“รศ.คิม” เปิดใจขอให้ชาวรามทุกคนดูแลมหาวิทยาลัย กำชับอย่าให้คนไม่ดีเข้ามาบริหารมหาวิทยาลัยโดยเด็ดขาด พร้อมยืนยันต่อสู้ตามกรอบกฎหมาย ระบุใกล้หมดวาระ คู่แข่งอยากเป็นอธิการบดีสู้ไม่ได้ หาวิธีเตะตัดขา ชกใต้เข็มขัด ด้านประชาคมรามคำแหงแต่งชุดดำค้านคำสั่งไล่ออกอธิการบดี ระบุผู้บริหารไม่ได้รับความเป็นธรรม
วันนี้ (14 ก.พ.) เวลา 08.00 น. รศ.คิม ไชยแสนสุข อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ถูกคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไล่ออกจากราชการและเป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่งอธิการบดี เดินทางมาที่อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อส่งมอบงานให้กับ ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ รักษาราชการแทนอธิการบดี และกล่าวกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยซึ่งต่างพร้อมใจกันแต่งกายชุดดำมาต้อนรับ โดยกำชับให้ข้าราชการ บุคลากรทุกคนยึดหลักความถูกต้องในการทำงานรับราชการ พร้อมกับคอยสอดส่องป้องกันผู้ไม่หวังดีจะทำให้สถาบันรามคำแหงตกต่ำลง ขอให้นึกถึงความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยไว้เป็นหลัก และยืนยันว่าตนจะต่อสู้อยู่ภายใต้กรอบกติกาของกฎหมาย จากนั้นเหล่าผู้บริหารยังได้มอบดอกกุหลาบเพื่อแสดงความรักและให้กำลังใจต่อ รศ.คิมด้วย
เมื่อเวลา 10.00 น. บริเวณหน้าอาคารสำนักงานอธิการบดี รศ.คิมได้ออกมาพบกับกลุ่มข้าราชการ อาจารย์ ศิษย์เก่า และนักศึกษาปัจจุบัน ประมาณ 1,000 คน ที่พร้อมใจกันแต่งกายชุดดำ มาชุมนุมรอให้กำลังใจทั้และเตรียมดอกกุหลาบมามอบให้กำลังใจ รศ.คิมอย่างล้นหลาม โดยตั้งแถวจากหน้าสำนักงานอธิการบดีไปจนถึงอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดยมีผู้แทนกล่าวให้กำลังใจแก่ รศ.คิม และแสดงความเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของ รศ.คิม และผู้บริหาร ม.รามคำแหง นอกจากนี้ยังมีการระบุว่าเหตุการครั้งนี้มีการนำการเมืองหรือความขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัยถูกนำออกไปต่อสู้กันภายนอกมหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยเสื่อมเสียชื่อเสียง
ด้าน รศ.คิมกล่าวฝากประชาคมรามคำแหงว่าขอให้รักมหาวิทยาลัยมากกว่ารัก รศ.คิม ขอให้ช่วยกันทำงานสำคัญของมหาวิทยาลัยรามคำแหงให้ผ่านไปด้วยดี ส่วนตนนั้นจะต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมตามกรอบของกฎหมายทุกประการ และขอให้ทุกคนช่วยกันปกป้องไม่ให้คนไม่ดีเข้ามาบริหารมหาวิทยาลัย
“ผมจะไม่เห็นด้วยกับคำสั่งที่ออกมาของ สกอ.ให้หยุดทำงาน เพราะผมเป็นผู้เจริญ ไม่ใช่คนป่าเถื่อน มีการศึกษาสูง เป็นถึงอธิการบดี จะทำอะไรปัญญาอ่อนไม่ได้ ผมเคารพสิ่งที่เป็นกฎระเบียบ เมื่อมีคำสั่งผมก็ยอมปฏิบัติตามแม้ว่าจะไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็อนุญาตให้เราไม่เห็นด้วยผ่านการอุทธรณ์ ฟ้องศาล และร้องย้อนกลับไป ป.ป.ช. ซึ่งเป็นวิธีต่อสู้ของผู้เจริญ” รศ.คิมกล่าว
