'โดนโจรปล้น 10 ครั้ง ก็ไม่เท่าไฟไหม้บ้านครั้งเดียว' เป็นสำนวนที่พูดกันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณในบ้านเรา ซึ่งสำนวนที่ว่านี้ แสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่มีต่อไฟไหม้ว่า มันช่างเป็นภัยร้ายแรงอย่างหนึ่งที่ไม่มีใครอยากเจอ
ถ้าหากไม่ขี้ลืมจนเกินไปนัก เราคงยังจำกรณีไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐมเมื่อปี 2536ได้ ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้มีคนเสียชีวิตถึง 140 คน และบาดเจ็บอีก 400 กว่าคน ซึ่งสาเหตุมาจากการที่คนงานสูบบุหรี่และโยนทิ้งไปโดยไม่ดับ นอกจากนั้น ก้นบุหรี่ ก็ยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดไฟไหม้ป่าอีกด้วย
ดังนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการควบคุมยาสูบแห่งชาติ จึงได้มีแผนการที่จะเปิดตัวบุหรี่ปลอดไฟไหม้ขึ้น ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะลดความเสี่ยงด้านอัคคีภัยซึ่งเป็นผลโดยตรง ส่วนผลทางอ้อมนั้น ก็น่าจะเป็นเหตุผลเรื่องของการลดควันบุหรี่มือสองที่คนรอบข้างจะได้รับ หากมมีใครสักคนจุดบุหรี่ทิ้งไว้
ในหลายประเทศได้มีการผลิตบุหรี่ปลอดไฟไหม้ออกมาจำหน่ายแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2547 และในเดือนกรกฎาคมปีนี้ จะบังคับใช้ครบทั้ง 50 รัฐ แคนาดาใช้มาตั้งแต่ปี 2548 ออสเตรเลียและ ฟินแลนด์เริ่มใช้ปี 2553 และ 27 ประเทศสหภาพยุโรปได้รับหลักการที่จะหันมาผลิตบุหรี่ปลอดไฟไหม้แล้ว
ส่วนประเทศไทยนั้น หากมีการบังคับใช้ ก็จะถือเป็นประเทศแรกในเอเชีย
โอกาสน้อย ไม่ได้แปลว่าไม่มีโอกาส
“เพลิงไหม้ส่วนมากนั้น จะเกิดจากไฟฟ้าลัดจงจรมากเป็นอันดับแรก รองลงมาก็เป็นพวกการอุ่นอาหารทิ้งไว้และลืมปิดเตา ส่วนเพลิงไหม้ที่มีสาเหตุมาจากก้นบุหรี่ หรือบุหรี่ที่ดับไม่สนิทนี่ถือว่าน้อยมาก ซึ่งการจะรู้ว่าไฟไหม้จากสาเหตุใดนั้น ก็จะดูที่บริเวณต้นเพลิงเป็นสำคัญ หากต้นเพลิงอยู่ที่ปลั๊กไฟหรือคัตเอาต์ ก็สันนิษฐานว่าสาเหตุน่าจะมาจากการที่ไฟฟ้าลัดวงจร ถ้าต้นเพลงอยู่ที่เตาไฟในครัว เราก็พอจะรู้ได้ว่ามีเหตุเริ่มต้นมาจากที่นั่น”
พรรค จันทร์สว่าง เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2 ประจำสถานีดับเพลิงบางรัก บอกว่า สาเหตุที่ไฟไหม้อาคารสถานที่ต่างๆ นั้น มีสาเหตุจากก้นบุหรี่น้อยยิ่งกว่าน้อย
“ก้นบุหรี่นั้น ปีหนึ่งๆ ถือว่ามีน้อยนะครับที่มีเพลิงไหม้จากสาเหตุนี้ อย่างในเขตบางรักนี่ ปีที่ผ่านมานี่ก็แทบไม่มีเลย จริงๆ ถ้าสูบบุหรี่บนที่นอนหรือในที่ที่มีเชื้อไฟนี่มันก็มีโอกาสไหม้ แต่ทั้งนี้มันต้องประกอบกับปัจจัยแวดล้อมหลายๆ อย่างเช่น ลมที่พัดเข้ามา หรืออากาศที่แห้ง ถ้าองค์ประกอบไม่เยอะมันก็อาจจะทำให้ผ้าปูที่นอนไหม้เป็นรูแล้วก็อาจจะดับไป แต่ถ้าเป็นไฟฟ้าลัดวงจรนี่ มันมีโอกาสที่ไฟจะลามไปตามสายไฟแล้วไหม้บ้านทั้งหลัง”
