xs
xsm
sm
md
lg

ใครกลัวแมวยกมือขึ้น....

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมี๊ยวววววว..........เมี๊ยวววววว
เฮ้ย....ใครก็ได้เอาออกไปที !!!! เอาไปไกลๆ เลย!!!

แมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่น่ารัก และอยู่คู่มนุษย์มานานกว่า 9,000 ปี และคงไม่มีใครคิดว่าเจ้าแมวเหมียวที่น่ารักจะกลายเป็นสัตว์ที่น่าเกลียดน่ากลัว สร้างความขยะแขยง หวาดกลัว ไม่ว่าจะพบเห็นหรือเข้าใกล้ เป็นต้องกลัวจนตัวสั่น ถ้าเป็นเด็กๆ กลัวก็คงไม่น่าแปลกใจอะไร แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่นี่สิ เห็นแมวทีไรเป็นต้องกรี๊ด หรือแม้แต่ผู้ชายมาดแมนแฮนด์ซัม เมื่อเจอแมวก็อาจกระโดดโหยง กลายเป็นเด็กสิบขวบได้เหมือนกัน

ปฏิกิริยาของคนที่กลัวแมวที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เป็นการเสแสร้ง หรือแกล้งทำแต่อย่างใด ซึ่ง นพ.สุรชัย เกื้อศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ และจิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์ บอกว่า ความจริงแล้วอาการกลัวแมว (Ailurophobia) ถือเป็นอาการอย่างหนึ่งในโรคความกลัว จัดอยู่ในกลุ่มโรคกลัวเฉพาะอย่าง (Specific phobia) ซึ่งบุคคลนั้นจะมีความกลัวที่ท่วมท้นและไม่สมเหตุผล ทั้งๆ ที่รู้ว่าสิ่งนั้น ไม่น่ากลัว แต่คุมความกลัวไม่ได้เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสิ่งหรือเหตุการณ์ที่กลัว และมีปฏิกิริยาตอบสนองทางระบบประสาทอัตโนมัติอย่างรุนแรง ทำให้มีอาการแสดงออกมาหลายอย่าง เช่น ใจเต้นเร็ว เหงื่อแตก หายใจติดขัด ตัวสั่น ปั่นป่วนในท้อง ม่านตาขยาย เป็นลม และมีท่าทางหวาดหวั่น จนถึงพยายามหลีกเลี่ยง หรือหนีออกไปจากการเผชิญหน้านั้น

จิตแพทย์ เปิดเผยว่า บุคคลที่เกิดอาการกลัวดังกล่าวมักมีประวัติว่าเคยตกใจกลัวอย่างสุดขีดกับเหตุการณ์ หรือสิ่งนั้นๆ ในวัยเด็ก หรือเคยเห็นบุคคลใกล้ชิด เช่น บิดา หรือมารดา แสดงท่าทางตกใจ หรือหวาดกลัวกับสิ่งนั้นมาก่อน ทำให้เกิดความทรงจำ หรือฝังใจด้านลบกับสิ่งที่กลัวและอาจทำให้ศูนย์ควบคุมอารมณ์บางแห่งในสมอง เช่น อมิกดาลา (Amygdala) ทำงานไวกว่าปกติ ซึ่งจากข้อมูลหลักฐานพบว่าแม้แต่บุคคลที่มีชื่อเสียงหลายท่านอย่าง จูเลียส ซีซาร์ แห่งจักรวรรดิโรมัน จักรพรรดินโปเลียน แห่งฝรั่งเศส จักรพรรดิเจงกีสข่าน แห่งจีน อดอล์ฟฮิตเลอร์ ผู้นำเยอรมัน และนักร้อง ลาโทย่า แจ็คสัน ต่างก็มีอาการกลัวแมวเช่นกัน