จากนั้น รศ.คิมได้เข้าสักการะอนุสาวรีย์พ่อขุนรามฯ และแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนร่วมกับศิษย์เก่า นักศึกษาปัจจุบัน อาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย โดยคณะกรรมการบริหารสมาคมศิษย์เก่ารามคำแหงแสดงจุดยืนว่าจะเข้ามาปกป้องชื่อเสียงมหาวิทยาลัยและดูแลคดีของ รศ.คิม ตามลำดับขั้นของกฎหมาย เพื่อกู้เกียรติภูมิสู่สถาบัน และคืนความเป็นธรรมให้ รศ.คิม กลับมาเป็นอธิการบดีเช่นเดิม ขณะที่ผู้แทนนักศึกษาปัจจุบันก็แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการออกคำสั่งไล่ออก เนื่องจากไม่เป็นธรรมต่อผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัย
รศ.คิมกล่าวด้วยว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นมาเมื่อต้นปี 2554 และเหลืออีกไม่กี่เดือนตนจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งอธิการบดี แล้วจะต้องมีการสรรหาอธิการบดีใหม่ เมื่อปี 2550 หรือ 4 ปีก่อนสมัยที่ลงสมัครครั้งแรก ตนได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด ซึ่งถือว่าตนได้รับความไว้วางใจคนรามคำแหงเป็นประวัติศาสตร์ รวมทั้งตลอดที่ปฏิบัติงาน งานก็เข้าตากรรมการ ถ้าลงเลือกอีกเชื่อว่าจะได้รับการคัดเลือก และวิธีเดียวที่จะทำให้ผมแพ้ คือการเตะตัดขา เรื่องราวการชกใต้เข็มขัดจึงเกิดขึ้น
“ผมไม่คิดมากกับการได้เป็นอธิการบดีหรือไม่ เมื่อครั้งที่มาเป็นอธิการก็ถูกขอให้มาทำงานรับใช้ขาวรามคำแหง จึงอยากฝากไปถึงชาวรามคำแหง ว่าไม่ต้องกังวลเรื่องของตน ขอให้ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดเพื่อชาวรามคำแหง ส่วนตนจะดำเนินการตามกฎระเบียบที่อนุญาตให้ทำ และเชื่อว่าบ้านเมืองนี้ยังมีความยุติธรรมหลงเหลืออยู่ และตนจะทำให้เป็นตัวอย่างให้ลูกศิษย์ดูว่าจะต่อสู้ตามกรอบกฎหมายได้ โดยไม่ต้องมีการประท้วง” รศ.คิมกล่าว
อนึ่ง วันนี้ เวลา 14.00 น. ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ รักษาราชการแทนอธิการบดี ได้เรียกประชุมใหญ่บุคลากรทั้งมหาวิทยาลัยเพื่อทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น
ดร.เฉลิมพล สุมโนพรหม ในฐานะประธานคณะผู้ทำงานทางด้านกฎหมายของกลุ่มเครือข่าย “พลังราม” สภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ออกแถลงการณ์ว่า จากการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวกับการไต่สวนของคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช.ตลอดจนผลการประชุมลงมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว พบว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมต่อบุคลากรผู้มีความสำคัญของมหาวิทยาลัยรามคำแหงอย่างแท้จริง เพราะเราเห็นว่าตำแหน่งอธิการบดี เป็นตำแหน่งที่ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯแต่งตั้งตามคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัย ซึ่งตำแหน่งนี้หาได้เกี่ยวข้องกับความเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยแต่อย่างใดไม่ ประเด็นปัญหานี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้ให้ความสำคัญ ไม่ยอมนำมาวินิจฉัย อย่างนี้ยังจะเรียกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยรามคำแหงทั้ง 3 ท่าน ได้หรือไม่
