xs
xsm
sm
md
lg

“ชินวรณ์” เมินฟื้น “เอนทรานซ์” ฝาก ทปอ.สรุปทุกข้อเสนอ คาดปีการศึกษาหน้าชัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศธ.
“ชินวรณ์” เมินฟื้น “เอนทรานซ์” ยันเด็ก ผู้ปกครอง ยังยึด “แอดมิชชัน” เหมือนเดิม ให้การบ้าน ทปอ.วิเคราะห์ จุดอ่อน จุดแข็ง ก่อนกำหนดอย่างเป็นรูปธรรม คาดได้ความชัดเจนปีการศึกษาหน้า

จากกรณีที่มีข้อเสนอจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ให้กลับมาใช้ระบบ เอ็นทรานซ์ ในการคดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเพื่อเป็นการสอบเข้ามหาวิทยาลัยครั้งเดียวทั่วประเทศ โดยเชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาการวิ่งรอกสอบ ตลอดจนลดความเหลี่อมล้ำระหว่างเด็กรวยและจนนั้น

วันนี้ (20 ม.ค.) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า การแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายเป็นเรื่องดี แต่นโยบายที่ตนได้มอบไปแล้ว คือ 1.จะต้องอำนวยความสะดวกให้กับนักเรียน ในการจัดตั้งศูนย์กลางที่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) 2.กำหนดให้นักเรียนเลือกที่จะสอบตรงได้ 3 - 4 คณะ และมหาวิทยาลัยควรจะมีการแบ่งส่วนในการสอบและส่วนที่มีโควตารับตรงไปยังโรงเรียนต่างๆ เพื่อไม่ไห้เป็นภาระในการวิ่งรอกสอบ และไม่ให้นำไปสู่การกวดวิชาเพื่อแย่งชิงกันในการที่จะสอบตรง และ 3.การดำเนินการในการสอบแอดมิชชัน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หรือการสอบได้ 2 ครั้ง พร้อมกำหนดข้อสอบที่ตรงกับหลักสูตร ตรงกับผู้เรียนที่จะเรียน ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายเพื่อต้องการที่จะบูรณาการที่จะสอบทั้ง 2 ระบบให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

“ผมยืนยันให้ผู้ปกครองและนักเรียนได้สบายใจว่า จะไม่ให้มีการเปลี่ยนระบบ ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ยังคงยึดการสอบแอดมิชชันและการสอบตรงอยู่ แต่ต้องมาจัดระบบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักเรียนและไม่ให้เป็นภาระต่อผู้ปกครองต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว

นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนความเห็นที่ว่าแต่ละภาคควรจะมีการรวมกลุ่มแล้วจัดตั้งศูนย์เพื่อรับนักเรียนกันเองนั้น ข้อเสนอทั้งหมดตนได้ให้อำนาจที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ไปแล้ว ซึ่งข้อยุติจะเป็นอย่างไรก็ต้องยึดเอาที่ ทปอ.เป็นหลัก และจะกำหนดเป็นแนวทางที่ชัดเจนต่อไป สำหรับข้อเสนอจากนักเรียน ม.6 ที่ต้องการให้ ศธ.ปรับหลักสูตรชั้น ม.ปลาย ให้มีการเรียนแค่ 5 ภาคเรียนนั้น คิดว่าข้อเสนอยังหลากหลายอยู่ ซึ่งตนจะฟังจากผลการวิจัย ของ ทปอ. อีกครั้ง จากนั้นจะมาสรุปวิเคราะห์ จุดอ่อน จุดแข็ง และจะมากำหนดอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งคิดว่าจะมีความชัดเจนในปีการศึกษาหน้า เป็นต้นไป
กำลังโหลดความคิดเห็น