xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ช่วย “นริศรา” โต้การเมืองไม่แทรกแซงตั้งสถาบันการอาชีวะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รมช.ศึกษาธิการ
ที่ปรึกษา “นริศรา” ออกโรง โต้การเมืองไม่ได้แทรกแซงทำการตั้งสถาบันการอาชีวศึกษาอืด แจงอาชีวะเร่งกับผู้บริหารสอศ.ตลอด ถามกลับเข้าร่วมประชุมทุกครั้งหรือไม่

นายสรจักร เกษมสุวรรณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงการจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา ว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เสนอร่างกฎกระทรวงการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา ต่อ น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รมช.ศธ.โดยไม่ได้จัดส่งเอกสารประกอบตามระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีมาด้วย รมช.ศธ.จึงส่งเรื่องคืนให้ไปดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบฯ แล้วให้เร่งเสนอมาใหม่

อย่างไรก็ตาม สอศ.เสนอเรื่องกลับคืนมาประมาณ ก.ย.52 ซึ่ง รมช.ศธ.ได้เสนอเรื่องต่อ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศธ.ขณะนั้น และ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ตามลำดับในเดือนเดียวกัน จากนั้น สลค.สอบถามความเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนสรุปเรื่องเสนอ ครม.

นายสรจักร กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2552 ที่ประชุมมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา 19 กลุ่ม จากวิทยาลัย 415 แห่ง ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา เพื่อดำเนินการต่อไป

“ช่วงเดือน พ.ย.52 - ก.พ.53 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงฯ โดยมีการประชุมและเชิญเลขาธิการ สอศ.ไปร่วมประชุมด้วย แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่ง รมช.ศธ.ได้เร่งรัดและสอบถามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง พบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเนื่องมาจากการที่ผู้บริหาร สอศ.ไม่ได้เข้าประชุมอย่างต่อเนื่อง โดยบางครั้งมอบหมายรองเลขาธิการฯ เข้าประชุม และบางครั้งมอบอดีตรองเลขาธิการเข้าประชุมแทน”

นายสรจักร กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 5 ม.ค.53 ครม.รับแผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2552-2559) มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบัน 2 ประเด็น คือ ให้พัฒนาคุณภาพอาชีวศึกษาสู่ความเป็นเลิศในการปฏิบัติ และให้จัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัดที่สถาบันตั้งอยู่ และสอดคล้องกับสถานประกอบการในพื้นที่ และเมื่อวันที่ 17 ก.พ.53 ได้มีการหารือร่วมกันระหว่าง รมว.ศธ., รมช.ศธ.ทั้ง 2 คน, ผู้แทนสภาพัฒน์ และผู้แทนสำนักงบประมาณ พิจารณาถึงการจัดตั้งสถาบันที่สอดคล้องกับสาขาวิชาที่มีความเข้มแข็งโดยมีสถานประกอบการรองรับ

ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ ตามนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 กำหนดให้พัฒนาการจัดการศึกษาด้านวิชาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยเน้นให้ผู้สำเร็จการศึกษาเข้าสู่ภาคการผลิตและอุตสาหกรรม และปรับสัดส่วนให้รับนักศึกษาอาชีวศึกษาให้มีสัดส่วนมากขึ้น

นายสรจักร กล่าวว่า 5 มี.ค.ที่ผ่านมา ตนได้ประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในส่วนของ สอศ.และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหาทางยุติปัญหาความล่าช้าในเรื่องนี้ และประสานให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาส่งข้อมูลการประชุมให้กับ สอศ.เพื่อประกอบการดำเนินการ ดังนั้น ข้อมูลต่าง ๆ ทาง สอศ.จะได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยตรงก่อนทาง รมช.ศธ.

“การออกกฎกระทรวงจัดตั้งสถาบัน รวมทั้งการมีนโยบายและมติต่างๆ ของ ครม.ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ สอศ.รับรู้อยู่ตลอดในฐานะที่เป็นส่วนราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ทางคณะกรรมการการอาชีวศึกษาก็น่าจะต้องรับรู้อยู่เช่นเดียวกัน เนื่องจากเลขาธิการ สอศ.ร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย”
กำลังโหลดความคิดเห็น