• วธ. ตั้งเป้าปี 54 ขยายโครงการ
1 วัด 1 ตำบล ให้คนเข้าปฏิบัติธรรม
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า จากการที่กรมการศาสนา จัดโครงการเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันอาทิตย์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าให้มีวัดเข้าร่วมโครงการตำบลละ 1 แห่ง เพื่อส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนที่ไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมในวันธรรมสวนะหรือวันพระ มีโอกาสเข้าวัดปฏิบัติธรรมในวันหยุด ขณะนี้มีวัดเข้าร่วมโครงการแล้ว 2,459 วัด ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง คาดว่าตลอดทั้งปีจะมีวัดเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น 3,513 วัด
โดยกรมการศาสนาได้รับความร่วมมือจากมหาเถรสมาคม มีมติ ให้เจ้าคณะภาคและเจ้าคณะจังหวัดสนับสนุนโครงการนี้ นอกจากนี้จะขยายโครงการเข้าไปยังศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ จำนวน 3,635 แห่ง โครงการลานบุญ ลานปัญญา 461 แห่ง และวัดที่เป็นหน่วยสงเคราะห์พุทธมามกะ 563 แห่ง รวมทั้งจะของบประมาณ งบกลาง 120 ล้านบาท ขยายกิจกรรมอย่างต่อเนื่องด้วย
• กรมศิลป์จับมือญี่ปุ่น
เปิด 121 โบราณวัตถุหาดูยาก
เรืออากาศเอกสุริยะ ศึกษากิจ ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ในวาระครบรอบ 100 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น สำนักพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรมศิลปากรได้ดำเนินโครงการภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรม ระหว่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู ประเทศญี่ปุ่น กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์กรด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ทัศนคติด้านพิพิธภัณฑ์ ตลอดจนสร้างกิจกรรมที่ใช้พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งมรดกทางการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน
เรืออากาศเอกสุริยะ กล่าวต่อว่า นิทรรศการ เรื่อง “งานช่างศิลปกรรมและสุนทรียภาพไทย-ญี่ปุ่น” เป็นการนำโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ กว่า 121 รายการที่เป็นตัวแทนของงาน ช่างศิลปกรรมและสุนทรียภาพของประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนภาพความคล้ายคลึงและแตกต่างทาง วัฒนธรรม รวมถึงการสืบสานและสร้างสรรค์ งานศิลปกรรมในปัจจุบันของทั้งสองประเทศ มาจัดแสดงนิทรรศการร่วมกัน โดยมีศิลปวัตถุและโบราณวัตถุที่สำคัญของไทย อาทิ ภาชนะดินเผา ซึ่งขุดค้นพบแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว จ.ร้อยเอ็ด ศิลปะก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย กระดิ่งสำริด ธรรมจักรกับกวางหมอบ ส่วนของ ประเทศญี่ปุ่น ได้แก่เครื่องปั้นดินเผาทรงเปลวไฟ สมัยโจมน 25,00 ปีก่อนพุทธกาล ฉากกั้นหรือบังตาภาพเรือ จีนและเรือตะวันตก (นัมบัน) ตุ๊กตาฮานิวะ รูปม้า ผอบบรรจุพระอัฐิธาตุทรงเจดีย์ประดับลายเปลวเพลิงของประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น โดยโครงการแลกเปลี่ยนการจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี นำมาซึ่งมิตรภาพ ความเข้าใจอันดี ระหว่าง ไทย-ญี่ปุ่น ก่อให้เกิดการประสานสัมพันธ์ แลกเปลี่ยน เรียนรู้ประสบการณ์ และเป็นการขยายความรู้สู่ประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย โดยที่ผ่านมา ไทยและญี่ปุ่นได้ร่วมกันจัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “Art Treasure of Thailand” ระหว่าง พ.ศ. 2530-2531 และเรื่อง “มิตรภาพแห่งเอเชีย : เครื่องถ้วยญี่ปุ่น” ในปีพ.ศ. 2540