อีกทั้งเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ทำการไต่สวนแล้วชี้มูลความผิด โดยสรุปว่า 3 ท่านมีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญาแล้วดำเนินการส่งหนังสือแจ้งถึงเรื่องการชี้มูลดังกล่าวให้คณะกรรมการการอุดมศึกษา ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค.53 ซึ่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 93 บัญญัติว่า เมื่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนของคณะกรรมการอุดมศึกษา ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งชี้มูลจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว ต้องดำเนินการพิจารณาลงโทษภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับเรื่อง และต้องส่งสำเนาลงโทษดังกล่าวไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.รับทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ออกคำสั่งอีกด้วย แต่หลังจากเรื่องล่วงเลยมาแล้วร่วมครึ่งปี ถึงมีการประกาศคำสั่งลงโทษอย่างมีเลศนัย ทั้งๆ ที่ผ่านเงื่อนเวลาทางกฎหมายไปแล้ว ซึ่งถือเป็นการไล่ออกทางอากาศ อันเป็นการกระทำผิดขั้นตอนที่เรียกว่า คำสั่งไล่ออกนั้นต้องจัดทำเป็นรูปแบบวิธี ด้วยการทำหนังสือแสดงคำสั่งถึงสภามหาวิทยาลัย และผู้รับคำสั่งทุกรายจึงถูกต้อง แต่การถูกไล่ออก เป็นการให้สัมภาษณ์ของ รมช.ทั้งๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่
นอกจากนี้ ยังมีข้อความเพิ่มเติมจากเอกสารการชี้มูลความผิดของ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ด้วยการกล่าวกาเพิ่มเติมว่า รศ.รังสรรค์ แสงสุข อดีตอธิการบดี ทุจริตเกี่ยวกับการจ้างเหมาก่อสร้างอาคารเรียนมูลค่าเกือบ 600 ล้านบาท พ่วงเข้ามาด้วย ซึ่งประเด็นกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยเพียงเพื่อสร้างความเสียหาย และเสื่อมเสียให้สังคมสับสน ทั้งๆ ที่ไม่มีมูลความผิด คำกล่าวหาต่างๆ ได้รับการชี้แจงอย่างถูกต้อง ซึ่ง ป.ป.ช.และพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว
พวกเราเครือข่าย “พลังราม” มีความเห็นว่า การกำหนดโทษของ เลขาธิการ กกอ.ที่ให้ไล่ออกผู้บริหาร 3 คนนั้นเป็นโทษที่มีความผิดร้ายแรงเกินกว่าสภาพแห่งความผิดเพราะโทษดังกล่าวส่งผลถึงคุณงามความดีที่แต่ละท่านได้ทำมาตลอดชีวิตจนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ บำเหน็จบำนาญ ต้องมีอันดับสูญเพราะคำสั่งดังกล่าว ดังนั้น พวกเราจึงขอคัดค้านและจะต่อสู้คำสั่ง “ไล่ออก” จนถึงที่สุด
ต่อมาเวลา 14.00 น. ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ประชุมชี้แจงบุคลากรมหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมกล่าวว่า ในเวลาอันใกล้นี้มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีภารกิจสำคัญๆ 3 เรื่องได้แก่ การพระราชทานปริญญาบัตร การรับนักศึกษาใหม่ และการสอบไล่ จึงขอฝากบุคลากรทุกท่านสามัคคีร่วมแรงรวมใจเพื่อให้ภาระงานดำเนินไปอย่างราบรื่น
“การแต่งชุดดำเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ จะจับกลุ่มเคลื่อนไหวร้องไห้ร้องห่มเต็มสนามหญ้า ใช้มวลชนต่อสู้ไม่ได้หรอก ต้องต่อสู้ด้วยวิธีอื่นๆ แต่ขออย่าให้มีการเมืองเข้ามาแทรก เข้ามาทำร้ายมหาวิทยาลัย ขอให้ต่อสู้อย่างมีสติ และในช่วงรับพระราชทานปริญญาบัตร เป็นช่วงที่บัณทิตใหม่รื่นเริง อยากให้กลับสู่ภาวะปกติ สำหรับการรับนักศึกษาใหม่ อยากให้ทุกคนทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง ส่วนเรื่องการสอบไล่อยากให้เข้มงวดกวดขัน อย่าให้มีเรื่องข้อสอบรั่ว” ผศ.วุฒิศักดิ์ กล่าว