“ศ.นพ.ประเวศ” อัดทุนนิยมหายนะ โฆษณาชวนไปในทางเสื่อม ผู้ประกอบการแสวงหากำไรสูงสุด ไม่สนใจศีลธรรมก่อให้เกิดหายนะกระทบผู้บริโภคทั้งทางตรงและทางอ้อม นำไปสู่ความรุนแรง ความขัดแย้ง ความตาย ก่อความทุกข์ไปทั่วโลก ทำลายสังคม สิ่งแวดล้อม นำไปสู่โลกร้อน ผ่านการส่งเสริมการบริโภคเกินเลย ปลุกประชาชนกระตุ้นเตือนนักการเมืองให้ลุกมาคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค
วันนี้ (14 มี.ค.) ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “สานพลัง สามพลัง เพื่อผู้บริโภคไทย” จัดการประชุมวิชาการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ 2 เนื่องในโอกาสวันสิทธิผู้บริโภคสากล ว่า การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นศีลธรรมที่มนุษย์พึงมีต่อกัน การทำร้ายผู้บริโภคเป้นการกระทำที่ผิดศีลธรรม แต่พบว่า สังคมปัจจุบันเป็นสังคมแสวงหากำไร ผู้บริโภคในปัจจุบันถูกทำร้ายจากทุกทิศทาง ทั้งในด้านอาหาร ยา สินค้าบริการ และสภาพสิ่งแวดล้อม ประชาชน ได้รับผลกระทบทางลบและไม่มีความปลอดภัยมากมายจากสินค้าด้อยคุณภาพ อันตราย คิดราคาแพงเกินไป มีการใช้ยาฆ่าแมลง แร่ใยหิน สารหนู สารแคดเมี่ยม และสารตะกั่ว แผ่นดินของเราเป็นแผ่นดินอาบยาพิษ ใช้ยา และสารพิษมากมาย ชีวิตของผู้บริโภคล้วนอยู่ล้อมรอบพิษภัยต่างๆ ที่สำคัญ การโฆษณาทำให้เกิดความเสื่อม ขาดการวิเคราะห์ ผู้ประกอบการแสวงหากำไรสูงสุด ไม่สนใจศีลธรรมเช่น การโฆษณาให้เด็กกินหวาน ดึงเงินไปจากพ่อแม่เด็ก 170,000 ล้านบาท แต่ทิ้งปัญญาสุขภาพไว้กับเด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติมากมาย ทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน จะเห็นได้ว่า ระบบทุนนิยมก่อให้เกิดหายนะกระทบผู้บริโภคทั้งทางตรงและทางอ้อม นำไปสู่ความรุนแรง ความขัดแย้ง ความตาย ก่อความทุกข์ไปทั่วโลก ทำลายสังคม สิ่งแวดล้อม นำไปสู่โลกร้อน ผ่านการส่งเสริมการบริโภคเกินเลย เกิดภัยพิบัติไปทั่วโลก เช่น พายุ น้ำท่วมฉับพลัน ภาวะแห้งแล้ง ไฟไหม้ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิดจะเกิดมากขึ้น นำไปสู่การขาดแคลนอาหาร เพราะพื้นที่การผลิตมีน้อยลง เกิดโรคระบาด การจลาจลและสงคราม ดังนั้น ประชาชนต้องขับเคลื่อนด้วยการติดอาวุธทางปัญญาจากภาควิชาการ ผลักดันให้นักการเมืองทำงานเพื่อประชาชน
“เพราะนักการเมืองจะทำเรื่องดีๆ ไม่ได้ ถ้าไม่มีประชาชนคอยขับเคลื่อน เพราะโดยปกติ อำนาจรัฐจะเข้าข้างคนมีเงิน ไม่เคยเข้าข้างคนที่เสียเปรียบ อย่างเรื่องร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งควรมีกองทุนเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคขนาดใหญ่พอที่จะส่งเสริมการทำระบบคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ แต่เท่าที่ทราบมาก็ถูกตัดงบประมาณ นักการเมืองเป็นผู้แทนราษฎร ราษฎรเลือกเข้าไปให้ไปทำงาน แต่เข้าไปหาประโยชน์เป็นพันล้าน หมื่นล้านแ แสนล้าน แต่พอเป็นเงินคุ้มครองผู้บริโภคของบประมาณไม่น้อยกว่า 5 บาทต่อหัวประชากร ก็จะมาขอตัดเหลือ 3 บาทต่อหัวประชากร ทั้งที่ต้องทำงานจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน นี่ก็จะมาตัดเขา ฉะนั้น ลำพังการเมืองนั้นไม่เคยทำสิ่งที่ดีๆได้ จำเป็นต้องอาศัยพลังประชาชนที่ตื่นตัวและติดอาวุธด้วยปัญญาและใช้สันติวิธีรุกคืบเข้าไป ผมเชื่อว่า อำนาจจะเคลื่อนที่จากพลานุภาพ ซึ่งคืออานาจรัฐ-การใช้กำลัง ไปสู่ธนานุภาพซึ่งหมายถึงอำนาจทางการเงิน ไปสู่สังคมานุภาพ คือพลังทางสังคมในที่สุด”