แต่พรรคก็ย้ำว่า ที่ว่าน้อยนั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาส ที่ผ่านมา ไฟไหม้จากก้นบุหรี่ อาจจะสร้างความเสียหายเพียงเล็กๆ น้อยๆ ไม่ถึงกับกลายเป็นอัคคีภัยใหญ่โต แต่มันก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นอยู่ดี ดังนั้น การตั้งตนอยู่บนความไม่ประมาทจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
กันไว้ก็ดีกว่าแก้ แย่แล้วจะแก้ไม่ทัน
ถ้าเป็นดังว่า การเกิดขึ้นของบุหรี่ปลอดไฟไหม้ จะเป็นเรื่องตื่นตูมไปหรือเปล่า เพราะอย่างที่นักผจญเพลิงเขาว่า มันเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก
“จริงๆ แล้ว การจะวัดว่าไฟไหม้จากบุหรี่มากน้อยแค่ไหนนั้น มันไม่สามารถวัดได้แน่นอน เพราะระบบของประเทศไทยไม่สามารถไว้ใจได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่ไปดับเพลิงมักจะใส่สาเหตุง่ายๆ ว่าไฟฟ้าลัดวงจร หรือไม่ก็ใส่ในช่องไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งแสดงถึงความด้อยสมรรถภาพของเจ้าหน้าที่ ที่สำคัญเรื่องพวกนี้ใช้เวลาในการพิสูจน์ ต้องลงไปคุ้ยไปเขี่ยถึงจะพบได้”
นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย เป็นอีกคนที่เชื่อมั่นว่าปัญหาไฟไหม้นั้น มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากบุหรี่อย่างแน่นอน และเขาก็ยังอธิบายต่อไปอีกว่าบุหรี่ปลอดไฟไหม้มีประโยชน์กว่าบุหรี่ที่ใช้ในปัจจุบันมาก เพราะทุกวันนี้บุหรี่เวลาจุดแล้ว หากคนไม่ได้สูบต่อ ก็จะไหม้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดมวน ซึ่งจะใช้เวลานานถึง 10-11 นาที และโอกาสที่จะเกิดเพลิงไหม้ก็มีมากกว่าบุหรี่ที่กำลังจะเปลี่ยนมาใช้แน่ๆ เพราะแบบใหม่นี้หากปล่อยวางไว้เฉยๆ ก็จะดับเองภายใน 2 นาที
"หากเรายังใช้แบบเก่าอยู่ เวลาคนกลับบ้านไปแล้วเมา จุดบุหรี่ขึ้นสูบ แต่ยังไม่ทันสูบ ก็ผ่อยหลับไป บุหรี่ก็ตกลงไปถูกผ้าถูกหมอน มันก็ไม่ดับเอง ก็จะลุกที่หมอนที่พรม ก็จะเกิดไฟไหม้ขึ้น”
และนอกจากปัญหาในเมืองแล้วบุหรี่ปลอดไฟไหม้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันไฟป่าอีกด้วย
"มีคนขับรถแล้วโยนบุหรี่ออกไปข้างๆ ทางซึ่งเป็นหญ้าแห้ง ในป่าภาคเหนือหน้าแล้งจะพบซองบุหรี่ที่ขยี้แล้วทิ้งอยู่บนดินเป็นระยะๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนของเราไม่ระวัง ชอบสูบบุหรี่ในป่า ซึ่งถ้าเกิดโยนบุหรี่ที่ยังไม่มอด มันก็สามารถไปติดไม้อะไรได้"
