xs
xsm
sm
md
lg

สภากาชาดฯไม่เจาะเลือดให้เสื้อแดง ชี้ใช้เลือดผิดจุดประสงค์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภากาชาดไทยปฏิเสธเจาะเลือดให้เสื้อแดง ชี้ใช้เลือดผิดจุดประสงค์ ระบุหากเจาะผิดวิธีเสี่ยงช็อก แขน-ขาชา รุนแรงสุดอัมพฤษ์อัมพาต หวั่นคนเสื้อแดงประกาศจะเจาะเลือด100,000 คนให้ได้จำนวน 1,000,000 ซีซีเพื่อจะนำไปราดประตูทุกประตูของทำเนียบรัฐบาลเสี่ยงติดเชื้อ หวั่นหากเจาะจริงจะทิ้งเข็มลงถังขยะ เดือดร้อนกทม.เวลาเก็บ พนักงานเก็บขยะอาจจะถูกเข็มทิ่มได้

พ.ท.พญ.อุบลวัณณ์ จรุงเรืองฤทธิ์ รองผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงประกาศจะเจาะเลือดคนเสื้อแดง 100,000 คนให้ได้จำนวน 1,000,000 ซีซีเพื่อจะนำไปราดประตูทุกประตูของทำเนียบรัฐบาล ว่าการเจาะเลือดถือเป็นหัตถการทางการแพทย์ เป็นการเจาะเพื่อนำเลือดออกจากร่างกายไปใช้ให้เกิดประโยชน์ คือตรวจหาโรคและเพื่อการบริจาค

“การเจาะเลือดจำเป็นต้องทำโดยผู้ที่มีความชำนาญ เช่นแพทย์หรือพยาบาล ปกติจะเจาะบริเวณข้อพับแขนด้านหน้า ซึ่งมีเส้นเลือดดำ เส้นเลือดแดง และเส้นประสาทอยู่เรียงกัน หากไม่ใช่ผู้ชำนาญการแล้ว อาจจะเจาะผิดเส้น หากเจาะไปโดนเส้นเลือดแดง เลือดก็จะไหลไม่หยุด หากเจาะไปโดนเส้นประสาทก็จะรู้สึกชา หรือแม้กระทั่งเส้นประสาทเสียหายได้เช่นกัน อาจทำให้เกิดอาการช็อก แขนขาชา บางครั้งการเจาะที่ไม่เชี่ยวชาญอาจไปถูกเส้นประสาทที่อยู่ใกล้ ๆ และทำให้เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้ ถ้ามีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น ความดันโลหิตสูง หรือฮิโมฟิเลีย (โรคเลือดไหลไม่หยุด) จะทำให้หมดสติได้ และการเจาะต้องอยู่สภาพปลอดเชื้อ ถ้าคนเจาะไม่มีความชำนาญ ก็อาจจะเกิดอันตราย และถ้าเจาะไม่ถูกวิธี คือเจาะในสภาพไม่ปลอดเชื้อ ไม่ใช้แอลกอฮอล์เช็ดผิวหนังเพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนก็จะติดเชื้อได้ ”

“ในขณะที่การเจาะเลือดเพื่อบริจาคทั่วไปจะอยู่ที่ 450 ซีซี แต่คนที่จะบริจาคเลือดจะมีการเตรียมตัวมาให้อยู่ในสภาพที่พร้อมก่อนมาบริจาค โดยตามเกณฑ์ผู้บริจาคจะต้องมีสุขภาพที่แข็งแรง และที่สำคัญอุปกรณ์ที่ใช้ต้องผ่านการฆ่าเชื้อ และไม่ใช้ซ้ำ ทั้งนี้ เป็นห่วงการให้เลือดในขณะที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่อ่อนเพลียจากการชุมนุมรวมทั้งอากาศร้อน การพักผ่อนไม่เพียงพอจะทำให้เกร็ดเลือดต่ำ ทำให้เกิดโรคฮีโมฟีเลียหรืออาการเลือดไหลไม่หยุดขึ้นได้ ซึ่งผู้เจาะต้องมีความรู้ด้านกายวิภาคเพื่อแยกแยะระหว่างเส้นเลือดแดง เส้นเลือดดำ และเส้นประสาท หากเจาะผิดก็ทำให้เกิดอันตรายได้ และหากไม่มีการฆ่าเชื้อที่ดีก็ทำให้ติดเชื้อสู่กระแสเลือดได้ แต่กลุ่มเสื้อแดงมาตากแดดชุมนุม 2-3 วันแล้ว หากเจาะเลือดออกในปริมาณดังกล่าว ก็อาจจะเป็นลมหน้ามืดได้เหมือนกัน”