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า การจะสร้างกลไกในการคุ้มครองผู้บริโภคจากสังคมแห่งการแสวงหากำไร เปลี่ยนเป็นสังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน ต้องเร่งสร้าง "พลังทางปัญญา พลังทางสังคม และพลังศีลธรรม" รวมเป็นพลังในการขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคได้ดังนี้ 1.สร้างชุมชนเข้มแข็งทุกๆ ด้าน เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืน 2.ระบบสุขภาพชุมชน ที่จะดูแลคนในชุมชน เช่น อสม.หมออนามัย เป็นต้น เผยแพร่ให้ความรู้การจัดอบรมนักสุขภาพครอบครัวที่คอยให้ข้อมูลการบริโภคที่ ปลอดภัย 3.สร้างตลาดขายตรงให้มากที่สุด ไม่ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อส่งเสริมการบริโภคเกินเลย มีตลาดขายตรงผู้บริโภคซื้อจากผู้ขายโดยตรง รับผิดชอบ มีความเอื้ออาทรต่อกัน ผลิตสินค้าปลดสารพิษ เพื่อสุขภาพของผู้บริโภค ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่รวมตัวจัดตั้งบริษัทที่ทำเพื่อสังคม เชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค พลังแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนอยู่ที่พลังของผู้บริโภค 4.คนถูกยัดเยียดให้ข้อมูลข่าวสาร ควรส่งเสริมหลักสูตรวิเคราะห์ข่าวสารการโฆษณา คุ้มครองผู้บริโภคในทุกชั้นเรียน ควรมีความสามารถว่าข่าวสารอะไรเชื่อถือได้หรือไม่ ฝึกวิจารณญาณไม่ให้ถูกล้างสมอง ควรส่งเสริมให้เรียนรู้จากปฏิบัติจริง
5.สื่อสร้างสรรค์ คณะนิเทศ/วารสาร ควรรวมตัวกันทำระบบเฝ้าระวังสื่อ เป็นการโน้มน้าวให้สื่อเป็นสื่อสร้างสรรค์มากขึ้น มิฉะนั้นคนที่จบสาขาเหล่านี้ก็จะเข้าสู่วงจรปลุกระดมให้บริโภคที่ไม่สมควร องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคควรส่งเสริมระบบเฝ้าระวังสื่อ 6.การวิจัยเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เป็นกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภค 7.เวทีพัฒนานโยบายเพื่อผู้บริโภค ภาครัฐส่วนใหญ่ไม่เข้าข้างผู้เสียเปรียบ จำเป็นต้องใช้ 3 พลัง คือ พลังภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมมาเชื่อมโยงและมีเวทีในการพัฒนาเพื่อผู้บริโภค 8.ส่งเสริมธุรกิจไทยหัวใจมนุษย์ ที่มีความรับผิดชอบ ปฏิรูปความเป็นมนุษย์ ไม่ได้มุ่งแสวงผลกำไรเพียงอย่างเดียว และ 9.กองทุนเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค พลังที่จะขับเคลื่อน ควรมีกองทุนขนาดใหญ่ที่ส่งเสริมการทำระบบคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย รวม 11 องค์กร จัดการประชุมวิชาการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ 2 เนื่องในโอกาสวันสิทธิผู้บริโภคสากล วันที่ 15 มีนาคมของทุกปี (World Consumer Right Day) ในหัวข้อ “สานพลัง สามพลัง เพื่อผู้บริโภค” ระหว่างวันที่ 14-15 มี.ค. ซึ่งได้รับร่วมมือ 3 พลังหลัก อันประกอบด้วย ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ระดมเครือข่ายกว่า 800 คน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนา วิชาการด้านการคุ้มครองผู้บริโภค นำไปสู่จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและร่วมกำหนดทิศทางในการพัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภคทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