xs
xsm
sm
md
lg

ตามไปดู...โรงเรียนต้นแบบคุ้มครองผู้บริโภค สร้างสุขภาพเด็กดีที่เมืองตรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย..รัชญา จันทะรัง

เด็กในวันนี้ คือ ผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้าฉันใด อาหารที่ดีมีประโยชน์ ก็ย่อมส่งผลสุขภาพดีฉันนั้น...คงจะเป็นคำกล่าวที่ไม่ผิดมากนักเพราะบ้านเราทุกวันนี้สุขนิสัยในการบริโภคผิดแผกไปจากเดิมมากขึ้นทุกวัน ขณะเดียวกัน ก็เป็นสัญญาณเตือนให้ระมัดระวังเรื่องสุขภาพด้วยเช่นกัน...
เด็กกำลังทานแตงโมผลไม้ตามฤดูกาลแทนขนมขบเคี้ยว
โรงเรียนบ้านไร่พรุ” โรงเรียนเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางอ้อมกอดของสวนยางอันทอดตัวตามแนวเขา ซึ่งกั้นจังหวัดตรังและพัทลุง 1 ใน 4 โรงเรียนต้นแบบที่ ชาญวิทย์ ขวัญนิมิต สาธารณสุขอำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง หัวหน้าโครงการโรงเรียนต้นแบบคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารคัดเลือกมาเป็นโรงเรียนนำร่องร่วมกับโรงเรียนเพาะปัญญา ในพระอุปถัมภ์ฯ โรงเรียนวัดไทรงาม และโรงเรียนบ้านคลองเต็ง ร่วมเป็น 4 แนวร่วมโรงเรียนชายตะเข็บนอกเทศบาล

ชาญวิทย์ ให้รายละเอียดถึงความเป็นมาของโครงการนี้ ว่า เนื่องจากพบว่าเด็กมีปัญหาสุขภาพมาก ซึ่งจากการสุ่มตรวจตัวอย่างนักเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่งของจ.ตรังพบว่าเด็กมีพฤติกรรรมบริโภคอาหารไม่ถูกต้อง อาทิ รับประทานขนมกรุบกรอบที่ใส่ผงชูรส รับประทานอาหารเค็ม และอาหารใส่สี อย่างละ 100% และดื่มน้ำอัดลมถึง 98% ทำให้เสี่ยงต่อภาวะสุขภาพ เช่น โรคขาดสารอาหาร และแม้ว่าจะมีเครื่องหมาย อย., มอก.รับรองก็ไม่ได้หมายความว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ฉะนั้น จึงได้เกิดโครงการนี้ขึ้นมาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
แปลงผักปลอดสารพิษที่นักเรียนโรงเรียนบ้านไร่พรุช่วยกันปลูก
เด็กจะใช้ชีวิตที่โรงเรียนมากกว่าที่บ้านถึง 5 วัน ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นการลดสารเคมีเข้าสู่ตัวเด็กเริ่มจากตัวโรงเรียน ซึ่งจะเป็นการฝึกเด็กให้ชินกับรสชาติอาหารที่ไม่ต้องใส่สารปรุงแต่งอย่างผงชูรสโดยให้มีรสชาติเป็นธรรมชาติมากที่สุด ” หัวหน้าโครงการ กล่าว