นิทรรศการครั้งนี้เปิดให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม ถึง 13 มีนาคม 2554 เวลา 09.00-16.00 น. (ยกเว้นวันจันทร์และวันอังคาร) ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0-2224-1402
• ขยายเวลาประดิษฐาน "ธรรมเจดีย์"
คัมภีร์พระพุทธศาสนาเก่าแก่ที่สุดในโลก
นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลได้อัญเชิญ “ธรรมเจดีย์” พระคัมภีร์พระพุทธศาสนาโบราณเก่าแก่ที่สุดในโลกอายุกว่า 2,000 ปี จากประเทศนอร์เวย์ มาประดิษฐาน ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ทางพระพุทธศาสนา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 และเป็นการกระชับความสัมพันธ์ไทย-นอร์เวย์ ซึ่งมีความสัมพันธ์กว่า 100 ปี นับแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเยือนนอร์เวย์ครั้งแรก ปรากฏว่ามีประชาชนมาสักการะเป็นจำนวนมาก สรุปยอดรวมจนถึงขณะนี้กว่า 150,000 คน
นายนพรัตน์กล่าวต่อว่า จากกำหนดการเดิมจะประดิษฐานจนถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ แต่ล่าสุดได้รับแจ้งจากทางสถาบันอนุรักษ์สเคอร์เยน ซึ่งเป็นเจ้าของว่าจะอนุญาตให้ขยายเวลาการอัญเชิญมาประดิษฐานในประเทศไทยจนถึงเดือนพฤษภาคม เพื่อเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา
• สุโขทัย จัดประกวด "วัดร่มเย็น" ระดับอำเภอและจังหวัด
เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 84 พรรษา
นายจักริน เปลี่ยนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า ในปี 2554 จังหวัดสุโขทัย ได้จัดทำโครงการสุโขทัยวัดร่มเย็น เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 84 พรรษา ต่อเนื่องจากปี 2553 โดยกำหนดให้วัดที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการและวัดที่ไม่ผ่านหลักเกณฑ์การประเมิน ได้มีโอกาสพัฒนาวัดให้เป็นวัดร่มเย็น เหมือนกับวัดอื่นๆ ในจังหวัดสุโขทัย พร้อมทั้งจัดประกวดวัดร่มเย็นอีกด้วย
ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย กล่าวอีกว่า ปี 2553 ที่ผ่านมา จังหวัดสุโขทัยได้ดำเนินโครงการสุโขทัยวัดร่มเย็น เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจริญพระชนมพรรษา 83 พรรษา เพื่อให้วัดในจังหวัดสุโขทัย ปลอดสิ่งเสพติดและอบายมุข ประการสำคัญเป็นสถานที่เผยแพร่ธรรมทางพุทธศาสนา และแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีวัดเข้าร่วมโครงการ 272 วัด ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน 36 วัด และไม่ได้เข้าร่วมโครงการ 70 วัด
สำหรับการประกวดวัดร่มเย็นที่ผ่านการประเมินและคัดเลือกในระดับอำเภอ จะได้รับเงินรางวัลดังนี้ รางวัลที่ 1 จำนวน 50,000 บาท รางวัลที่ 2 จำนวน 40,000 บาท และรางวัลที่ 3 จำนวน 30,000 บาท ส่วนวัดที่ชนะการประกวด ระดับจังหวัด รางวัลที่ 1 จำนวน 300,000 บาท รางวัลที่ 2 จำนวน 200,000 บาท และรางวัลที่ 3 จำนวน 100,000 บาท ทั้งนี้ คณะกรรมการประเมินและคัดเลือกกำหนดตัดสินและมอบรางวัลในเดือนกันยายน 2554
• มจร. เผยพระไตรปิฎก 3 นิกายใกล้เสร็จ
เตรียมหาข้อสรุปวันงานวิสาขบูชาโลก ปี 54
พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการจัดกิจกรรมนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาว่ามหาเถรสมาคมมีมติให้มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จัดกิจกรรมนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญของสหประชาชาติ ในวันที่ 12-14 พฤษภาคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ภายใต้หัวข้อ “พุทธธรรมกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ” (Buddhist Virtues in Socio-Economic Development) รวมทั้งการหารือเพื่อหาข้อสรุปเรื่องการรวบรวมเนื้อหาพระไตรปิฎกของทั้ง 3 นิกาย ได้แก่ มหายาน เถรวาท และวัชรยาน มาจัดทำเป็นฉบับสากล เพื่อแจกตามโรงแรมต่างๆ
“เมื่อที่ประชุมเห็นชอบให้การยอม รับในเนื้อหาพระไตรปิฎกฉบับสากลแล้ว ก็จะให้ผู้นำชาวพุทธแต่ละประเทศนำไปแปลเป็นภาษาของตนต่อไป” พระธรรมโกศาจารย์ กล่าว
สำหรับการจัดทำเนื้อหาพระไตรปิฎกฉบับนี้ได้ดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 80 ประกอบด้วยต้นฉบับพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย อักษรโรมัน ซึ่งได้ระดมนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งภายในและภายนอก ร่วมกันจัดทำเป็นจำนวนมาก
• กรมอนามัย หนุนคนไทยตักบาตรสุขภาพ
ลดหวาน มัน เค็ม ลดโรคให้พระสงฆ์
นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงการสนับสนุนคนไทยตักบาตรด้วยเมนูชูสุขภาพว่า ชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว โดยเลือกตักบาตรด้วยอาหาร กระป๋องและอาหารปรุงสำเร็จ ซึ่งหากไม่ใส่ใจและคำนึงถึงความปลอดภัย ก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพพระสงฆ์ตามมา โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากการทำบุญตักบาตรพระภิกษุสงฆ์ด้วยอาหารที่จำเจ ไม่หลากหลาย ซึ่งอาหารปรุงสำเร็จส่วนมากมักเป็นอาหารที่ประกอบด้วยแป้ง น้ำตาล และไขมัน รวมทั้งกะทิที่ให้พลังงานสูงมากเกินความต้องการของร่างกาย ก่อให้เกิดการสะสมไขมันส่วนเกิน ส่งผลให้เกิดภาวะเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมา
ซึ่งจากข้อมูลสถิติด้านการเจ็บป่วยของพระสงฆ์จากโรงพยาบาลสงฆ์ในปี 2550 พบว่า พระสงฆ์ที่มารับการตรวจรักษา 17,381 รูป ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ร้อยละ 17.8 โรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 17.1 ภาวะไขมันในเลือดสูง ร้อยละ 13.5 แสดงให้เห็นว่า การเจ็บป่วยด้วยโรคส่วนใหญ่มีสาเหตุจากปัญหาการบริโภคไม่ถูกหลักโภชนาการ เนื่องจากไม่สามารถที่จะเลือกฉันอาหารเองได้ ประกอบกับสถานภาพพระภิกษุสงฆ์ ไม่เอื้อต่อการออกกำลังกาย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรค
ดร.นพ.สมยศ กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็น การสร้างสุขภาพดีแก่พระภิกษุสงฆ์ ประชาชนควรทำบุญตักบาตรด้วยอาหารเมนูชูสุขภาพที่ประกอบด้วย กลุ่มที่ให้ใยอาหารสูง ประเภทข้าวกล้อง ผักต่างๆ เพื่อจะได้มีกากอาหารช่วยในการขับถ่าย กลุ่มที่ให้แคลเซียมสูง ประเภทผักใบเขียวเข้ม ปลาที่กินได้ทั้งตัว นมจืดหรือนมพร่องมันเนย เพื่อช่วยเสริมสร้างกระดูกไม่ให้เปราะบาง กลุ่มที่มีไขมันต่ำ ประเภทเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา เพื่อลดพลังงานส่วนเกินที่จะไปสะสมในร่างกายซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคอ้วน โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง โดยอาหารที่ปรุงนั้นต้องมีรสที่ไม่หวานจัด มันจัด และเค็มจัด เน้นการต้ม นึ่ง อบ หรือทำเป็นน้ำพริก ที่สำคัญควรมีผักสด และผลไม้สดด้วยทุกครั้งเพื่อให้ครบคุณค่าทั้ง 5 หมู่ นอกจากนี้พระภิกษุสงฆ์ก็ สามารถสร้างสุขอนามัยที่ได้ด้วยการใช้ช้อนกลางขณะฉันภัตตาหารทุกครั้ง
• "มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุนานาชาติ"
ททท. จัดใหญ่ปี 54 ที่เมืองนครฯ
นายสุเทพ เกื้อสังข์ ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ได้ดำเนินมาร่วม 800 ปี แล้ว ด้วยพลังแห่งความเชื่อและศรัทธา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เทศบาลนครนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ชมรมรักบ้านเกิดนครศรีธรรมราช ร่วมยกระดับกิจกรรมเครื่องบูชาพระพุทธเจ้าของพุทธศาสนิกชนกับผ้าพระบฏ ในงาน “มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุนานาชาติที่เมืองนคร” ระหว่างวันที่ 12-18 กุมภาพันธ์ 2554 ณ สวนศรีธรรมาโศกราชและวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
นายสุเทพ กล่าวว่า นานาประเทศ กว่า 10 ประเทศ ประกอบด้วย ศรีลังกา อินเดีย จีน เวียดนาม พม่า กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ไต้หวัน และ ญี่ปุ่น จะเดินทางมาร่วมงาน โดยในงานจะมีกิจกรรมหลากหลาย อาทิ นิทรรศการผ้าพระบฎนานาชาติ เช่น ผ้าพระบฎทองคำ ผ้าพระบฎยักษ์ จากสวนโมกขพลาราม การตามประทีปโคมไฟ และลอยโคม 12 นักษัตร สาธิตการทำผ้าพระบฎจากทุกภูมิภาค การแสดงศิลปวัฒนธรรม นานาชาติ การแสดงเพื่อเป็นพุทธบูชาจากประเทศศรีลังกา อินเดีย จีน กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงพุทธ งานแสดงศิลปกรรมพุทธบูชา “งอกเงยด้วยธรรม งดงามด้วยศิลป์” ของกลุ่มจิตรกรไทย ฯลฯ รวมทั้งการบรรยายธรรม “บุญตามรอยธรรมที่เมืองนคร กับ ว.วชิรเมธี” การสมโภช ผ้าพระบฎจากทุกภูมิภาคและนานา ชาติ รวมทั้งริ้วขบวนแห่ผ้าพระบฎอันยิ่งใหญ่ การกวนข้าวทิพย์มธุปายาส 12 กะทะ 12 นักษัตร
• พศ. ตั้งเป้าปี 54 ขับเคลื่อนงานด้านศาสนา
จัดตั้งสถาบันเผยแผ่พระพุทธศาสนา
พัฒนาวัดให้เป็นศูนย์กลางชุมชน
นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยว่า ในปี 2554 จะเน้นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร พระภิกษุ สามเณร ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้มากขึ้น โดยเฉพาะพระภิกษุที่จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสต้องมีความรู้ในการขับเคลื่อนการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และให้วัดเป็นศูนย์กลางชุมชน โดยพศ.จะร่างระเบียบมหาเถรสมาคม จัดตั้งสถาบันการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อเป็นสถาบันการอบรมเรียนรู้พระสงฆ์ ให้รู้จักวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง ซึ่งต่อไปพระสงฆ์ทุกรูปจะต้องผ่านการอบรมจากสถาบันดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังเตรียมวางแผนให้ทุกอำเภอ มีศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อทำหน้าที่อบรมพระสงฆ์ รวมถึงพัฒนาวัดให้เป็นศูนย์กลางของชุมชน พร้อมทั้งปรับปรุงการประชาสัมพันธ์งานของคณะสงฆ์ ให้เป็นที่รับรู้ของประชาชน รวมถึงการขอขึ้นนิตยภัตของพระสังฆาธิการทั่วประเทศ และการแก้ปัญหาพระที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ซึ่งจะจัดตั้งสายด่วนศาสนา หรือศูนย์รับเรื่องราวพระพุทธศาสนาด้วย
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 123 กุมภาพันธ์ 2554 โดย มรรคา)