xs
xsm
sm
md
lg

อยากไกล “อัลไซเมอร์” ฟังทางนี้!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หนึ่งในปัญหาสุขภาพของคนในปัจจุบัน “โรคอัลไซเมอร์ และโรคสมองเสื่อม" เป็นโรคที่แพทย์ยอมรับว่าส่งผลกระทบทั้งต่อผู้ป่วยและคนรอบข้างอย่างมาก เพราะนอกจากอาการของโรคทั้งเรื่องลืมง่ายในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เพิ่งผ่านไปไม่นาน ปัญหาการนอนไม่หลับ ที่ทำให้ผู้ป่วยต้องรำคาญใจแล้ว ญาติหรือคนใกล้ชิดยังต้องทนกับความจำแย่ๆของผู้ป่วยด้วย ซึ่งแพทย์เชื่อว่าเพราะเหตุนี้ผู้สูงอายุจึงกลายเป็นภาระของครอบครัวเพราะเป็นกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องสมองเสื่อมและความจำขที่ถดถอยมากกว่าวัยอื่น

จากผลการวิจัยการคัดกรองความจำในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จำนวนกว่า 8,000 ตัวอย่างในพื้นที่ กทม.ของหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบาดวิทยาการทางจิตเวชศาสตร์และสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า หากแยกตัวอย่างเป็นกลุ่มละ 10 คน 6 ใน 10 นั้นมีความบกพร่องด้านความจำเสี่ยงต่อหการเกิดภาวะสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ มูลนิธิอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย ซึ่งดูแลเรื่องนี้โดยตรงงจึงต้องเร่งให้ความรู้ทั้งสาเหตุและวิธีการป้องกันของโรคดังกล่าวอย่างจริงจัง ด้วยการจัดรณรงค์โครงการสร้างสรรค์สังคมไทย ห่างไกลอัลไซเมอร์ ต่อเนื่องและในปี 2554 ถือเป็นปีที่ 3
ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ
สำหรับพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเป็นอัลไซเมอร์นั้น ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบาดวิทยาฯ อธิบายว่า ที่เด่นๆ ได้แก่ การกินอาหารที่หวาน มัน เค็ม ทำให้มีไขมันเกาะที่เส้นเลือด ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ สมองจึงฝ่อและเสื่อมในที่สุด ซึ่งพบบ่อยในผู้ที่เป็นโรคความดัน เบาหวาน หัวใจ โดยผู้ป่วยเหล่านี้น่าห่วงมากหากสมองเสื่อมแล้วจะส่งผลต่อการรักษาโรคเรื้อรังที่เป็นอยู่ด้วย เนื่องจากผู้ป่วยจะไม่สามรถให้รายละเอียดเกี่ยวกับอาการของโรคแก่แพทย์ได้ และบางครั้งจดจำช่วงเวลา ในการนัดพบกับแพทย์ การกินยาไม่ได้ทำให้สุขภาพแย่ลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ผู้ที่ไม่ชอบใช้ความคิดก็ถือว่าเสี่ยงด้วยเช่นกัน เพราะสมองไม่เกิดการพัฒนา สาเหตุประการสุดท้ายที่สำคัญมากๆ แต่คนไม่ค่อยรู้ คือ เรื่องของการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคมภายนอก จึงไม่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อฝึกสมอง
นพ.ยุทธ โพธารามิก
ส่วนวิธีการป้องกันนั้น ศ.พญ.นันทิกาบอกว่า ทำได้ง่ายๆ ด้วยการออกกำลังสมองตามวิธีที่เรียกว่า นิวโรบิกส์ (Neurobic Exercise) ซึ่งก็คือการพยายามทำกิจกรรมใหม่ๆ ด้วยการเชื่อมโยงการทำงานของประสาทการรับรู้ทั้ง 5 ซึ่งได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส และการสัมผัสให้ทำงานร่วมกัน เช่น หากถนัดมือขวาก็ลองใช้มือซ้ายแปรงฟัน การเข้าไปในห้องที่คุ้นเคยโดยไม่เปิดไฟ และใช้การสัมผัสแทนการมอง ซึ่งออกกำลังสมองด้วยนิวโรบิกส์จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงและกระตุ้นให้เซลล์ของสมองในส่วนของการรับรู้ทั้ง 5 ส่วนยังคงอยู่ และทำงานได้ต่อเนื่อง

“วิธีหลักๆ ที่ใช้ได้ในทุกเพศทุกวัย คือ การรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสมอง เช่น รับประทานปลาที่มีสารโอเมกา 3 มีอยู่ในปลาทะเล ออกกำลังกายวันละ 30 นาที เพราะการออกกำลังกายจะทำให้เกิดความเครียดเล็กน้อยต่อร่างกาย สมองจึงต้องการพลังงานมากขึ้น และปลดปล่อยสารเคมี ทำให้นูรอนในสมองแข็งแรงขึ้น และที่สำคัญควรฝึกใช้สมองมากๆ เช่น การเล่นเกมอย่าง หมากเก็บ ปาเป้า โยนห่วง เพื่อฝึกการกะระยะความแม่นยำ หรืออาจจะฝึกทักษะการวิเคราะห์ด้วยเกมสากลอย่าง ครอสเวิร์ด การคิดเลขง่ายๆ เช่น บวกลบคูณหารบ่อยๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นการทำงานของสมองตลอดเวลา” ศ.พญ.นันทิกาแนะนำ

นอกจากนี้ การคิดในแง่บวกก็ถือว่าช่วยได้เช่นกัน อาทิ การควบคุมการทำงานของสมองให้ดี ด้วยการเชื่อมั่นว่าคุณมีความจำที่ดี ประการสุดท้ายที่ไม่ควรลืม คือ พยายามพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ

แต่เคล็ดลับที่ นพ.ยุทธ โพธารามิก ประธานมูลนิธิอัลไซเมอร์ฯ แม้ว่าบางคนอาจเห็นเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม แต่แพทย์ยืนยันแล้วว่าสามารถช่วยพัฒนาสมองได้ นั่นคือ การเล่นไพ่ตอง ไพ่นกกระจอก ไพ่ป๊อก ซึ่งบริหารสมองทั้งซีกซ้าย และซีกขวา เพื่อฝึกทักษะความคิด ความจำให้ดีขึ้น

ส่วนคนที่มีคู่ การมีเพศสัมพันธ์ที่สมหวังอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นอีกวิธีช่วยป้องกันอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน เพราะความสุขที่เกิดขึ้นจะช่วยให้สารอะดรีนาลีนหลั่งมากขึ้นและทำให้สมองเปล่งปลั่งสดชื่นได้เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น