ผู้ป่วยเข่าเสื่อมเฮ! รพ.เอกชนดัง เปิดตัวนวัตกรรมใหม่เพื่อการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า นำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ระหว่างผ่าตัด สามารถคำนวณองศาข้อใหม่ได้แม่นยำขึ้น ลดปัญหาองศาเอียง ซึ่งส่งผลต่ออายุการใช้งานของข้อใหม่และลดความคลาดเคลื่อน ชี้ส่งผลดีต่อคนไข้ เพิ่มตัวช่วยแพทย์ผู้ผ่าตัด จากเดิมที่อาศัยความชำนาญของหมอแต่เพียงอย่างเดียว ระบุค่าใช้จ่ายแพงกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าแบบเดิมราว 2-3 หมื่นบาท
วันนี้ (23 ก.พ.) ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล นอ.(พิเศษ) นพ.จำรูญเกียรติ ลีลเศรษฐพร ผู้อำนวยการศูนย์ฟื้นฟูข้อเข่าเสื่อมโรงพยาบาลเวชธานี เปิดตัวนวัตกรรมใหม่ของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า “จออัจฉริยะ Digital Lighbox” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านเทคโนโลยี Navigation ทำให้การผ่าตัดแม่นยำขึ้น
“การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างซับซ้อน แต่เมื่อแพทย์ทำบ่อยๆ ในระดับหนึ่งก็จะมีความชำนาญ ทุกวันนี้อายุคนเรายาวขึ้นเพราะการแพทย์ที่ดีขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อชีวิตยืนยาว ความเสื่อมของอวัยวะที่ต้องทำงานนานขึ้นก็จะปรากฏ เมื่อข้อต่างๆ ตามร่างกายเสื่อม การผ่าตัดเปลี่ยนข้อจึงเป็นการรักษาทางหนึ่งที่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ที่ผ่านมาการผ่าตัดเปลี่ยนข้อ ในขั้นตอนของการใส่ข้อใหม่นั้น จะอาศัยความชำนาญและความรู้สึกของแพทย์ผู้ผ่าตัดเป็นหลัก ซึ่งการทำแบบนี้ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนขององศาของข้อใหม่ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยหลังผ่าตัดด้วย”
น.อ.(พิเศษ) นพ.จำรูญเกียรติ กล่าวต่อไปอีกว่า หากองศาข้อใหม่ไม่ตรงที่ 0 องศา อาจจะแก่ดีกรีเป็น 1-2 องศา ก็จะมีผลทำให้การลงน้ำหนักตัวบนข้อใหม่มีปัญหา และลดอายุการใช้งานของข้อใหม่ ทำให้ข้อใหม่สึกหรอเร็วกว่าเดิม และทำให้ผู้ป่วยต้องกลับมาผ่าตัดเปลี่ยนข้ออีกครั้ง แต่ด้วย “จออัจฉริยะ Digital Lighbox” ที่ประกอบด้วย อุปกรณ์จออัจฉริยะ ที่ทำงานคู่กับคอมพิวเตอร์ ทำให้แพทย์สามารถเก็บข้อมูลได้ตลอดระยะเวลาการผ่าตัด รวมถึงสามารถคำนวณองศาที่ตรงพอดีของการใส่ข้อใหม่ให้ผู้ป่วย
“ความแม่นยำในการวางตำแหน่งผิวข้อเข่าเทียมมีความสำคัญอย่างมากต่อผลการผ่าตัดในระยะยาว เพราะจะช่วยยืดอายุการใช้งานผิวข้อเข่าเทียมได้นานกว่าเดิม เนื่องจากความคลาดเคลื่อนเพียง 2-3 องศา จะส่งผลให้อายุการใช้งานผิวข้อเข่าเทียมลดน้อยลงมาก และเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดจนต้องอาจทำให้ต้องมาผ่าตัดใหม่โดยไม่จำเป็น ดังนั้น การผ่าตัดโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยทำให้แพทย์สามารถมองเห็นภาพการเคลื่อนไหวของข้อเข่าในระหว่างการผ่าตัดแบบต่อเนื่องตามการเคลื่อนไหวจริง”
น.อ.(พิเศษ) นพ.จำรูญ เปิดเผยข้อมูลการวิจัยเปรียบเทียบภาพถ่ายทางรังสีวิทยาแบบย้อนหลัง ของผู้ที่เข้ารับการรักษาผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม 2 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มแรกได้รับการผ่าตัดแบบธรรมดามีจำนวน 102 เข่า ส่วนอีกกลุ่มได้รับการผ่าตัดแบบใช้คอมพิวเตอร์ช่วยมีจำนวน 84 เข่า อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 65.8 ปี และ 65.3 ปีตามลำดับ จากการศึกษา พบว่า ค่าเฉลี่ยการเบี่ยงเบนของความคลาดเคลื่อนของตำแหน่งของผิวข้อเข่าเทียมหลังผ่าตัด ระหว่างผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม แตกต่างกันมากถึงร้อยละ 53.8 โดยในกลุ่มที่ได้รับการผ่าตัดแบบธรรมดามีการเบี่ยงเบนของตำแหน่งแกนหมุน 2.77 องศา ส่วนกลุ่มที่ได้รับการผ่าตัดโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยมีเพียง 1.80 องศา และผลลัพธ์ที่ถือเป็นค่าผิดปกติสำหรับการผ่าตัดแบบธรรมดามีมากถึงร้อยละ 42.2 เมื่อเปรียบเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้จากการผ่าตัดโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยมีแค่ร้อยละ 14.3
“นอกจากนี้ เครื่องนี้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการผ่าตัดแผลเล็ก ซึ่งดีต่อการพักฟื้น ผู้ป่วยเจ็บน้อยกว่า หายเร็วกว่า แต่อุปสรรคสำคัญ คือ เมื่อแผลเล็ก แพทย์จะมองการผ่าตัดได้ไม่ชัดเจน ทำให้มีความคลาดเคลื่อนสูง แต่เมื่อผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าแผลเล็ก Digital Lighbox ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดความคลาดเคลื่อนในการวางตำแหน่งผิวข้อเข่าเทียมได้มากขึ้น ดังนั้นการใช้คอมพิวเตอร์ร่วมด้วยในการผ่าตัดจึงช่วยได้มากในกรณีนี้ อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำได้ทันทีในระหว่างการผ่าตัด หากมีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นก็สามารถแก้ไขได้ทันทีในขณะทำผ่าตัด โดยไม่ต้องรอดูภาพเอกซเรย์หลังผ่าตัดเหมือนอย่างวิธีเดิม” ผอ.ศูนย์ฟื้นฟูข้อเข่าเสื่อมฯ กล่าว
ต่อข้อซักถามถึงราคาค่าผัดตัดเปลี่ยนข้อเข่าโดยมีเครื่องคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยนี้ น.อ.(พิเศษ) นพ.จำรูญ ระบุว่า ตามปกติราคาการเปลี่ยนข้อเข่าในโรงพยาบาลเอกชนโดยเฉลี่ยนอยู่ที่ประมาณ 200,000-300,000 บาท ขึ้นอยู่กับชนิดของข้อ แต่หากใช้วิธีการผ่าตัดแบบมีคอมพิวเตอร์ช่วยจะสูงกว่าราคาเดิมราว 20,000-30,000 บาท