นพ.สุรชัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ สิ่งที่กลัวเป็นเพียงสัญลักษณ์ หรือตัวแทนที่แสดงออกมาให้รับรู้ และอาจช่วยให้สืบค้นสาเหตุไปถึงสิ่งที่กลัวอย่างแท้จริงในจิตใต้สำนึก (Unconsciousness) ที่บุคคลนั้นไม่ตระหนัก เช่น คนที่กลัวม้า ม้าอาจเป็นสัญลักษณ์ถึงบุคคลที่มีอำนาจในชีวิตของเขาคือบิดาก็ได้นอกจากคนกลัวแมวแล้วยังมีอีกหลายคนที่กลัวสัตว์หรือแมลงชนิดต่างๆ เช่น กลัวไก่ (Alektorophobia) กลัวแมงมุม (Arachnophobia) กลัวผึ้ง (Melissophobia) บางคนกลัวธรรมชาติแวดล้อม เช่น กลัวความสูง ลมพายุ บางคนกลัวเหตุการณ์หรือสิ่งที่อยู่รอบตัว เช่น อุโมงค์ รถไฟ เครื่องบิน ลิฟต์ กลัวเลือดและเข็มฉีดยา หรือแม้กระทั่งเด็กหลายคนที่มักจะกลัวความมืด เป็นต้น

สำหรับการช่วยเหลือคนที่มีอาการกลัวแมว หรือกลัวสิ่งต่างๆ นั้น นพ.สุรชัย ได้ให้ข้อแนะนำว่า การรักษาโรคกลัวที่เฉพาะเจาะจงกับบางสิ่งบางอย่าง มักจะใช้วิธีการทำพฤติกรรมบำบัด ซึ่งได้รับความนิยม โดยเฉพาะการทำพฤติกรรมบำบัดแบบการเผชิญหน้า (Exposure) กับสิ่งที่กลัว แต่ก่อนการเผชิญหน้าผู้ป่วยควรได้รับการฝึกหรือเรียนรู้เทคนิคทางการผ่อนคลายตนเอง (Relaxation) เพื่อควบคุมอารมณ์และการตื่นตัวของประสาทอัตโนมัติ การเผชิญความกลัวอาจเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป จากสิ่งที่กลัวน้อยที่สุดไปหามากที่สุด หรือเริ่มจากการจินตนาการก่อนไปถึงสัมผัสของจริง

สำหรับวิธีบำบัดพฤติกรรมที่สามารถฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง หรือพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถสอนลูกได้ก็คือการฝึกหายใจ เพื่อลดความกลัว และผ่อนคลาย โดยให้หายใจเข้าทางจมูก จากนั้นก็กักลมหายใจไว้ในปอด นับ 1-4 แล้วจึงค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกทางปากช้าๆ พร้อมกับนับ 1-7 จากนั้นให้เว้นประมาณ 2 วินาที ก่อนจะฝึกหายใจในจังหวะเดิมซ้ำอีกครั้ง อีกวิธีคือการออกำลังกายด้วยการเดินอย่างกระฉับกระเฉง ซึ่งจะช่วยเผาผลาญออกซิเจนส่วนเกิน และทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะสมดุลขึ้น

นพ.สุรชัย เกื้อศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ และจิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์
นอกจากนี้ การบำบัดพฤติกรรมของคนที่มีความกลัวอาจมีการใช้ยาไปด้วยพร้อมๆ กัน ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ที่เห็นว่ามีความจำเป็น ซึ่งไม่ได้เป็นการสอนให้ต่อสู้กับความรู้สึกของตัวเอง แต่เป็นการจัดระบบความคิดให้สามารถมองโลกในมุมใหม่ ซึ่งหลักๆ แล้วก็คือ การสอนให้รู้จักปล่อยวางและไม่เอาจริงเอาจังหรือเคร่งเครียดกับสิ่งละอันพันละน้อยที่ต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน ให้มากจนเกินไปนัก และเมื่อเกิดการเรียนรู้ที่จะผ่อนคลายจิตใจ ก็จะได้ความสงบทางร่างกายเป็นผลสืบเนื่องตามมา
กำลังโหลดความคิดเห็น