สำหรับแผนงานหลังจากที่ได้ประชุมชี้แจงโรคต่างๆที่คนเมืองตรังเป็นมากที่สุด ได้แก่ โรคมะเร็ง, ความดัน และโรคเบาหวาน ซึ่งมะเร็งเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตมากที่สุด และวิธีการป้องกันกับอาจารย์จากโรงเรียนทั้ง 4 แห่งแล้วก็ได้จัดทำนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารของโรงเรียน ที่เกิดจากการระดมความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสุขภาพของนักเรียนประถมศึกษาในระดับพื้นที่อย่างแท้จริงจำนวน 9 ข้อ ได้แก่ จัดตั้งแกนนำนักเรียน, ไม่จำหน่ายน้ำอัดลม ขนมขบเคี้ยว หมากฝรั่ง อาหารหมักดอง, ไม่ใช่ผงชูรสในการปรุงอาหาร, ไม่ใช่สีผสมอาหาร ยกเว้นสีที่มาจากธรรมชาติ, ไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำในโรงเรียน, ส่งเสริมปลูกผักปลอดสารพิษในโรงเรียนและที่บ้าน และให้ใช้ผักปลอดสารพิษปรุงอาหารในโรงเรียน, หลีกเลี่ยงการนำอาหารที่มีความเสี่ยงต่อบอแรกซ์ หรือน้ำประสานทองมาใช้ในการปรุงอาหาร, ส่งเสริมให้รับประทานผลไม้แทนขนม และมีมาตรการควบคุมการปรุงอาหารให้มีความหวาน มัน เค็ม ในระดับที่เหมาะสม
แม่ครัวโรงเรียนบ้านไร่พรุกำลังปรุงอาหารโดยไม่ใช้ผงชูรส
บุญฤทธิ์ อานุภาพเสถียร อาจารย์จากโรงเรียนบ้านไร่พรุ เล่าให้ฟังว่า ทางโรงเรียนได้ตั้งนักเรียนแกนนำในการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหาร จากนั้นได้มีการทดสอบหาสารปนเปื้อนในอาหารซึ่งได้มีการลงเก็บตัวอย่างอาหารในตลาดนัดชุมชนเพื่อทดสอบสารฟอกขาวในถั่วงอกสารบอแรกซ์ในลูกชิ้นหมู และสารกันราในน้ำผลไม้ดอง นอกจากนี้ ยังมีการประกอบอาหารกลางตามนโยบาย จำหน่ายอาหาร จัดกิจกรรมสนับสนุนผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัย รวมถึงสอดแทรกความรู้เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารในการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาที่เกี่ยวข้อง

โรงเรียนจะจัดทำรายการอาหารล่วงหน้า 1 สัปดาห์ และจะต้องมีสารอาหารครบ 5 หมู่ ซึ่งจะเน้นนำผักผลไม้พื้นเมืองตามฤดูกาลในท้องถิ่นมาปรุงและบริโภค รวมถึงจัดซื้อเครื่องปรุงอาหารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีคุณภาพและปลอดภัย

ด้านเยาวลักษณ์ อานุภาพเสถียร ผู้อำนวยการโรงเรียนเพาะปัญญา ในพระอุปถัมภ์ฯ กล่าวว่า โรงเรียนจะดูแลอาหารสดแห้งที่นำมาใช้ปรุงอาหารกลางวัน พร้อมทั้งให้นักเรียนกำหนดเมนูเสนออาหาร อย่างไรก็ตาม อาหารเช้าซึ่งเป็นอาหารมื้อหลักของนักเรียนต้องอาศัยผู้ปกครองโดยโรงเรียนจะสอดแทรกให้ความรู้เรื่องอาหารเป็นพิษในวาระการประชุมผู้ปกครองทุกครั้งเพื่อไม่ให้อาหารที่ปรุงให้เด็กรับประทานมีสารพิษปนอยู่ รวมทั้งผลิตน้ำสมุนไพร เช่น น้ำอัญชัญ น้ำใบย่านาง มาบริโภคและจำหน่ายอีกด้วย

จากผลการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง พบว่า โรงเรียนต้นแบบทั้ง 4 แห่งดำเนินงานได้ตามนโยบายทุกข้อโดยเฉพาะการเลิกใช้ผงชูรส ซุปก้อน และผงปรุงรสในการปรุงอาหารและหันมาใช้เกลือแกงแทนตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ขณะที่แกนนำนักเรียนก็มีความรู้ในการบริโภคอาหารอย่างถูกต้องเช่นกัน...
กำลังโหลดความคิดเห็น