จริงๆ แล้วเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นที่รับรู้ในบริษัทบุหรี่มานานกว่า 20 ปีแล้ว แต่ที่ไม่ยอมปรับตัว ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นการเพิ่มต้นทุนแม้แต่น้อย เพราะกลัวว่าจะกระทบต่อยอดขาย
"สมมติเรานั่งประชุมกันอยู่ แล้วอนุญาตให้สูบบุหรี่ได้ คนที่สูบก็อาจจะจุดขึ้นมา สูบได้ 2 ซื้ดก็วางที่เขี่ยบุหรี่ไว้ที่เขี่ยบุหรี่ ยิ่งประชุมกันมากก็ยิ่งใช้การพูดการจัดกันมาก ก็วางทิ้งไว้ 10-20 นาที ลงท้ายบุหรี่มันก็หมด แต่ถ้าเป็นบุหรี่ใหม่ 2 นาทีมันดับ ถ้าเขาอยากสูบก็ต้องจุดใหม่ แล้วพอสูบไปสูบมามันก็ดับเอง"
ดับก็จุดใหม่ จากใจสิงห์อมควัน
แต่ถ้าหากมองเรื่องนี้ผ่านสายตาของสิงห์อมควัน แน่นอนว่าพวกเขาก็น่าจะเห็นด้วย เพราะไม่มีใครอยากให้เกิดอัคคีภัย แต่ในประเด็นที่ว่าจะสูบบุหรี่น้อยลงจนกระทบต่อยอดขายของบริษัทบุหรี่หรือไม่นั้น พวกเขาให้ความเห็นว่า ไม่น่าจะทำให้เขาสูบน้อยลง ดังเช่น กวิน (ขอสงวนนามสกุล) คอมพิวเตอร์กราฟิก ที่ให้ความเห็นว่าบุหรี่ปลอดไฟไหม้ไม่มีผลกระทบอย่างใดต่อคนสูบบุหรี่อย่างเขา เพราะเมื่อบุหรี่ดับแล้วอยากสูบก็จุดใหม่ ไม่ได้ทำให้ความต้องการอยากสูบบุหรี่ลดลงจากเดิมเลย แต่ก็เป็นเรื่องดีที่มีการคิดทำขึ้นมา
“ช่วยได้นิดหน่อยก็ยังดีกว่า ใช่ไหมล่ะ แต่ไม่ทำให้คนสูบลดน้อยลงหรอก มันคนละส่วนกัน แต่หากเพิ่มเกณฑ์อายุคนซื้อจาก 18 ปี เป็น 20 ปี ก็จะมีส่วนช่วยได้บ้าง อย่างน้อยก็ช่วยให้เด็กซื้อได้ยากขึ้นไม่มากก็น้อย แต่ถ้าหากคนซื้ออยากจะซื้อและคนขายอยากขายก็ซื้อหากันได้อยู่ดี”
ส่วน ชิด (ขอสงวนนามจริง) สถาปนิก ผู้ที่เคยสูบบุหรี่มา 7 ปี และเลิกมาได้ 3 ปีแล้ว พูดถึงบุหรี่ปลอดไฟไหม้ว่า บุหรี่ชนิดนี้น่าจะมีส่วนช่วยในเรื่องของการลด 'ควันบุหรี่มือสอง' มากกว่า
“คนที่สูบบุหรี่นี่ทำให้คนที่ไม่ได้สูบที่อยู่รอบตัวรับสารพิษเข้าไปด้วย เราเองถ้าไม่อยากสูดควันเข้าไปก็เลี่ยงเดินหนีไป แต่เวลาดื่มสังสรรค์เพื่อนๆ ก็สูบกันในวง”
ซึ่งการมาถึงของบุหรี่ปลอดไฟไหม้ที่ดับเองได้ในสองนาทีนั้น ย่อมทำให้ควันบุหรี่มือสอง ที่ปล่อยออกมาแบบไม่ตั้งใจลดลงไปบ้าง แม้เป็นเพียงการลดลงที่เล็กน้อยก็ตาม ส่วนเรื่องการป้องกันอัคคีภัยนั้น ชิดก็มองว่าเป็นเรื่องดีที่มีนวัตกรรมนี้ขึ้นมา
..........
สุดท้ายแล้วแม้บุหรี่ปลอดไฟไหม้ ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะไม่สร้างปัญหาอัคคีภัยได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่มันก็ช่วยลดโอกาสการเกิดของปัญหาไปได้พอสมควร เพราะถ้าหากไม่อยากให้เกิดอุบัติเหตุหรือภัยใดๆ ก็คงจะมีแต่ความไม่ประมาทเท่านั้นที่ช่วยได้แบบเต็มร้อย
>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK