xs
xsm
sm
md
lg

มส.ผส.เผย ค่ารักษาพยาบาล 3 กองทุนมีแนวโน้มพุ่ง พบคนแก่ใช้บริการมากสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
มส.ผส.เผย ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล 3 กองทุน ทั้ง ประกันสังคม หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสวัสดิการรักษาพยาบาล ขรก.พบมี แนวโน้มพุ่ง โดยกลุ่มผู้สูงอายุเข้ารับบริการสูงสุด ชี้ กองทุน ขรก.เฉพาะค่ารักษาพยาบาลคนแก่ สูงเป็น 2 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ขณะที่โรคระบบไหลเวียนโลหิต-ระบบทางเดินหายใจ เป็นโรคฮิตต้องนอนโรงพยาบาล แนะพัฒนารูปแบบบริการในชุมชน เน้นส่งเสริมป้องกัน ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษา

พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ พัฒนาพื้นที่ต้นแบบและปัจจัย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย จัดทำขึ้นโดย มส.ผส.ได้นำเสนอข้อมูลจากการวิเคราะห์ของสำนักงานวิจัยเพื่อพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย เครือสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่า การให้บริการสุขภาพของกลุ่มผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไป ภายใต้การจัดบริการของ 3 กองทุน คือ กองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ พบว่า ประชากรภายใต้การดูแลในทั้ง 3 กองทุน รวมทั้งสิ้นประมาณ 62.2 ล้านคน โดยเป็นผู้สูงอายุ ร้อยละ 26 เมื่อแยกเป็นแต่ละกองทุน พบว่า ผู้สูงอายุในกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 26 ของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด ส่วนกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีผู้สูงอายุร้อยละ 13

พญ.ลัดดา กล่าวอีกว่า อัตราการใช้บริการของผู้ป่วยทั้ง 3 กองทุน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุ โดยกลุ่มผู้สูงอายุ 70-79 ปี มีอัตราการใช้บริการสูงสุด รองลงมาคือกลุ่มผู้สูงอายุที่เกิน 80 ปี โดยโรคที่ทำให้ผู้สูงอายุต้องนอนในโรงพยาบาลมากที่สุด คือ โรคระบบไหลเวียนโลหิต รองลงมาคือ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบทางเดินอาหาร โรคติดเชื้อ ตามลำดับ ทั้งนี้ อัตราส่วนและการใช้บริการของผู้สูงอายุได้ส่งผลกระทบทางการเงินกับระบบบริการสุขภาพ โดยแต่ละกองทุนมีภาระทางการเงินตามสัดส่วนและการให้บริการที่ต่างกัน โดยกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ สัดส่วนใช้บริการของผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยในประมาณครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 52 ของผู้ป่วยที่เข้าใช้บริการทั้งหมด ขณะที่ค่าใช้จ่ายพุ่งสูงถึงร้อยละ 63 ของค่าใช้จ่ายผู้ป่วยในทั้งหมด ส่วนกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีผู้สูงอายุใช้บริการผู้ป่วยในประมาณร้อยละ 24 และมีค่าใช้จ่ายคิดเป็นร้อยละ 35 ของค่าใช้จ่ายผู้ป่วยในทั้งหมด แต่สำหรับกองทุนประกันสังคม มีผู้สูงอายุที่ใช้บริการเพียงร้อยละ 1 ของผู้ประกันตนทั้งหมดเท่านั้น เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่อยู่ในระบบการจ้างงานภายใต้ระบบประกันสังคม จึงไม่ส่งผลกระทบทางการเงินต่อระบบมาก

พญ.ลัดดา กล่าวต่อไปว่า ค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลในกลุ่มผู้สูงอายุที่สูงมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป็นช่วงวัยที่มีการเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มวัยอื่น ประกอบกับการดูแลมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายทั้งปีของผู้สูงอายุที่เสียชีวิต และไม่เสียชีวิต พบว่า มีความแตกต่างอย่างชัดเจน โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสำหรับบริการรักษาแบบผู้ป่วยในทั้งปีของผู้ที่เสียชีวิต อยู่ที่ประมาณคนละ 40,000-70,000 บาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำหรับบริการรักษาแบบผู้ป่วยในทั้งปีและไม่เสียชีวิต อยู่ระหว่างคนละ 5,000-12,000 บาท ซึ่งต่างกันประมาณ 4 เท่า

“ความเสื่อมถอยของร่างกายทำให้ผู้สูงอายุมีปัญหาสุขภาพร่างกาย ขณะที่ในด้านค่าใช้จ่ายก็มีอัตราสูงกว่าในวัยอื่น และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหากไม่เร่งหาทางป้องกันอาจส่งผลต่อระบบการเงินในกองทุนสุขภาพในอนาคต ดังนั้น หน่วยบริการสาธารณสุข และรัฐ ต้องเร่งพัฒนาออกแบบระบบบริการสุขภาพใหม่ โดยอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุ และเพิ่มการเข้าถึงบริการมากขึ้น นอกจากนี้ ควรต้องเพิ่มบริการและการเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค การรักษาและฟื้นฟูสภาพ เพราะปัจจุบันมีผู้สูงอายุได้รับบริการส่งเสริมสุขภาพเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น ที่สำคัญควรพัฒนารูปแบบบริการในชุมชน สนับสนุน/อุดหนุนให้ชุมชนมีบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุ โดยส่งเสริมการดูแลในบ้านและครอบครัว มีชุมชนคอยให้ความช่วยเหลือซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการดูแลผู้สูงอายุในสถานพยาบาลมาก” ผู้จัดการแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิต มส.ผส.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น