“มะเร็ง” นับเป็นโรคสำคัญที่เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่คร่าชีวิตคนไทย โรคร้ายดังกล่าวไม่เพียงแค่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ใหญ่เท่านั้น หากยังเกิดขึ้นได้กับเด็กอีกด้วย โดยบทบาทของการเยียวยารักษามะเร็งเด็กในพื้นที่ภาคใต้นั้น มีศูนย์กลางอยู่ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันยังคงเดินหน้าในการพัฒนามาตรฐานการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเด็กให้มีความทัดเทียมกับนานาชาติ
รศ.นพ.สุเมธ พีรวุฒิ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวถึงบทบาทของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ต่อการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในเด็ก ว่า หลายคนอาจสงสัยว่าโรคมะเร็งเป็นในเด็กได้จริงหรือ ความจริงโรคนี้เป็นได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้ใหญ่วัย 90 ปี ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้มีสถาบันที่รักษาโรคมะเร็งหลายแห่ง เพียงแต่คณะแพทยศาสตร์ ม.อ.คือ ศูนย์การรักษาที่ครอบคลุมครบวงจรทุกส่วน มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ และยังเป็นสถานที่รับผู้ป่วยมากที่สุดในประเทศอีกด้วย
รศ.นพ.สุเมธ เปิดเผยว่า บทบาทการรักษาของ รพ.สงขลานครินทร์ ครอบคลุมผู้ป่วยโรคมะเร็งในภาคใต้แทบทั้งหมด เพราะเป็นโรงพยาบาลตติยภูมิขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ซึ่งผู้ป่วยจะถูกส่งต่อมารักษา เนื่องจากที่อื่นอาจยังขาดผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ รพ.สงขลานครินทร์ เป็นโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยมะเร็งมากที่สุดในประเทศ เนื่องจากในพื้นที่ภูมิภาคอื่น หรือในกรุงเทพฯ ยังมีจำนวนสถาบันที่รักษาได้ กระจายตัวกันออกไปในระดับหนึ่ง แต่สำหรับ ม.อ. เป็นศูนย์ใหญ่ประจำภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด หน่วยรังสีวิทยาของโรงพยาบาล ต้องเปิดทำงานตั้งแต่เช้าจนถึง 2 ทุ่ม และผู้ป่วยส่วนใหญ่ ยังเป็นผู้ป่วยรายได้น้อย โดยร้อยละ 70 เป็นผู้ป่วยในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รองลงมา คือ ผู้ป่วยกลุ่มแรงงานต่างภูมิภาค กลุ่มแรงงานต่างด้าว ถัดไปเป็นกลุ่มข้าราชการที่สามารถเบิกรักษาค่ารักษาได้ และมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มผู้ป่วยเท่านั้น ที่สามารถจ่ายค่ารักษาได้เองทั้งหมด
“ในส่วนของการบริการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเด็ก โรงพยาบาลเปิดให้บริการตั้งแต่ ปี 2525 โดยแต่ละปี มีผู้ป่วยมะเร็งเด็กราว 80-100 รายต่อปี ซึ่งร้อยละ 80 เป็นผู้ป่วยที่ได้รับการส่งต่อมาจากโรงพยาบาลอื่น โดยปัญหาของผู้ป่วยส่วนใหญ่ คือ ความยากจน และความห่างไกลในการเดินทางมารักษาตัว สำหรับในปัจจุบันมีผู้ป่วยเด็กที่ยังต้องเข้ามารักษาด้วยวิธีการเคมีบำบัดอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 150 รายต่อเดือน และมีผู้ป่วยนอกประมาณ 120 รายต่อเดือน ขณะที่ผู้ป่วยบางส่วน โรงพยาบาลต้องให้ความช่วยเหลือส่งต่อยาไปให้เคมีบำบัดที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อสร้างเป็นเครือข่ายในการรักษา ทั้งนี้เนื่องจากการรักษามะเร็งต้องมีการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยจำนวนมากที่มีปัญหาเรื่องทุนทรัพย์ และระยะทางไกล จึงขาดโอกาสในการรักษา แต่ ม.อ.ก็นับว่าโชคดีที่ยังมีการบริจาคจากภาคสังคมให้ความช่วยเหลือเสมอมา”
ด้าน พญ.พรพรรณ ศรีพรสวรรค์ ในฐานะประธานเครือข่ายบริการเคมีบำบัดผู้ป่วยมะเร็งเด็กภาคใต้ กล่าวเสริมถึงบทบาทของโรงพยาบาล กับการรักษามะเร็งเด็กในพื้นที่ว่า โรคมะเร็งเด็ก มีกระบวนการในการรักษาแตกต่างจากมะเร็งที่เกิดกับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะด้านการฟื้นฟูสภาพจิตใจ และพัฒนาการของผู้ป่วย
