ฝ่ายรณรงค์เข้าถึงยาจำเป็น เผย เอฟทีเอสหภาพยุโรป-อินเดีย เน้นผูกขาดข้อมูลทางยา กระทบผู้ป่วยทั่วโลก ด้านเครือข่ายภาคประชาชน นัดประท้วง กว่า 2,000 คน กลางกรุงเดลลี 2 มี.ค.นี้
วันนี้ (25 ก.พ.) นายพอล คอว์ธอร์น ฝ่ายรณรงค์เข้าถึงยาจำเป็น องค์การหมอไร้พรมแดน กล่าวแถลงข่าว “ผลกระทบจากเอฟทีเอ สหภาพยุโรป-อินเดีย ในมุมมองของเครือข่ายผู้ป่วยและคนทำงานด้านการเข้าถึงยาในไทย” ว่า ขณะนี้สหภาพยุโรป (อียู) กำลังเปิดการเจรจาการค้าทวิภาคี (เอฟทีเอ) ระหว่างอินเดีย-ยุโรป โดยมุ่งเน้นไปที่การเจรจาในประเด็นการผูกขาดข้อมูลทางยา มีการใช้มาตรการสิทธิบัตรยาที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งหากมีการดำเนินการจริงจะส่งผลกระทบต่อการผลิตยาชื่อสามัญ และส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยทั่วโลก เนื่องจากปัจจุบันอินเดีย เป็นประเทศรายใหญ่ที่ผลิตยากลุ่มดังกล่าว
โดยข้อมูลจากวารสาร International Aids Society พบว่า ในปี 2552 เกือบร้อยละ 90 ของยาต้านไวรัสเอดส์ที่องค์กรผู้บริจาคทั่วโลกใช้อยู่เป็นยาชื่อสามัญที่ผลิตจากอินเดียทั้งสิ้น ดังนั้น การปิดแหล่งผลิตยาชื่อสามัญจะส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกอย่างแน่นอน โดยในวันที่ 2 มี.ค.นี้ จะมีการชุมนุมใหญ่จากตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีของอินเดีย ขณะที่เครือข่ายฯ จากทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้ง เนปาล บังกลาเทศ เวียดนาม และประเทศไทย จะขอเข้าร่วมเพื่อคัดค้านการเจรจาครั้งนี้ด้วย คาดว่าจะเป็นการรวมตัวกันครั้งใหญ่กว่า 2 พันคน ที่บริเวณใจกลางกรุงเดลลี สาธารณรัฐอินเดีย และเดินเท้าต่อไปยังรัฐสภาของอินเดีย เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียไม่ยอมรับข้อตกลงในการเจรจาการค้าดังกล่าว