xs
xsm
sm
md
lg

กรมศิลป์จับมือญี่ปุ่น เปิดตัว 121 โบราณวัตถุหาดูยาก ฉลองความสัมพันธ์ 100 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมศิลป์ จับมือญี่ปุ่น เปิดตัวโบราณวัตถุหาดูยาก 121 รายการ ฉลองความสัมพันธ์ 100 ปี โดยญี่ปุ่นนำเครื่องปั้นดินเผาทรงเปลวไฟ อายุ2,500 ปี ก่อนพุทธกาล ฉากกระดาษที่แสดงภาพเรือจีน และเรือยุโรปมาแสดง ด้านไทยนำภาพทหารญี่ปุ่นอาสารบมาแสดง ชมได้ตั้งแต่ 14 ม.ค.-13 มี.ค.54 ก่อนไปโชว์ต่อที่ญี่ปุ่น เม.ย.นี้

วันนี้ (12 ม.ค.) ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เรืออากาศเอก สุริยะ ศึกษากิจ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานการแถลงข่าวโครงการแลกเปลี่ยนการจัดแสดงนิทรรศการ เรื่อง “งานช่างศิลปกรรมและสุนทรียภาพไทย-ญี่ปุ่น โดยมีนายไซโตะ ทะกะมะสะ ผู้อำนวยการกองศิลปากร ด้านมรดกทางวัฒนธรรม สำนักกิจกรรมวัฒนธรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น และนางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร เข้าร่วมแถลงข่าว โดยเรืออากาศเอกสุริยะ กล่าวว่า งานดังกล่าวจัดขึ้นในวาระครบรอบ 100 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น โดยนำโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ รวม 121 รายการที่เป็นตัวแทนงานช่างศิลปกรรมและสุนทรียภาพของญี่ปุ่นและไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่สะท้อนความคล้ายคลึงและแตกต่างทางวัฒนธรรมมาแลกเปลี่ยนความรู้และจัดนิทรรศการร่วมกัน ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู ประเทศญี่ปุ่น และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ประเทศไทย โดยหวังว่าจะนำมาซึ่งความเข้าใจอันดีระหว่างบุคลากร ประชาชนทั่วไป เป็นการเชื่อมสัมพันธ์กันให้แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ

นางโสมสุดา กล่าวว่า การจัดนิทรรศการครั้งนี้ กำหนดจัด 2 ครั้งๆ ละ 2 เดือน ครั้งที่ 1 จัดที่ประเทศไทย ณ พระที่นั่งอัศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ 14 ม.ค.-13 มี.ค.2554 เปิดให้ประชาชนเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ครั้งที่ 2 จัดที่ประเทศญี่ปุ่น ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู ระหว่างวันที่ 12 เม.ย.-5 มิ.ย.2554 โดยเนื้อหาของนิทรรศการแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรกนำเสนอจุดเริ่มต้นของสองประเทศ เริ่มจากสังคมยุคก่อนประวัติศาสตร์ ส่วนที่สองการรับวัฒนธรรมศาสนาจากภายนอกที่สำคัญ คือ พระพุทธศาสนา ก่อให้เกิดงานช่างศิลปกรรม ส่วนที่สาม แสดงถึงความสัมพันธ์ทางการค้าและวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น นอกจากนี้ จะมีการแสดงจากคณะนาฏศิลป์จากศาลเจ้าดาไซฟุ เท็นมังกุง จ.ฟุคุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น และนาฏศิลป์สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ณ สังคีตศาลาด้วย

สำหรับโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุสำคัญและมีความโดดเด่นของทั้งสองประเทศที่นำมาจัดแสดงนั้น นางอัมรา ศรีสุชาติ หัวหน้ากลุ่มวิจัย สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กล่าวว่า การเลือกโบราณวัตถุที่นำมาแสดงครั้งนี้ ได้มีการหารือระหว่างไทย ญี่ปุ่นว่าจะต้องมีความเชื่อมโยงกัน ที่สำคัญๆ เช่น ศิลปะการปั้น ประเทศไทยเลือกภาชนะดินเผาซึ่งขุดค้นพบแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว จ.ร้อยเอ็ด ศิลปะสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย 2,600-1,800 ปีมาแล้ว ซึ่งทางญี่ปุ่นได้นำเครื่องปั้นดินเผาทรงเปลวไฟ พบที่แหล่งโบราณคดีจิดเตะ จ.นีกะตะ สมัยโจมนอายุราว 2,500 ปีก่อนพุทธกาลมาแสดง ในทาง ศาสนา ไทยได้นำธรรมจักรกับกวางหมอบ พบที่วัดเสน่หา จ.นครปฐม ศิลปะทวรวดี พุทธศตวรรษที่ 12-14 มาจัดแสดง ส่วนญี่ปุ่นนำรูปปั้นพระไภษัชยคุรุ สมัยนาระ พุทธศตวรรษที่ 14-15 มาจัดแสดงซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นสำคัญของชาวญี่ปุ่น ส่วนศิลปที่แสดงถึงวิถีชิวิต ญี่ปุ่นได้นำชุดกิโมะโนะ ซึ่งเป็นการทอผ้าแบบทัดซุงิคือการทอผ้าลายแบบลื่นไหล เป็นผ้าคุรุเมะ กะซุริ มีความคล้ายคลึงกับการทอผ้ามัดหมี่ของไทย และศิลปะวัตถุชิ้นสำคัญ คือ ภาพทหารอาสาญี่ปุ่นในสมุดภาพจำลองจากวัดยม ภาพจิตรกรรมศิลปะอยุธยา พ.ศ.2224 คัดลอกลงสมุดไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 จากหอสมุดแห่งชาติ เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญว่าสมัยอยุธยานั้นมีกลุ่มทหารญี่ปุ่นอาสามาช่วยราชสำนักไทยในการศึกสงคราม

ด้าน นายไซโตะ กล่าวว่า การจัดนิทรรศการครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการนำโบราณวัตถุและศิลปวัตถุของญี่ปุ่นมาจัดแสดงร่วมกันให้ประชาชนไทยได้ชม สำหรับโบราณวัตถุชิ้นเด่นที่ประเทศญี่ปุ่นนำมาจัดแสดงก็มีหลายชิ้นด้วยกัน เช่น เครื่องปั้นดินเผาทรงเปลวไฟ สมัยโจมน 2,500 ปีก่อนพุทธกาล โดยงานชิ้นนี้จะมีความสวยงามด้านการออกแบบของคนญี่ปุ่นโบราณ ฉากกระดาษที่แสดงภาพเรือจีนและเรือจากยุโรป สมัยโมโมะยามะ พุทธศตวรรษที่23 ซึ่งเป็นเรือที่นำศิลปะประวัติศาสตร์จากยุโรปมาญี่ปุ่น และน่าจะเป็นเรือลำเดียวกันที่เทียบท่าที่ไทยสมัยอยุธยามาก่อน และ ชุดกิโมะโนะ ผ้าคุรุเมะ กะซุริ ที่แสดงให้เห็นถึงเนื้อผ้า การทอที่เหมือนกับผ้าทอของไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น