“ผู้ป่วยมะเร็งเด็กที่เข้ารับการรักษา ส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 5-10 ปี โดยพบมากที่สุด คือ มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ลูคิเมีย ซึ่งต้องได้รับการรักษาผ่านให้ยาเคมีบำบัด หรือการฉายแสง เป็นระยะเวลาประมาณ 2-3 ปี นอกจากนี้ ยังมีมะเร็งต่อมน้ำเหลือง, มะเร็งชนิดเป็นก้อน เช่น ก้อนในสมอง ก้อนในท้อง ซึ่งโดยทั่วไปมักใช้การผ่าตัดเป็นหลัก แต่บางโรคก็จำเป็นต้องใช้วิธีอื่นรักษาแบบผสมผสานควบคู่กันไป โดยการรักษามะเร็งในเด็ก มีผลข้างเคียง มีความแตกต่าง จากผู้ใหญ่ จึงต้องคำนึงถึงขนาดเคมีบำบัด ปรับตามพื้นที่ร่างกายของเด็กให้ต่างไปจากสูตรยาของผู้ใหญ่ แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าดีใจว่า โดยทั่วไปมะเร็งเด็กสามารถรักษาได้ผลดีกว่า โดยมีผลสำเร็จมากกกว่าร้อยละ 70-80 สามารถหายได้” พญ.พรพรรณ กล่าว
พญ.พรพรรณ เปิดเผยถึงความร่วมมือของเอกชนกับคณะแพทยศาสตร์ ม.อ.เพื่อพัฒนาการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเด็ก ว่า เมื่อโรงพยาบาลรับผู้ป่วยเด็กจำนวนมาก จึงมีโอกาสได้รับความร่วมมือกับภาคเอกชน คือ Union for International Cancer Control หรือ UICC องค์กรอิสระระหว่างประเทศด้านการควบคุมมะเร็ง กับบริษัท ซาโนฟี่-อเวนติส (ประเทศไทย) ในการพัฒนา “โครงการ My Child Matters” กับ “โครงการ Fun Center” ซึ่งเน้นฟื้นฟูผู้ป่วยเด็กให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นและมีมาตรฐานให้เท่าเทียมกับนานาชาติ
“โครงการดังกล่าวมีส่วนช่วยผู้ป่วยมะเร็งเด็กในด้านสภาพจิตใจ ให้มีกำลังใจต่อการรักษา เพราะในขณะที่เด็กต้องมานอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ทุกคนต้องเจอกับความเจ็บปวด ต้องให้น้ำเกลือ ให้ยาเคมีบำบัด เจาะหลัง ตรวจไขกระดูกเพื่อดูการตอบสนองโรค ดังนั้น โครงการนี้จึงเป็นผลทางจิตวิทยา การให้กำลังใจ และส่งเสริมพัฒนาการตามวัยของเด็ก เพราะสถานที่ที่เด็กควรอยู่นั้น ไม่ใช่โรงพยาบาล แต่ควรอยู่ในสังคมของเขา หรืออยู่ในโรงเรียน รวมถึงผู้ปกครองก็ไม่ได้ไปประกอบอาชีพ จึงย่อมเกิดผลกระทบทางด้านจิตใจไม่เพียงเฉพาะตัวเด็ก แต่ยังส่งผลถึงครอบครัว ดังนั้น เพื่อให้มีการพัฒนาไปตามปกติ เราจึงต้องส่งเสริมบรรยากาศ และพัฒนาการตามวัยของเด็กให้มากที่สุด เนื่องจากการรักษาที่ใช้เวลา 2-3 ปีนั้น ในช่วงแรกของการรักษา ผู้ป่วยเด็กต้องมานอนโรงพยาบาล หรือไปๆมาๆ เพื่อได้รับการรักษา ประมาณ 6 เดือนแรก ต้องหยุดโรงเรียน โครงการนี้จึงทำให้เด็กไม่ร้างจากกิจกรรมที่ควรได้รับ โดยครูสอนเด็กป่วย ไม่ได้เน้นวิชาการมาก แต่เน้นกิจกรรมฟื้นฟูตามพัฒนาการของวัยในผู้ป่วยเด็กแต่ละคน” พญ.พรพรรณ อธิบายประโยชน์ของโครงการ
ประธานเครือข่ายบริการเคมีบำบัดผู้ป่วยมะเร็งเด็กภาคใต้ กล่าวเสริมต่อไปว่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา ในทุกวันศุกร์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ได้จัดกิจกรรม “ศุกร์-สุขใจ” ขึ้นที่ห้อง Fun Center ซึ่งเป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำศาสตร์ต่างๆมาบูรณาการเพื่อบำบัดจิตใจผู้ป่วยเด็ก ทั้งด้านศิลปะ ดนตรี ธรรมะ และโภชนาการ
“กิจกรรมนี้เป็นการบูรณาการศาสตร์ของแต่ละคณะ เช่น คณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ หน่วยงานต่างๆในมหาวิทยาลัย นักศึกษาผู้มีจิตอาสา มาช่วยทำกิจกรรม มาเล่านิทาน เล่นดนตรี ฯลฯ ให้กับผู้ป่วยมะเร็งเด็ก เพื่อเป็นการเยียวยาสภาพจิตใจ และส่งเสริมศักยภาพของผู้ป่วย รวมถึงครอบครัว นอกจากนี้ ในปี 2554 ยังมีโครงการอื่นๆ ที่ต้องทำต่อเนื่อง เช่น เครือข่ายเคมีบำบัดภาคใต้ที่กระจายไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางแก่ผู้ป่วย การจัดคอนเสิร์ตระดมทุนการนำผู้ป่วยเด็กออกไปทัศนศึกษานอกสถานที่ โครงการพักพิงอิงอุ่น ปรับสภาพที่พักให้เหมาะสมกับเด็กมากขึ้น เป็นต้น” พญ.พรพรรณ กล่าวทิ้งท้าย