xs
xsm
sm
md
lg

“ชินวรณ์” วาง 7 เกณฑ์เด็กเงื่อนไขพิเศษ สั่ง สพฐ.แจง ร.ร.ให้ชัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศธ.
“ชินวรณ์” วาง 7 เกณฑ์เด็กเงื่อนไขพิเศษ แจงชัด ต้องเป็นนักเรียนที่มีข้อตกลงในการจัดตั้งโรงเรียน ผู้ยากไร้ ด้อยโอกาส ลูกผู้เสียสละเพื่อชาติ ลูกครูและบุคลากรโรงเรียน ลูกผู้ทำคุณประโยชน์แก่โรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ฉีกกรอบแนวคิดอุดช่องโหว่เรียกรับเงิน ยันต้องประกาศชื่อชัดเจนก่อนการรับ ด้าน คกก.ติดตามฯ เตรียมจัดทีมเดินสายสังเกตการณ์ทุกกระบวนการรับนักเรียน

วันนี้ (11 มี.ค.) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการรับนักเรียนของสถานศึกษาปีการศึกษา 2554 ที่มี รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนในกรณีการรับนักเรียนในเงื่อนไขพิเศษ โดยต้องเป็นนักเรียนที่มีคุณลักษณะดังนี้ 1.เป็นนักเรียนที่ได้คะแนนสอบเท่ากันในลำดับสุดท้าย 2.เป็นนักเรียนที่มีข้อตกลงในการจัดตั้งโรงเรียน 3.เป็นนักเรียนที่เป็นผู้ยากไร้และด้อยโอกาส 4.เป็นนักเรียนที่เป็นบุตรผู้เสียสละเพื่อชาติหรือผู้ประสบภัยพิบัติที่ต้องได้รับการสงเคราะห์เป็นพิเศษ 5.เป็นนักเรียนโควตาตามข้อตกลงของโรงเรียนคู่สหกิจ หรือคู่พัฒนา หรือโรงเรียนเครือข่าย 6.เป็นนักเรียนที่เป็นบุตรข้าราชการครูหรือบุคลากรของโรงเรียน และ 7.เป็นนักเรียนที่เป็นบุตรของผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การรับนักเรียนในเงื่อนไขพิเศษนั้นจะต้องเป็นไปตามหลักการ 3 ข้อ ดังนี้ คือ 1. ต้องไม่มีการรับฝาก และไม่เรียกรับเงินหรือผลประโยชน์อื่นใด 2.บุคคลหรือองค์กรที่เสนอชื่อนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษ ต้องมีความเกี่ยวพันโดยตรงกับนักเรียน และ 3.ไม่ให้มีการแบ่งโควตาไปรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษ

“เงื่อนไขพิเศษนี้จะไม่อยู่ภายใต้กรอบความคิดเก่าที่แบ่งไป เพื่อให้มีการรับฝากและเรียกรับเงิน แต่เป็นเพียงเงื่อนไขเพื่อต้องการจะยืนยันว่าบุคคลที่เป็นผู้มีอุปการคุณ ผู้จัดตั้ง ผู้มอบที่ดินให้แก่โรงเรียน หรือผู้ที่มีคุณประโยชน์ให้แก่ทางโรงเรียน เราก็ไม่ปฏิเสธที่จะต้องได้รับการดูแลจากทางโรงเรียน แต่จะต้องมีการประกาศชื่ออย่างชัดเจนในจำนวนเหล่านี้ ซึ่งที่ประชุมจะได้มอบหมายให้ สพฐ.ได้ทำบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้มอบให้คณะกรรมการฯ ช่วยกันสร้างความเข้าใจให้เห็นว่าการรับนักเรียนปีนี้ขอให้ผู้ปกครองได้ตัดสินใจในการเลือกเส้นทางให้กับลูกที่ถูกต้อง ได้เรียนตามความสามารถ” รมว.ศธ.กล่าว

รศ.ดร.สุขุม กล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 12-16 มี.ค.นี้ ซึ่งเป็นช่วงการรับสมัครนักเรียนนั้นคณะกรรมการติดตามฯ จะเดินสายตรวจสอบ สังเกตการณ์การรับสมัครพร้อมทั้งสอบถามความคิดเห็นของผู้ปกครอง และจะมีการประชุมสรุปผลหลังวันที่ 16 มี.ค.รวมถึงตรวจเยี่ยมในวันสอบคัดเลือก 19 มี.ค.และวันที่ 27 มี.ค.ซึ่งเป็นวันจับสลากคณะกรรมการติดตามฯ ก็จะร่วมกับผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และคณะกรรมการสถานศึกษา สังเกตการณ์ในวันดังกล่าวด้วย จากนั้นเมื่อมีการรับนักเรียนแล้วเสร็จสถานศึกษาที่มีการอัตราการแข่งขันสูง 369 แห่ง จะต้องส่งรายชื่อนักเรียนทั้งในประเภทสอบคัดเลือก และเงื่อนไขพิเศษมายัง สพฐ.เพื่อส่งต่อให้คณะกรรมการติดตามฯ ตรวจสอบความถูกต้อง จากนั้นเมื่อมีการรายงานตัวแล้วก็จะมีการจัดส่งรายชื่อกลับมาให้ตรวจสอบอีกครั้ง เพื่อป้องกันการเปลี่ยนตัว เนื่องจากอาจมีนักเรียนจำนวนหนึ่งสละสิทธิ์ และสวมชื่อแทน

“ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติการรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษทั้ง 7 ข้อ ต้องทำภายใต้หลักการการรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษ 3 ข้อ ซึ่งที่ผ่านมาคำว่าเงื่อนไขพิเศษสถานศึกษาได้มีการตีความกันหลากหลาย คณะกรรมการติดตามฯ จึงต้องมากลั่นกรองและให้สถานศึกษาสามารถปฏิบัติได้ โดยไม่ผิดระเบียบ ไม่ใช่บังคับให้ทำ เช่น กรณีที่เป็นบุตรผู้เสียสละเพื่อชาติ ทหาร ตำรวจ และอื่นๆ สามารถมาสมัครเข้าเรียนข้ามภูมิลำเนาได้ แต่การจะรับเข้าเรียนหรือไม่นั้นจะต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสถานศึกษา และหากโรงเรียนใดไม่มีการรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษไว้ก็ไม่ต้องปฏิบัติ” รศ.ดร.สุขุม กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น