เอเจนซีส์ – การเรียนรู้ภาษาที่ 2 ช่วยเพิ่มพลังสมองที่สามารถปกป้องคุณจากโรคอัลไซเมอร์
งานวิจัยชิ้นใหม่แสดงให้เห็นว่าคนที่พูดได้สองภาษาสามารถรับมือความท้าทายทางสมองได้ดีกว่า และยังสามารถทำงานหลายอย่างพร้อมกันได้มากกว่าคนที่พูดได้ภาษาเดียว อีกทั้งยังเริ่มต้นอาการสมองเสื่อมช้ากว่า 4-5 ปี
นักวิจัยที่ค้นพบเรื่องนี้ กล่าวว่า การสลับระหว่างสองภาษาเป็นการกระตุ้นกิจกรรในสมอง หรือเท่ากับเป็นการบริหารสมองอย่างต่อเนื่องที่ทำให้คนเรามีสติปัญญาสำรองเพิ่มขึ้น
ดร.เอลเลน เบียลีสโตค ผู้นำการวิจัย ชี้ว่า ประโยชน์นี้ชัดเจนที่สุดในกลุ่มคนที่เรียนรู้ภาษาที่สองขณะยังเป็นเด็ก
กระนั้น งานวิจัยระบุว่าคนที่เรียนรู้ภาษาใหม่ในช่วงอายุ 40-59 ปี ได้รับประโยชน์ในแง่นี้ด้วยเช่นกัน
ก่อนหน้านี้ นักภาษาศาสตร์ เคยระบุว่า เด็กที่เติบโตในครอบครัวที่ใช้สองภาษาอาจสับสนและไม่สามารถใช้ภาษาใดภาษาหนึ่งได้ดี
แต่การศึกษาล่าสุดได้ผลตรงกันข้าม โดยบ่งชี้ว่าเด็กเหล่านั้นมีทักษะสมองดีกว่า
ดร.จูดิธ โครลล์ นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยรัฐเพนซิลเวเนีย ย้ำว่าความสามารถในการใช้สองภาษาดีต่อคนเรา
งานศึกษานี้จัดทำขึ้นในมหาวิทยาลัยยอร์กในโทรอนโท ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ 211 คนในแคนาดา โดยครึ่งหนึ่งพูดได้ 2 ภาษา ที่เหลือพูดได้ภาษาเดียว
ผู้ป่วยที่พูดได้สองภาษาได้รับการวินิจฉัยว่าสมองเสื่อมช้ากว่าผู้ป่วยที่เหลือเฉลี่ย 4.3 ปี และพบว่ามีอาการสมองเสื่อมเริ่มแรกช้ากว่า 5.1 ปี
คนที่พูดสองภาษาจะสลับการใช้ภาษาอย่างง่ายดาย และประดิดประดอยคำพูดอย่างต่อเนื่อง เมื่อพูดกับคนอื่น คนเหล่านี้มักเลือกคำหรือวลีจากภาษาที่สามารถถ่ายทอดความคิดของตัวเองได้ชัดเจนที่สุด
กระนั้น คนที่ถนัดสองภาษามีความผิดพลาดน้อยมากในการสลับไปใช้อีกภาษาในการคุยกับคู่สนทนาที่พูดได้ภาษาเดียว คนเหล่านี้จึงได้ฝึกปรือการทำภารกิจหลายอย่างพร้อมกันมากขึ้น
การพูดได้สองภาษาไม่ได้ป้องกันการโจมตีของโรคอัลไซเมอร์ แต่เมื่อโรคนี้เริ่มการคุกคามอย่างเงียบๆ สมองของคนใช้สองภาษาจะสามารถรับมือได้ดีกว่าและทำให้อาการของอัลไซเมอร์ปรากฏช้าลง
ดร.เบียลีสโตค สำทับระหว่างการนำเสนองานวิจัยในที่ประชุมประจำปีของอเมริกัน แอสโซซิเอเชัน ฟอร์ ดิ แอดวานซ์เมนต์ ออฟ ไซนส์ว่า การสลับระหว่างสองภาษาช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนสำคัญที่สุดที่บริหารระบบควบคุมในร่างกายที่ปกติแล้วจะเสื่อมถอยตามวัย
งานวิจัยต่อยอด ซึ่ง ดร.เบียลีสโตค จะเผยแพร่ปลายปีนี้ บ่งชี้ว่า การใช้สองภาษาอาจเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสมอง กระนั้น นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าพลังสมองที่เพิ่มขึ้นจากการใช้สองภาษาไม่ได้ทำให้คนๆ นั้น ฉลาดขึ้นหรือเรียนรู้ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยจาก เจเน็ต เวอร์เกอร์ นักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบียในแคนาดา ที่ทำการทดสอบกับทารกในสเปนที่เติบโตในบ้านที่พูดสองภาษา และพบว่าเด็กเหล่านี้ไม่มีความสับสนในทั้งสองภาษา แถมเรียนรู้ที่จะมีสมาธิกับสิ่งต่างๆ เร็วขึ้น