xs
xsm
sm
md
lg

พบภาวะสมองเสื่อมสูงในกลุ่มวัยชรา! แนะลอง “นวดไทย-ฟังดนตรี-ใช้แสงบำบัด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผยพบภาวะสมองเสื่อมสูงขึ้นในวัยชรา แย้ม อีก 1-2 ปี อาจมียากลุ่มทดแทน ระบุชัดมีแนวทางรักษาเสริมหลายตัวเลือกทั้ง “นวดไทย-ฟังดนตรี-ใช้แสงบำบัด”

ผศ.นพ.สุขเจริญ ตั้งวงศ์ไชย อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานประชุมวิชาการร่วมคณะแพทยศาสตร์ 3 สถาบัน พ.ศ. 2554 : จุฬาฯ-รามาฯ-ศิริราช เกี่ยวกับแนวทางการรักษากลุ่มอาการโรคสมองเสื่อม (Dementia)ว่า ปัจจุบันโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากคนไทยมีอายุขัยยืนยาวขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โดยกลุ่มอาการสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มภาวะสมองเสื่อมที่รักษาไม่ได้ ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ หรือสมองเสื่อมจากปัญหาหลอดเลือดตีบ ซึ่งพบมากถึงร้อยละ 90 และ 2.กลุ่มภาวะสมองเสื่อมที่รักษาได้ อาจเกิดจากโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคซิฟิลิสสมอง หรือขาดวิตามินสูง กลุ่มนี้พบน้อยประมาณร้อยละ 10
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ผศ.นพ.สุขเจริญ กล่าวว่า ปัจจุบันแพทย์จะรักษาโดยการให้ยาเพิ่มสารสื่อประสาทเกี่ยวกับความจำ จำพวกยากลุ่มโดเนพิซิล (donepezil)ไรวาสทิกมีน (rivastigmine) กาแลนตามีน (galantamine) แต่ปัญหาคือ ยากลุ่มเหล่านี้เป็นยานอกบัญชียาหลัก แต่เชื่อว่า อีกประมาณ 1-2 ปี จะมียาชื่อสามัญ หรือ Local made ซึ่งเป็นยาที่หมดสิทธิบัตรแล้ว และนำเข้าวัตถุดิบมาจากประเทศอื่น แต่มาบรรจุในประเทศไทย ก็จะเป็นอีกทางเลือกให้กับผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีแนวทางการบำบัดรักษาอื่นๆ ร่วมด้วย ที่น่าสนใจคือ การนวดในลักษณะการนวดผ่อนคลาย ร่วมกับการฟังเพลง เรียกว่า massage and music therapy ซึ่งสถาบันทางการแพทย์หลายแห่งในต่างประเทศมีการทดลองทำวิธีนี้ ซึ่งพบว่า มีผลทำให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มีความจำที่ดีขึ้น เพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกผ่อนคลาย ทำให้อารมณ์ดีขึ้น และการรับรู้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยมีการศึกษาเรื่องนี้เช่นกัน แต่เน้นการนวดแผนไทยเพียงอย่างเดียว โดยโรงพยาบาลจิตเวชสงขลา และที่คิดว่าน่าสนใจ คือ แถบยุโรป อเมริกา ศึกษาแนวทาง Light therapy หรือการใช้แสงสว่าง สามารถทำให้ความจำของผู้ป่วยดีขึ้นสง โดยจะทำการทดลองโดยนำผู้ป่วยไว้ภายในห้องที่ถูกสร้างขึ้นพิเศษ และเปิดไฟที่มีความสว่างมากในระดับหนึ่ง เพื่อให้พวกเขารับรู้ถึงแสงสว่างว่า ช่วงไหนคือกลางวันกลางคืน เป็นการกระตุ้นศูนย์รับรู้ที่สูญเสียไปจากภาวะสมองเสื่อมนั่นเอง แต่ทั้งหมดเป็นเพียงงานวิจัยที่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เพียงแต่เป็นแนวทางการศึกษาที่ดำเนินอยู่ ณ ปัจจุบัน

อัลไซเมอร์ถือเป็นกลุ่มอาการสมองเสื่อมที่รักษาไม่หาย ทำได้เพียงให้อาการดีขึ้น ขณะเดียวกันจำนวนผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในประเทศไทยก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น แต่ในส่วนของแพทย์ที่ทำการรักษาเกี่ยวกับโรคนี้โดยตรงยังมีจำนวนไม่เพียงพอ ยาที่ใช้รักษาเกี่ยวกับความจำก็ยังไม่ได้บรรจุอยู่ในบัญชียาหลัก การให้ยากับผู้ป่วยจึงไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ และอีกปัญหาหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ สังคมไทยยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ โดยยังมองว่าการที่คนแก่ความจำเสื่อมเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่จริงๆ แล้วอัลไซเมอร์ คือ โรคที่มักเกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ และมีความเจ็บปวดกับภาวะที่เป็นมากเช่นกัน” ผศ.นพ.สุขเจริญกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น