xs
xsm
sm
md
lg

แฉกลโกงนม ร.ร.เสนอรัฐยกเครื่องทั้งระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการจุฬาฯ แฉ กลโกงนมโรงเรียนทำได้เกือบ 10 วิธี ทั้งเรียกค่าหัวคิวคนได้รับสิทธิ ผลิตโรงงานไม่ได้มาตรฐาน จนถึงขายนมผ่านมาเฟียนม เสนอรับบาลเร่งยกเครื่องทั้งระบบ


ASTVผู้จัดการรายวัน-ผศ.นพนันท์ วรรณเทพสกุล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการประชุม “นโยบายนมโรงเรียน” จัดโดยแผนงานสร้างเสริมการเรียนรู้กับสถาบันอุดมศึกษาไทย เพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่า รัฐบาลจัดสรรงบโครงการนมโรงเรียนปีละ 13,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นนมปลอมปนมากถึง 70% มีเม็ดเงินถึงมือเกษตรกรโคนมเพียง 1,585 ล้านบาทเท่านั้น การทุจริตคุณภาพนมส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเกษตรกรและเด็กนักเรียน ทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณ ขณะที่มีเด็กไทยได้ดื่มนมโรงเรียนเพียง 60-70% จากทั้งหมด ราว 10 ล้านคน ส่วนเด็กอีก 40% ไม่ได้ดื่มนม เพราะนำไปเททิ้งจากการไม่เห็นคุณค่า หรือนมบูดเสียจนดื่มไม่ได้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่อีกเรื่องที่ต้องเร่งหามาตรการแก้ไข
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ศ.ดร.นพนันท์ กล่าวต่อว่า การทุจริตมีหลายวิธี คือ 1.การจัดซื้อของหน่วยราชการไม่โปร่งใสผิดระเบียบ 2.การจัดสรรสิทธิจำหน่ายไม่โปร่งใส มีการเรียกค่าหัวคิว 3.โรงนม โรงงานแปรรูปนมไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีใบอนุญาตถูกต้อง 4.นมกระดาษ จัดซื้อโดยไม่มีการส่งมอบสินค้า 5.ขายนมผ่านนายหน้า หรือ มาเฟียนม 6.ปลอมปนนมผงละลายน้ำแทนนมโคสดแท้ และ 7.โรงเรียนมีสถานที่ อุปกรณ์ไม่พร้อม หรือการขนส่งไม่ได้มาตรฐาน เช่น ไม่มีถังน้ำแข็ง ตู้เย็นแช่นม การจัดเก็บไม่ถูกวิธีรทำให้นมบูด เสีย ฯลฯ

เสนอให้รัฐบาลชะลอการอนุมัติให้ อ.ส.ค.ได้รับสิทธิพิเศษในการจำหน่ายนมโรงเรียน และเปิดเวทีสาธารณะรับฟังปัญหา เพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสม โดยต้องปฏิรูปนโยบายนมโรงเรียนทั้งระบบ ตัดวงจรนายหน้า เพราะพบว่า 12% ของกำไรจากอุตสาหกรรมนมโคสดแท้ตกไปอยู่กับคนกลุ่มนี้ ดังนั้น รัฐควรสนับสนุนให้เกษตรกรโคนมพึ่งตนเองได้ และเพิ่มอำนาจต่อรองให้เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย รัฐลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมให้ เพื่อไม่ต้องพึ่งพาโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปนมรายใหญ่ ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดซื้อนม และการเพิ่มทางเลือกโภชนาการเด็กนอกเหนือจากการดื่มนมเพียงอย่างเดียว” ผศ.นพนันท์ กล่าว

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ผอ.แผนงาน นสธ.กล่าวว่า โภชนาการด้านอาหารเสริมที่ดีไม่ได้มีแค่นมโคสดให้เด็กเท่านั้น ควรให้ความรู้ด้านโภชนาการและเสนอเมนูอาหารทางเลือกให้เหมาะสมกับท้องถิ่นที่มีวัตถุดิบอาหารแตกต่างกัน และควรปรับงบนมโรงเรียนใหม่ โดยให้งบซื้อนมเป็นของเด็กนักเรียนแทนการให้เงินกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้เด็กนักเรียนรู้คุณค่าของเงิน และนมที่ได้มา ขณะเดียวกัน อปท.ควรจัดประชุมร่วมกับภาคประชาชน เพื่อเลือกวิธีใช้งบ และเพิ่มแรงจูงใจให้ อปท.ด้วยการเพิ่มงบ หรือรางวัลให้ อปท.ดีเด่นด้านโภชนาการนักเรียน
กำลังโหลดความคิดเห็น