นอกจากนี้ในประเด็นของการนำเลือดไปเทที่หน้าประตูทุกประตูของทำเนียบรัฐบาลนั้น รองผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง เพราะในทางการแพทย์ เมื่อเลือดหรือแม้กระทั่งของเหลวและสารคัดหลั่งอื่นๆ ถูกเจาะออกมาจากร่างกายจะถือว่าเป็นวัสดุติดเชื้อ เวลาทิ้งจะต้องใส่ถุงเฉพาะและทิ้งในถังขยะติดเชื้อเท่านั้น ไม่สามารถนำไปทิ้งที่อื่นได้ หากระบบการกำจัดวัสดุติดเชื้อจำพวกเลือดและสารคัดหลั่งของโรงพยาบาลใดไม่จัดระบบการทิ้งให้เป็นไปตามนี้ ก็จะถือว่าผิดมาตรฐานโรงพยาบาลในการกำจัดวัสดุติดเชื้อ

“หากคนเสื้อแดงเอาเลือดมาเททิ้งจริง เลือดเหล่านี้ก็มีสิทธิแพร่กระจายเชื้อโรคได้ หากเจาะมาจากคนที่เป็นเอชไอวี ตับอับเสบชนิดบีและชนิดซี หากคนที่นำไปเท หรือคนที่เดินผ่านไปผ่านมาสัมผัสเลือดเหล่านั้นในขณะที่มีบาดแผล ก็มีโอกาสติดเชื้อได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง”

อย่างไรก็ตาม นาวาโท แพทย์หญิง อุบลวรรณกล่าวต่อไปอีกว่า หากคนเสื้อแดงยืนยันว่าจะเจาะจริง สิ่งที่ตามมาก็คือการทิ้งเข็มเจาะเลือดถึง100,000 อันที่จะเป็นภาระของกทม.ที่จะต้องมาเก็บขยะภายหลัง โดยเข็มเหล่าหากไม่เก็บทิ้งตามมาตรฐานของโรงพยาบาล แต่ทิ้งลงถังขยะทั่วไป ก็จะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ที่มาเก็บขยะด้วย จึงอยากวอนให้ผู้ชุมนุมเห็นแก่สุขภาพของประชาชนส่วนรวมที่อาจติดเชื้อจากเลือดที่เอาไปทิ้ง และพนักงานเก็บขยะที่อาจได้รับอันตรายจากการเก็บเข็มเจาะเลือดด้วย

“ขอเรียกร้องไม่ให้นำเลือดไปใช้ในสัญลักษณ์ทางการเมือง เพราะการบริจาคเลือดเป็นเรื่องของบุญกุศล อยากให้ต่อสู้ด้วยวิธีทางอื่นดีกว่า เพราะจะเป็นอันตรายต่อผู้ชุมนุมเองด้วย ซึ่งตามปกติการบริจาคเลือดให้สภากาชาดเพื่อช่วยเหลือคน มีอย่างเพียงพออาจจะขาดช่วงหน้าร้อนหรือปิดเทอมบ้าง แต่ไม่อยากให้เอาประเด็นไปเกี่ยวข้องกัน หากเจาะแล้วไม่เกิดประโยชน์ก็ไม่ควรทำ ”พ.ท.พญ.อุบลวัณณ์ กล่าว

นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า การที่ผู้ชุมนุมจะมีการเจาะเลือดนั้น เชื่อว่าผู้ที่ดำเนินการเจาะเลือดไม่ใช่แพทย์ เนื่องจากหากเจาะคนเป็นแสนคนต้องใช้แพทย์เป็นร้อยคน ซึ่งที่ชุมนุมคงไม่มีเพียงพอที่จะดำเนินการได้ ผู้ที่จะน่าจะเป็นผู้ช่วยพยาบาลหรือเทคนิคทางการแพทย์แต่ปัญหาคือ หากแพทย์เป็นผู้ดำเนินการจริงการจะเอาผิดตามพ.ร.บ. วิชาชีพการประกอบโรคศิลปะ ค่อนข้างยากเนื่องจากไม่มีการกำหนดทาชัดเจนต่อกรณีดังกล่าว อีกทั้งผู้ที่ถูกเจาะก็สมัครใจและไม่มีการฟ้องร้องเอาผิดแพทย์ การดำเนินการเพื่อเอาผิดแพทย์ก็ยากไปด้วย

“คนเจาะจริงๆ ไม่ใช่หมอ ถ้าหมอเจาะถือว่าไม่เหมาะสมเพราะไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ในการนำเลือดไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ส่วนจะมีความผิดหรือไม่นั้นเป็นอีกระดับหนึ่ง ซึ่งหากมีการร้องเรียนหรือเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจก็จะต้องนำเรื่องเอาสู่คณะอนุกรรมการจริยธรรมแพทยสภาพิจารณาซึ่งถือเป็นดุลยวินิจของกรรมการฯ ส่วนการจะดำเนินการใดๆ กับนพ.เหวง โตจิราการ หรือไม่คงต้องมีหลักฐานประจักษ์ว่ามีการเจาะเลือดจริง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มี”นพ.สัมพันธ์กล่าว

นพ.สัมพันธ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม แพทยสภาขอเตือนว่า จะเป็นใครก็ตามที่เจาะเลือดขอให้ระวังเรื่องความปลอดภัยและการติดเชื้อ เนื่องจากการเจาะเลือดต้องใช้เข็มที่สเตอร์ไลน์ เช็ดเข็มด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ เพราะในจำนวนคนเป็นแสนคนอาจมีเชื้อโรคได้ก็ต้องระมัดระวังโดยเฉพาะผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณดังกล่าว มีความเสี่ยงที่สุด

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พ.ญ.วิจิตร ศรีสุพรรณ นายกสภาพยาบาล กล่าวว่า หากพยาบาลมีการเจาะเลือดโดยผิดหลักวิชาชีพก็ถือว่าไม่ถูกต้องตามหลักการเจาะเลือดจะต้องเจาะเพื่อนำไปวินิจฉัยหรือเกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ แต่กรณีดังกล่าวหากไม่ใช่อาจเข้าข่ายผิดและผู้ป่วยอาจได้รับอันตรายได้เนื่องจากไม่มีความมั่นใจว่าวัสดุอุปกรณ์มีความปลอดภัยหรือไม่ อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าวหากพบมีพยาบาลเกี่ยวข้องจะต้องมีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าสภาการพยาบาลว่าผิดพ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ส่วนโทษจะมีการพิจารณาเป็นรายกรณีไป ซึ่งอาจไม่ถึงขั้นเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพ

ด้านศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเจาะเลือดจำเป็นต้องระวังเรื่องการติดเชื้อ และโรคติดต่อ โดยเฉพาะเอดส์ และไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งตนเห็นว่าเป็นการแสดงออกที่ไม่ถูกต้อง เพราะทำให้เกิดอันตรายและอาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพผู้ร่วมชุนนุมด้วยกัน เพราะในอากาศร้อนสามารถทำให้ช็อกได้ เนื่องจากร่างกายเสียน้ำมากอยู่แล้ว

“รู้สึกตกใจ เสียใจที่มีความคิดแบบนี้เกิดขึ้นในสังคม หากจะชุมนุมเพื่อทำให้เกิดมิติใหม่ทางการเมือง หรือทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ก็ควรคิดสิ่งที่มีประโยชน์มากกว่าการกระทำที่ถอยหลังลงคลอง ไม่เป็นผลดีทั้งในส่วนผู้เข้าร่วมชุมนุมและภาพพจน์ของการชุมนุมเอง น่าจะใช้แนวทางที่สร้างสรรค์กว่านี้ เพราะทำให้เกิดอันตราย เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่อันตรายร้ายแรง”ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น