เครือข่ายต้านเหล้า ปลื้ม ครม.ไฟเขียว กฎหมายลูกคุมโฆษณาเหล้า หลังคอยมา 2 ปี หวังการบังคับใช้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้าน “นักวิชาการ” รู้ทันเบรกผู้ผลิตอย่าริหาช่องโหว่อีก แนะเยาวชนอย่าหลงกลกลุ่มพ่อค้า สร้างภาพแฝงกิจกรรมบังหน้า ขณะที่เครือข่ายเยาวชนวอนจัดระเบียบคุมเหล้าปั่นรอบสถานศึกษา ควรเข้มห้ามซดเหล้าบนท้ายกระบะเล่นน้ำช่วงสงกรานต์นี้
ดร.ปาริชาติ สถาปิตานนท์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายนักวิชาการเพื่อเฝ้าระวังปัญหาแอลกอฮอล์ กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการแสดงภาพลักษณ์เพื่อประกอบการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์เครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ พ.ศ.... ที่ทำให้การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่อด้วยขั้นตอนที่ยากขึ้น ว่า ดีใจที่มีกฎหมายชัดเจนเป็นรูปธรรม ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เพราะที่ผ่านมา มีแต่การตีความเข้าข้างตัวเอง แต่จะดีกว่านี้ถ้าบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่หาช่องโหว่ของกฎหมาย และไม่ยึดติดแค่ว่ากฎหมายห้ามทำอะไร ซึ่งควรใช้โอกาสนี้ดำเนินธุรกิจในทางที่ถูกต้อง เพื่อช่วยลดปัญหาของสังคม
“นอกจากการมีกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว รัฐบาลควรดูแลเรื่องของนโยบายการตลาดรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ และบรรดาบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยการช่วยทำให้เด็กและเยาวชนเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะที่ผ่านมามีการดำเนินธุรกิจแฝงผ่านทาง กีฬา ดนตรี แฟชั่น และด้านเทคโนโลยี รวมทั้งการเสริมสร้างความรู้ให้กับเด็ก ซึ่งวิธีการดังกล่าวทำให้เด็กรู้สึกดีกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจจะทำให้เยาวชนกลายเป็นแฟนพันธุ์แท้ของธุรกิจนี้ไปโดยไม่รู้ตัว” ดร.ปาริชาติ กล่าว
นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ภาคประชาชนพอใจกับกฎกระทรวงดังกล่าวหลังจากรอคอยมานานถึง 2 ปี ซึ่งจะช่วยให้กระทรวงสาธารณสุขและภาคธุรกิจมีแนวปฏิบัติที่ถูกต้อง เพราะมีรายละเอียดชัดเจน จึงคิดว่าการบังคับใช้จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรมีมาตรการเพิ่มเติมโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึงนี้ เช่น การห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถหรือท้ายรถกระบะ
ด้านน.ส.จิราภรณ์ กมลรังสรรค์ นักศึกษาปี 2 มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์รู้ทันแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ทางเครือข่ายต้องการเรียกร้องให้ออกกฎหมายควบคุมเหล้าปั่น เพราะขณะนี้รอบสถานศึกษามีร้านเหล้าปั่นจำนวนมาก จึงอยากชี้ให้รัฐบาลเห็นว่า เหล้าปั่นเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่คิดขึ้นมาให้เยาวชนหันมาทดลองดื่ม โดยปรับแต่งรสชาติ มีสีสันสวยงามหลอกล่อ ทั้งที่ปริมาณแอลกอฮอล์ไม่ได้ลดลงกว่าเหล้าปกติเลย และรัฐบาลควรจัดระเบียบร้านเหล้ารอบสถานศึกษาโดยการควบคุมการออกใบอนุญาต