สธ.เตรียมออกกฎกระทรวง “บุหรี่ปลอดไฟไหม้” บังคับใช้กับบุหรี่ทุกชนิดทั้งผลิตภายในประเทศและนำเข้า ให้ใช้กระดาษพิเศษที่สามารถดับเองภายใน 2 นาที หากไม่มีการสูบ จากเดิมปัจจุบันที่ใช้เวลา 10 นาที ป้องกันปัญหาก้นบุหรี่เป็นต้นเหตุเพลิงไหม้
วันนี้ (5 ม.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการควบคุมยาสูบแห่งชาติ ว่า ที่ประชุมได้มีมติในเรื่องของการแก้ไขคำนิยามใน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 ใน 3 ส่วน คือ 1.ส่วนของคำว่า “ผลิตภัณฑ์ยาสูบ” ให้หมายถึง ผลิตภัณฑ์ทุกประเภทที่มีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบ 2.คำว่า “ขาย” ให้หมายรวมถึงการจำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้เพื่อประโยชน์ทางการค้าและธุรกิจ 3.คำว่า “โฆษณา” ให้มีหมายความว่า การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า และรวมถึงการสื่อสารทางการตลาดด้วย
“ทั้งนี้ ในส่วนของการขายนั้นมีการห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่าย ขาย แลกเปลี่ยนหรือให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแก่บุคคลซึ่งตนรู้อยู่ว่าผู้ซื้อหรือผู้รับเป็นผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ เพื่อลดปริมาณผู้สูบทั้งรายใหม่รายเก่าให้ได้ จากเดิม 20% เป็น 10% ของจำนวนประชากรที่สูบบุหรี่ทั้งหมด” นายจุรินทร์กล่าว
รมว.สธ.กล่าวว่า ในส่วนของการห้ามขายนั้นเป็นการห้ามมิให้ขายผลิตภัณฑ์ยาสูบโดยใช้เครื่องขาย สำหรับเรื่องของการโฆษณานั้น ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบในสื่อต่างๆ รวมถึงห้ามแสดงซองบรรจุและชื่อบริษัทด้วย
นายจุรินทร์กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีมติให้ออกกฎกระทรวง 2 ฉบับ ได้แก่ 1.กฎกระทรวงว่าด้วยบุหรี่ปลอดไฟไหม้ (Reduced Ignition Propensity Cigarettes) หรือ RIP โดยจะบังคับให้ผู้ผลิตในประเทศ และบุหรี่นำเข้า จะต้องเป็นบุหรี่ที่ผลิตจากกระดาษชนิดพิเศษที่ไฟจะดับใน 2 นาที เมื่อผู้สูบหยุดสูบ จากเดิมที่บุหรี่ในปัจจุบันจะดับเมื่อไม่มีผู้สูบนานถึง 10นาที 2.กฎกระทรวงว่าด้วยการห้ามเติมสารปรุงแต่งในบุหรี่ โดยจะห้ามทั้งบุหรี่ที่ผลิต และจำหน่ายภายในประเทศ รวมถึงบุหรี่นำเข้าจากต่างประเทศ สำหรับบทลงโทษในส่วนของกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับนั้น หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งหลังจากนี้ตนจะลงนามเพื่อนำเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในส่วนของ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ จะต้องนำเข้าสูการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ขณะที่กฎกระทรวงจะมีผลเมื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และจะให้เวลาผู้ประกอบการเตรียมการเป็นเวลา 1 ปี ก่อนที่จะมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง
ด้าน นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ในการดำเนินการเรื่องบุหรี่ที่จะลดความโน้มเอียงที่จะติดไฟนั้น จะช่วยดับไฟในบุหรี่ที่ไม่ได้สูบภายใน 2 นาที ซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยลดสาเหตุของการเกิดไฟไหม้อันจะส่งผลเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตได้ เช่น กรณีที่คนงานในโรงงานทิ้งก้นบุหรี่ที่ยังไม่ดับ เกิดไฟลุกไหม้ขึ้นเมื่อมีสารที่ติดไฟง่าย เช่น ทินเนอร์ผสมสี เป็นต้น เมื่อ พ.ศ.2536 เกิดเพลิงไหม้โรงงานเคเดอร์ มีผู้เสียชีวิต 188 คน และบาดเจ็บ 469 คน สาเหตุเกิดจากคนงานทิ้งก้นบุหรี่ซึ่งติดไฟขึ้น