xs
xsm
sm
md
lg

หมอราชวิถีหนุนตรวจสภาพจิตผู้ป่วยไตวายเรื้อรังก่อนผ่าเปลี่ยนใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทย์ราชวิถี หนุนตรวจสภาวะจิตใจ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังก่อนผ่าเปลี่ยนไต-ใส่ไตเทียม หลังพบผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้า ห่วงเข้าสังคมภายนอกไม่ได้

วันนี้ (23 ก.พ.) พญ.สมลักษณ์ กาญจนาพงศ์กุล หัวหน้ากลุ่มงานจิตเวช รพ.ราชวิถี กล่าวในการประชุมวิชาการ รพ.ราชวิถี ครั้งที่ 22 ปี 2554 ว่า ในการประชุมวิชาการครั้งนี้ ทีมแพทย์ในกลุ่มงานจิตเวช ได้นำเสนอผลการศึกษาเรื่องสภาวะจิตใจของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่รักษาด้วยเครื่องไตเทียม โดยจากการวิเคราะห์ปัญหาโรคไตวายเรื้อรังที่กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานนั้นพบว่าทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคไตวายในปี 2553 จำนวนราว 5-6 หมื่นราย และมีการเข้าคิวรอรับการรักษาผ่าตัดปลูกถ่ายไตใหม่ราว 300 ราย ทั้งหมดนี้เป็นผู้ป่วยใน รพ.ราชวิถีจำนวนประมาณ 100 ราย ทั้งหมดนี้ศักยภาพของ รพ.ราชวิถี สามารถตรวจรักษาได้จริงประมาณ 10-20 ราย แต่ก่อนการรับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไตใหม่ หรือ การใส่ไตเทียม แพทย์จำเป็นต้องมั่นใจว่า ผู้ป่วยมีความแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ดังนั้น แพทย์ผู้รักษาจะส่งต่อผู้ป่วยให้ฝ่ายจิตเวชตรวจประเมินอาการ ซึ่งจากการศึกษาครั้งล่าสุดในผู้ป่วยก่อนการเข้ารักษาโรคไตวายด้วยเครื่องไตเทียม จำนวน 20 รายพบเกินครึ่งมีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และเครียด โดยพบในผู้ป่วยหญิงมากกว่าเพศชาย วัย 40 ปี ขึ้นไป
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
พญ.สมลักษณ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับวิธีการศึกษาทีมจิตเวชได้ประเมินสภาพจิตใจของผู้ป่วยด้วยการวิเคราะห์จากเวชระเบียน และการสอบถามโดยตรงจากผู้ป่วยพบว่า ปัจจัยที่ทำให้ป่วยมีภาวะซึมเศร้านั้นส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานชีวิตในวัยเด็กที่อาจประสบปัญหาเรื่องสถานะการเงิน การขาดความอบอุ่นในครอบครัว ปัญหาการเข้าสังคม และสภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง เหล่านี้ล้วนมีส่วนในการทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพจิตทั้งสิ้น ทั้งนี้ สำหรับผลการประเมินสุขภาพจิตของทีมแพทย์หากพบว่า ผู้ป่วยเป็นโรคจิต และมีประวัติใช้ยาเสพติดแพทย์จะคัดชื่อออกจากการเข้ารับการปลูกถ่ายไตในทันที แต่หากรักษาสภาพจิตแล้วดีขึ้นก็สามารถใส่ไตเทียมได้แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยเองด้วยว่า สามารถพัฒนาตนเองได้เพียงใด

ทั้งนี้ อีกเหตุผลที่ต้องมีการประเมินความพร้อมด้านจิตใจ เพราะเราต้องการให้ผู้ป่วยเข้าใจในหลักการทุกอย่าง ก่อนการรักษา เพราะบางรายมีปัญหาเรื่องเงินในการรักษาจริงๆ หากใจไม่เข้มแข็งพอก็อาจเครียดได้ เนื่องจากการรักษาโรคไตวายนั้นเมื่อเฉลี่ยค่ารักษารวมแล้วจะตกประมาณรายละ 2-3 แสนบาท เมื่อเป็นเช่นนี้นอกจากผู้ป่วยจะกังวลเกี่ยวกับสุขภาพกายแล้ว ยังต้องมากังวลกับภาระค่าจ่ายที่สูงขึ้นด้วย ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยไตวายต้องคัดกรองสภาวะจิตใจ นับเป็นโอกาสดีในการนำเสนอผลการศึกษาเรื่องนี้เพื่อให้แพทย์และพยาบาลตระหนักถึงจิตใจของผู้ป่วยมากขึ้น ตัวผู้ป่วยเองก็จะได้ปรับตัวเข้ากับสังคมและมีความสุขมากขึ้นหลังรักษาไตวาย” พญ.สมลักษณ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น