช้จ่ายงบประมาณการจัดการศึกษาของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ.... โดยร่างดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะติดตามว่าการใช้งบในการจัดการศึกษาทั้งระบบว่าคุ้มค่าหรือไม่ จะไม่ใช่การเข้าไปติดตามตรวจสอบว่าสถานศึกษาแต่ละแห่งใช้จ่ายงบถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากเรื่องเหล่านี้มีหน่วยงานที่จะเข้าไปตรวจสอบอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นจะเน้นดูภาพรวมผลสัมฤทธิ์ความสำเร็จทางการศึกษาในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพราะผู้เรียนในระบบการศึกษามากกว่าร้อยละ 80 เรียนอยู่ในสถานศึกษาสังกัด สพฐ.แต่หลังจากนั้นจะมีการติดตามสถานศึกษาในสังกัดอื่นต่อไป

ที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตว่า ควรมีการนิยามคำว่าประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้มีความชัดเจน ว่า มีความหมายอย่างไร และประกอบด้วยอะไรบ้าง เพราะอาจจะเข้าใจสับสนกันได้ ขณะเดียวกัน ควรลดการประเมินที่จะต้องใช้เอกสาร เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนและเป็นภาระกับครู ทั้งนี้ ข้อสังเกตต่างๆ คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายการศึกษา ซึ่งมี ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ เป็นประธาน จะนำไปปรับปรุง จากนั้นจะเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาต่อไป” เลขาธิการ สกศ.กล่าว

ศ.(พิเศษ) ธงทอง กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 (พ.ศ.2552-2561) ของคณะกรรมการนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 (กนป.) ซึ่งมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยขณะนี้ได้มีการกำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และงบประมาณในการดำเนินจนถึงปี 2561 แล้ว ดังนั้น หลังจากนี้บทบาทการสานต่อจะพลิกกลับมาเดินกลไกที่ สกศ.มากขึ้น ส่วน กนป.จะปรับบทบาทเป็นคณะกรรมการติดตาม ดูแล และแก้ไขปัญหาในระดับนโยบาย
กำลังโหลดความคิดเห็น