สภากาชาดไทย เผย ประชาชนบริจาคเลือดเพิ่มขึ้น เหตุเสียดายเห็นผู้ชุมนุมเสื้อแดงไม่เห็นคุณค่า เทเลือดทิ้งประท้วงทางการเมือง วันเดียวคนกทม.บริจาค 1,485 ยูนิต ระบุ ถูกเลือดกระเด็นใส่ 20 วันรู้ผลติดเชื้อโรคหรือไม่
วันที่ 18 มีนาคม ที่โรงแรมริชมอนด์ พญ.สร้อยสอางค์ พิกุลสด ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวภายหลังเปิดการประชุมวิชาการงานบริการโลหิตระดับชาติ ประจำปี 2553 ว่า ในปีนี้ยอดผู้บริจาคโลหิตตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น โดยมีผู้บริจาคโลหิตเฉลี่ยวันละประมาณ 1,500 ยูนิต จากปีที่ผ่านมามีผู้บริจาคเพียงวันละประมาณ 1,200 ยูนิต เพิ่มขึ้นวันละ 800 กว่าคน โดยวันที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมา เพียงวันเดียวมีผู้บริจาคโลหิตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) สูงถึง 1,485 ยูนิต
พญ.สร้อยสอางค์ กล่าวต่อว่า สำหรับเลือดที่รับบริจาคในวันที่ 18 มีนาคม 2553 ที่พร้อมกระจายให้แก่โรงพยาบาลในพื้นที่ กทม.มีถึง 1,620 ยูนิต และพร้อมกระจายลงพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนใต้ อีกร้อยละ 35-50 ที่สำคัญ ยังสำรองเลือดกรณีฉุกเฉินอีก 1,000 ยูนิต ซึ่งเป็นเลือดที่เตรียมพร้อมกรณีเหตุชุมนุมที่อาจเกิดความรุนแรงได้ โดยแบ่งเป็นเลือดกรุ๊ปเอ 250 ยูนิต กรุ๊ปบี 330 ยูนิต กรุ๊ปโอ 330 ยูนิต และกรุ๊ปเอบี อีก 90 ยูนิต ทั้งนี้ หากมองในภาพรวม ถือว่า การบริจาคโลหิตของคนไทยเพิ่มขึ้น จาก 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้บริจาคพียงปีละแสนยูนิต แต่ปัจจุบันมีสูงถึงปีละ 4 แสนยูนิต และคาดว่าในปี 2553 จะสูงถึง 5 แสนยูนิตแน่นอน
“จำนวนผู้บริจาคโลหิตที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ น่าจะมาจากแรงกระตุ้นจากการกระทำของผู้ชุมนุมที่เจาะเลือด และนำไปเทบริเวณสถานที่ต่างๆ เพราะหลังจากวันนั้นมีโทรศัพท์โทร.เข้ามาที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทยหลายร้อยคู่สาย เพื่อแสดงความจำนงในการขอบริจาคโลหิต โดยให้เหตุผลว่า เสียดายเลือด จึงอยากบริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยมากกว่า”พญ.สร้อยสอางค์ กล่าว
พญ.สร้อยสอางค์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจน คือ ผู้ที่เคยบริจาคโลหิตจะรู้สึกว่า สิ่งที่ผู้ชุมนุมกระทำไม่เรียกว่าการบริจาคที่ถูกต้อง เนื่องจากการบริจาคต้องไม่หวังสิ่งตอบแทน และการบริจาคโลหิตต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการรักษา เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย ส่วนที่กลุ่มผู้ชุมนุมกระทำนั้น เข้าใจว่า เพื่อต้องการเรียกร้องทางการเมือง แต่ไม่เรียกว่าการบริจาคแน่นอน นอกจากนี้ น่าจะส่งผลให้ผู้ที่ไม่เคยบริจาคหันมาบริจาคโลหิตเพิ่มขึ้น เพราะรู้สึกว่าน่าจะนำโลหิตมาใช้ประโยชน์มากกว่า เนื่องจากทุกวันนี้ผู้ป่วยโรคเลือด อย่างผู้ป่วยธาลัสซีเมีย รวมทั้งผู้ป่วยอุบัติเหตุ ผู้ป่วยฉุกเฉิน ยังคงต้องการเลือดอีกจำนวนมาก ซึ่งการบริจาคโลหิตแต่ละครั้งจะใช้เพียงคนละประมาณ 350-450 ซีซี
เมื่อถามว่า หากผู้ชุนนุมในต่างจังหวัดมีการเลียนแบบพฤติกรรมนำเลือดไปเททิ้งอีก จะเป็นอย่างไร พญ.สร้อยสอางค์ กล่าวว่า ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวอีก และเชื่อว่า หากจังหวัดอื่นๆ หรือพื้นที่ใดก็ตามปฏิบัติในลักษณะเช่นนี้ ผลลัพธ์ที่กลับมาย่อมไม่มีใครเห็นด้วยแน่นอน โดยในวงการการรับบริจาคเลือดก็ไม่เห็นด้วย เพราะทราบดีว่าเลือดมีคุณค่ามากเพียงใด
ต่อข้อคำถามว่า หากเลือดของกลุ่มผู้ชุมนุมสัมผัสถูกร่างกาย หรือใบหน้าจะมีโอกาสติดเชื้อหรือไม่ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ กล่าวว่า หากร่างกายไม่เป็นแผล เชื้อโรคก็เข้าสู่ร่างกายได้ยากขึ้น แต่หากไปเกาหรือมีแผลที่ร่างกายก็ถือว่าเสี่ยง รวมทั้งเลือดกระเด็นเข้าดวงตา ก็มีโอกาสติดเชื้อเช่นกัน ส่วนจะเป็นเชื้อชนิดใดก็ขึ้นอยู่กับเลือดนั้นๆ ทั้งนี้ บุคคลใดที่สัมผัสถูกเลือด และต้องการตรวจสอบว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ จำเป็นต้องรอเวลาให้เชื้อทำปฏิกิริยากับเลือดราว 20 วัน จึงจะสามารถตรวจพบได้