กทม.จับมือมูลนิธิเพื่อนเยาวชนฯ และเครือข่าย ระดมสมองสร้างแนวทางลดนักดื่มแอลกอฮอล์และป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ในสังคม กระตุ้นเตือน และปลุกจิตสำนึกผู้ปกครอง บุคลากรในสถานศึกษาต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กและเยาวชน หลังสถิติชี้ร้อยละ 54.3 เคยเห็นเพื่อนนักเรียนด้วยกันดื่มแอลกอฮอล์ ขณะที่ 44.1 เคยเห็นครู อาจารย์ดื่มแอลกอฮอล์
วันนี้ (14 มี.ค.) พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดกิจกรรมสัมมนาเวทีสาธารณะ “มาตรการโรงเรียนปลอดเหล้า จุดเริ่มต้นป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ แนวทาง ปัญหา และอุปสรรค” ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการ กทม.ซึ่ง กทม.โดยสำนักการศึกษา และสำนักอนามัย ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) จัดขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็น และหาแนวทางในการลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ และป้องกันนักดื่มหน้าใหม่
พญ.มาลินี กล่าวว่า เยาวชนถือเป็นกำลังของชาติที่จะต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต สถาบันครอบครัว และสถาบันการศึกษา เป็นสถาบันพื้นฐานที่มีความสำคัญและใกล้ชิดกับเยาวชน ดังนั้นผู้ปกครอง ครู อาจารย์ ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลเสียที่ตามมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้งการบังคับใช้กฎหมายต้องเป็นไปอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การดำเนินงานในการลดจำนวนนักดื่มแอลกอฮอล์และป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ในสังคมที่นับวันจะมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ได้ผลและมีประสิทธิภาพอย่างจริงจัง เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งเสพติดชนิดอื่นได้ รวมถึงส่งผลให้เกิดการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และอาจก่อให้เกิดอาชญากรรมตามมาได้ กรุงเทพมหานคร มุ่งมั่นในการจัดกิจกรรมสนับสนุน และพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการจำนวนลดนักดื่มแอลกอฮอล์ และป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ในสังคมให้มากที่สุด โดยเฉพาะโรงเรียนในสังกัด กทม.เพื่อร่วมสร้างสังคมปลอดแอลกอฮอล์ต่อไป
ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อนเยาวชน และเครือข่ายเยาวชนฯ ได้สำรวจทัศนคติเกี่ยวกับ “การรับรู้ของเยาวชนต่อพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในสถานศึกษา” กับนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ในกลุ่มอายุ 7-18 ปี จำนวน 1,000 ราย พบว่า บุคลากรในสถานศึกษา อาทิ ครู เพื่อนนักเรียน นักการภารโรง รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ในสถานศึกษา และร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใกล้สถานศึกษามีส่วนชี้นำให้เด็กและเยาวชนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งร้อยละ 54.3 เคยเห็นเพื่อนนักเรียนดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 44.1 เคยเห็นครู อาจารย์ดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 33.9 เคยเห็นภารโรงดื่มแอลกอฮอล์ และร้อยละ 28.4 เคยเห็นเพื่อนเป็นพนักงานเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ เยาวชนร้อยละ 62 พบเห็นการดื่มแอลกอฮอล์ในกิจกรรมปีใหม่ที่สถาบันจัดขึ้น ร้อยละ 52.3 พบเห็นในกิจกรรมเลี้ยงส่ง เลี้ยงรุ่น เลี้ยงต้อนรับ ร้อยละ 30.1 พบในกิจกรรมกีฬาสีโรงเรียน ที่เหลือพบในกิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือและวันสำคัญที่โรงเรียนจัดขึ้น