xs
xsm
sm
md
lg

“ชินวรณ์” โยน ทปอ.ดูสัดส่วนรับตรง แนะปรับให้ถ่วงดุล แก้เด็กวิ่งรอกสอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศธ.
“ชินวรณ” โยนปรับลดสัดส่วนรับตรง-แอดมิชชัน เป็นอำนาจ ทปอ.ชี้ ต้องให้ถ่วงดุลกัน สกัดเด็กวิ่งรอกสอบ เข้มประกาศชัด สร้างความโปร่งใส แนะผู้ปกครองร่วมเปลี่ยนค่านิยมลูกให้เรียนตามความสามารถ

วันนี้ (19 ม.ค. ) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงประเด็นการเสนอลดสัดส่วนการรับตรงของมหาวิทยาลัย ว่า ตามที่ตนได้มอบนโยบายให้ทาง สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ใน 3 เรื่อง คือ 1.การตั้งสำนักงานกลางเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักเรียน 2.ในกรณีการสอบแอดมิชชัน ที่ต้องมุ่งเน้นในการสอบเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนกลับคืนสู่ห้องเรียน รวมถึงทดสอบสมรรถนะในเรื่องของการวิเคราะห์ ความถนัด ความเข้าใจให้เพิ่มมากขึ้น 3.การรับตรงซึ่งเป็นเรื่องที่ทางมหาวิทยาลัยต้องการที่จะได้นักเรียนที่มีความเก่ง ความสามารถ ตรงกับที่คณะต้องการ อย่างไรก็ตาม กรณีที่เด็กมีการวิ่งรอกในการสอบทำให้ภาระตกไปอยู่ที่ผู้ปกครอง ตลอดจนเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กสนใจนอกห้องเรียนเพิ่มมากขึ้นนั้น ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดเอาไว้ จึงได้ให้ ทปอ.ไปดู 3 เรื่อง คือ 1.ควรจะมีสัดส่วนการรับตรงกับการสอบแอดมิชชันเป็นจำนวนเท่าไร 2.ในสัดส่วนของการรับตรง ควรจะมีสัดส่วนในการให้โควตาเด็กเก่งแต่ละโรงเรียน กับรับตรงโดยการสอบเข้ามาเท่าไร และ 3.ในเรื่องของการให้เลือกคณะวิชาที่จะสอบได้ไม่เกิน 4 คณะจะสามารถเป็นไปได้หรือไม่

“ผมคิดว่า 3 เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรจะต้องได้คำตอบในการที่จะมาพิจารณาในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ให้ทันในปีการศึกษา 2554 นี้ อย่างไร คิดว่า ตามกรอบใหญ่เราไม่เปลี่ยนแปลงระบบการรับนักเรียน ยังใช้ระบบแอดมิชชัน และระบบสอบตรงต่อเนื่องต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว

นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับในเรื่องของสัดส่วนนั้น จะต้องให้อำนาจของ ทปอ.ซึ่งเป็นเชิงวิชาการและเป็นเชิงเทคนิคที่เข้าจะไปดูแล เพียงแต่ตนบอกว่าในสัดส่วนที่รับตรงนั้น ควรจะเป็นสัดส่วนที่เป็นโควตาตรงเพื่อคัดเลือกเด็กเก่งจากโรงเรียนดีใกล้บ้าน โรงเรียนดีประจำตำบล ให้มีโอกาสด้วย ขณะเดียวกัน ให้เด็กเก่งมีโอกาสที่จะสอบเพื่อเป็นการถ่วงดุลกันพอดี ระหว่างเด็กที่จะวิ่งรอกสอบกับเด็กที่ไม่ต้องวิ่งรอกสอบ ส่วนตัวเลขนั้นเป็นเชิงเทคนิคที่ทาง ทปอ.กับมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะให้น้ำหนักอย่างไร จากนั้นก็ประกาศให้เป็นที่รับรู้ และควรจะมีความชัดเจน โปร่งใส ไม่เช่นนั้นจะนำไปสู่ปัญหา ทำให้คนขาดความเชื่อมั่นในการรับตรง หรือถูกมองว่าไม่มีความเป็นธรรม

นายชินวรณ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองต้องสร้างทัศนคติที่ถูกต้องให้กับลูกของตัวเองด้วย ซึ่งตนคิดว่าเป็นค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง และการสอบเข้ามหาวิทยาลัยอยากให้เปลี่ยนทัศนคติว่าถึงแม้ว่าจะเก่งอย่างไรก็ตามควรให้เด็กได้เลือกสอบตามความถนัด ตามความสนใจของเด็กเอง เนื่องจากเด็กจะได้ไปพัฒนา ความเก่งกับความสามารถให้ไปสู่ความเป็นเลิศได้ ทั้งนี้ ตนคิดว่า สังคมไทยที่ผ่านมาเป็นระบบแพ้คัดออก และมักเลือกกันตามค่านิยม ต่อไปนี้ทุกคนควรที่จะช่วยกันสร้างความตระหนักรู้และพัฒนาเด็กไทยให้เป็นไปตามสมรรถนะ เป็นไปตามศักยภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น