xs
xsm
sm
md
lg

360 องศา: แนะผู้สูงวัยพูดคุยกระตุ้นความจำ เด็กใช้ปากกาเรียนเร็วกว่าคีย์บอร์ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การเขียนด้วยปากกาเกี่ยวข้องกับประสาทหลายส่วนมากกว่าการพิมพ์บนแป้นพิมพ์
เดลิเมล์ – แนะผู้สูงวัยกระตุ้นสมองด้วยการโทรศัพท์ หรือคุยกับคนอื่น ขณะที่ผลศึกษาอีกชิ้นระบุเด็กที่ใช้ปากกาความจำดีกว่าเด็กที่เขียนข้อความด้วยการกดคีย์บอร์ด

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซูริก สวิตเซอร์แลนด์ พบว่าการพูดคุยเรื่องทั่วไปช่วยกระตุ้นความจำได้ดีพอๆ กับการเล่นเกมฝึกสมอง

จากการเปรียบเทียบรายงานการศึกษา 36 ฉบับ เกี่ยวกับการฝึกสมองที่จัดทำขึ้นระหว่างปี 1970-2007 นักวิจัยพบว่าการศึกษาบางฉบับ บ่งชี้ว่า ทั้งผู้สูงวัยสุขภาพดีและผู้สูงวัยที่ความจำเริ่มเสื่อม สามารถจดจำคำได้ดีขึ้นภายหลังฝึกสมอง

อย่างไรก็ตาม งานศึกษาบางฉบับกลับพบว่า พัฒนาการนี้เกิดขึ้นกับคนที่พูดคุยเกี่ยวกับศิลปะเท่านั้น

การค้นพบว่าการปฏิสังสรรค์ทางสังคมมีประสิทธิภาพในการฟื้นความจำนี้ มีขึ้นหลังจากที่มูลนิธิเอจ คอนเซิร์นออกมาเตือน ว่า คนอายุ 65 ปีขึ้นไปนับล้านกำลังรู้สึกว่าตนเองถูกโดดเดี่ยวอยู่ในบ้าน และเตือนว่าการใช้ชีวิตโดยปราศจากกิจกรรมการออกกำลังกายกำลังระบาดในอังกฤษ

ดร.ไมค์ มาร์ติน ผู้ร่วมจัดทำรายงานฉบับนี้ ระบุว่า สมองคนส่วนใหญ่จะเสื่อมลงเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการสูญเสียความจำและไร้ความสามารถในการวางแผน มีสมาธิกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือความคล่องแคล่วว่องไวในการทำสิ่งต่างๆ

อัตราความเสื่อมปกติอาจเร็วขึ้นสำหรับบางคน นำไปสู่ภาวะการเริ่มหลงๆ ลืมๆ ที่นักวิจัยชี้ว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมเมื่อบั้นปลายชีวิต

แม้การศึกษาหลายฉบับบ่งชี้ว่าการฝึกสมองอาจช่วยชะลอ หรือยับยั้งภาวะสมองเสื่อมได้ แต่การฝึกสมองดังกล่าวมีด้วยกันหลายรูปแบบ

ดร.มาร์ติน สรุปในรายงานที่เผยแพร่ในคอเครน ไลบรารี ว่า นักวิจัยจำเป็นต้องปรับปรุงวิธีประสานงานศึกษาเพื่อค้นหาวิธีป้องกันภาวะความจำเสื่อมในผู้สูงวัย

ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์ แอนน์ แมงเกน ผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านจากมหาวิทยาลัยสตาเวนเจอร์ในนอร์เวย์ และ ฌอง-ลุค เวเลย์ นักสรีรประสาทวิทยาของมหาวิทยาลัยมาร์เซย์ ฝรั่งเศส ตีพิมพ์ผลงานการค้นพบในวารสารแอดวานซ์ อิน แฮปติกส์ ระบุว่าเด็กที่เขียนหนังสือมีความจำดีกว่าเด็กที่ใช้วิธีพิมพ์

เนื่องจากบางสิ่งในกระบวนการทำงานของสมองจะขาดหายไปเมื่อสลับจากปากกาและหนังสือไปเป็นหน้าจอคอมพิวเตอร์และคีย์บอร์ด

สาเหตุก็คือการอ่านและเขียนเกี่ยวข้องกับประสาทหลายส่วนของคนเรา

เมื่อเขียนด้วยมือ การเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องจะทิ้งรอยประทับไว้บนสมองส่วนที่ควบคุมส่วนประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า sensorimotor กระบวนการนี้ช่วยให้เราจดจำตัวหนังสือได้

ส่วนการแตะและกดแป้นพิมพ์สร้างการตอบสนองที่แตกต่างในสมอง และไม่เข้มข้นเท่ากลไกการเรียนรู้จากการเขียน

ในการทดลอง อาสาสมัคร 2 กลุ่มถูกขอให้เรียนรู้ตัวอักษรที่ไม่รู้จัก กลุ่มแรกถูกสอนให้เขียนด้วยมือ อีกกลุ่มถูกสอนให้กดบนแป้นพิมพ์

ในระหว่างสัปดาห์จะมีการบันทึกการจดจำตัวอักษร ซึ่งผลปรากฏว่า กลุ่มที่เขียนด้วยปากกาและอ่านจดจำได้ดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น