xs
xsm
sm
md
lg

จี้รัฐเลิกคุมยานอกบัญชี สธ.สั่งรพ.เข้มจ่ายให้ขรก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ขรก.ประจำ-บำนาญ ร้องรัฐบาลแก้ปัญหากรมบัญชีกลางควบคุมจ่ายยานอกบัญชีหลัก หมอฉะนักวิชาการแพร่ข้อมูล “ยากลูโคซามีน” มั่ว! อ้างหมออินโดฯ ศึกษาพบมีประสิทธิภาพสูง ค้านนำไปขึ้นทะเบียนในกลุ่มอาหารเสริม ด้านสธ.เดินหน้าสั่ง รพ.ในสังกัดออกมาตรการคุมเข้มการจ่ายยาสิทธิ ขรก. ขณะที่“เฉลิมชัย” โวประกันสังคมเจ๋ง! เล็งให้ผู้ประกันตนเลือกระบบสุขภาพสังกัดประกันสังคมหรือบัตรทอง

วานนี้ (16 ก.พ.)ที่รัฐสภา นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส. พิษณูโลก พรรคปชป. ในฐานะคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร รับเรื่องจากพญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ข้าราชการบำนาญ พร้อมคณะ กลุ่มข้าราชการประจำ และข้าราชการบำนาญ โดยเข้าร้องเรียนกรณีที่กรมบัญชีกลางเพิกถอนกลุ่มยากลูโคซามีน คอนดรอยตินซัลเฟต และไดอะเซอเรน หรือยารักษาโรคข้อเข่าเสื่อม เพราะอ้างว่ายากลุ่มนี้เป็นอาหารเสริมที่ไม่ใช่ยา โดยราคายาแพง และการเบิกจ่าวยาของข้าราชการสูงเกิดจริง สิ้นเปลืองงบประมาณ ซึ่งถ้าตัดยาตัวนี้ออกไปจะช่วยประหยัดงบ 442 ล้านบาท แต่ถ้าตัดทั้ง 9 กลุ่ม จะช่วยประหยัดได้ถึง 4,851 ล้านบาท แต่ความเป็นจริงจะทำให้ข้าราชการประจำและข้าราชการบำนาญ ที่มีรายได้น้อยจะต้องมาเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อยาดังกล่าวเอง ทั้งนี้หากตัดกลุ่มยาดังกล่าวสำเร็จ จะทำให้ยาอีก 8 กลุ่มถูกยกเลิกไปด้วย จะทำให้ข้าราชการไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว ซึ่งการกระทำของกรมบัญชีกลางครั้งนี้ เป็นการออกประกาศที่ไม่ถูกต้องตามพระราชกฤษฎีกา เงิน สวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553 และไม่มีความเมตตา และไม่มีมนุษยธรรมนั้น

นพ. วรงค์ กล่าวว่า ตนได้แจ้งเรื่องดังกล่าวไปถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแล้ว โดยนายกฯ บอกว่าจะต้องนำเรื่องดังกล่าวมาปรับปรุงแก้ไขซึ่งต้องใช้เวลาและจะเชิญตัวแทนจากกรมบัญชีกลางมาชี้แจงเรื่องนี้ เพื่อมาทบทวนเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวและหามาตรการอื่นมาทดแทนการตัดสิทธิ์ยานอกบัญชีหลักทั้ง 9 กลุ่ม โดยใช้วิธีการจ่ายยา โดยกำหนดให้ยานอกบัญชีหลักควรให้สำรองจ่ายค่ายาไปก่อน แล้วค่อยมาเบิกกับต้นสังกัดตรงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้

ด้าน พญ.อรพรรณ์ เมธิดิลกกุล รองประธาน สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศ ไทย (สผพท.) กล่าวว่า ตนได้ศึกษาข้อมูลอ้างอิงของ ดร.นพ.นิโคลัส บี.อาร์.จี.จูเนียร์ แพทย์ออโธปิดิกส์ชาวอินโดนีเซียแล้วพบว่า แพทย์รายได้ดังกล่าวได้ศึกษาผลงานวิจัยทางคลินิกที่ผ่านการทดสอบในคนจำนวนทั้งหมด 213 ชิ้นงานและพบว่า ยากลูโคซามีนได้ประสิทธิภาพเป็นผลดีเยี่ยมและเป็นที่ยอมรับจำนวน 180 ชิ้นงาน ซึ่งแพทย์รายดังกล่าวได้เผยแพร่ข้อมูลแก่แพทย์ออร์โธปิดิกส์ในระดับนานาชาติเมื่อเร็วๆนี้

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) กล่าวว่า กรมบัญชีกลางเดินมาถูกทางแล้ว และควรขยายไปยังยากลุ่มอื่นๆ ด้วย เนื่องจากทุกวันนี้คนไทยตกเป็นทาสของบริษัทยาเป็นจำนวนมาก ส่วนประเด็นเรื่องประสิทธิผลของยาข้อเข่าเสื่อมนั้น ยืนยันชัดเจนจากผลการประเมินประสิทธิผลของยากลูโคซามีนต่อการรักษาบรรเทาข้อเข่าเสื่อม โดยได้มีการอภิวิเคราะห์ หรือ meta-analysis ซึ่งเป็นการรวบรวมผลงานวิจัยที่มีคุณภาพหลายชิ้นงานนำมาวิเคราะห์ และสรุปได้ว่า ยาตัวนี้ไม่ต่างจากยาหลอก ซึ่งเป็นงานวิจัยในระดับที่น่าเชื่อถือสูงสุด

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ( สธ). ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาสวัสดิการข้าราชการกล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการออกมาตรการแก้ไขปัญหาการเบิกจ่ายยากลุ่มที่ใช้สิทธิสวัสดิการรักษา พยาบาลข้าราชการ ว่า เมื่อเร็ว ๆนี้ตนได้นัดผู้อำนวยการโรงพยาบาลมาร่วมหารือในมาตรการดังกล่าวแล้ว โดยเบื้องต้นมติที่ประชุมได้ตกลงกันว่า ให้แต่ละโรงพยาบาลออกมาตรการการคุมเข้มการเบิกจ่ายยาในสิทธิข้าราชการด้วยตนเองไปก่อน แล้วนำเสนอข้อสรุปต่อกระทรวงฯในภายหลัง ซึ่งขณะนี้ทาง คกก.พิจารณาฯ ยังไม่ได้สรุปเป็นแนวทางที่ชัดเจน ทั้งนี้คาดว่าจะเร่งหารือให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ. นี้

ขณะที่ปัญหาระหว่างระบบการให้บริการทางการแพทย์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) นั้น นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน กล่าวถึงการตั้งข้อสังเกตถึงระบบสุขภาพที่มีความเหลื่อมล้ำ ที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงิน ขณะที่ประชาชนทั่วไปไม่ต้องจ่ายเงิน ว่า เรื่องนี้ตนอยากที่จะเปิดกว้างให้ผู้ประกันตนมีสิทธิตัดสินใจในการเลือกระบบการรักษา ที่หากใครเห็นว่าระบบใดดีกับตนเองก็เลือกระบบนั้นๆ ที่คนทำงานสามารถที่จะเลือกรับบริการรักษาในระบบ สปสช.ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น