xs
xsm
sm
md
lg

กฤษฎีกาค้านตั้งสถาบันการอาชีวะ 19 แห่ง ระบุขัด กม. เผยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพคลอดแน่ปีนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สรจักร เกษมสุวรรณ
สอศ.ยอมถอย เตรียมระดมสมองหาข้อสรุปจัดตั้งเป็นสถาบันเฉพาะทางระยะแรก 4-8 แห่ง ดึงความเป็นเลิศแต่ละวิทยาลัย ก่อนเสนอกลับพิจารณาอีกครั้งเร็วๆ นี้ เผยภายในปีนี้สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ คลอดแน่ พร้อมตั้งเป้ารับเด็ก ปวช. 1 กว่า 2 แสนคน สั่งเช็คจำนวนเด็กลาออกกลางคัน จ่อขอเงินอุดหนุนเด็กลาออกมาให้ผู้ใหญ่ที่เรียน ปวช. ขณะที่ คณะกรรมการกฤษฎีกาค้านตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา 19 แห่ง เหตุขัดข้อกฎหมาย  “สภาพัฒน์” ติงควรปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป

วันนี้ (8 มี.ค.) นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกับผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ข้อสรุปถึงความคืบหน้าโครงการเรียนฟรี เรียนดี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ในส่วนของ สอศ. ว่า ในปีงบประมาณ 2553มีจำนวนนักเรียนที่จะได้รับเงินอุดหนุนโครงการเรียนฟรีฯ คือ ระดับ ปวช.ปี1 ตามแผนที่ สอศ.ตั้งเป้าหมายไว้ประมาณ 200,170 คน ส่วนปวช.ปี 2 จำนวน 185,049 คน และ ปวช.ปี 3 จำนวน 135,815 คน รวมระดับปวช.ทั้งสิ้น 521,034 คน โดยนักเรียนเหล่านี้จะได้รับการอุดหนุนเป็นค่าเสื้อผ้าหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน และกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพ

ทั้งนี้ หากรับเด็ก ปวช.1 ไม่เป็นไปตามเป้าหมายจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบงบฯ อุดหนุนเรียนฟรีฯเพื่อแก้ปัญหาเด็กออกกลางคันในเทอม 2 ปีที่ผ่านมาสูงถึง 25% เพราะฉะนั้นจะต้องสำรวจว่าเหลือเด็กจำนวนเท่าไหร่ เพื่อนำเงินอุดหนุนส่วนที่หายไปนั้นมาอุดหนุนสำหรับผู้เรียนที่อาจจะเป็นผู้ใหญ่หรือคนทำงานแล้วก็ได้แต่มาเรียนในระดับ ปวช. ซึ่งคนกลุ่มนี้ถือว่าเป็นผู้ที่กำลังศึกษานอกระบบ เพียงแต่มาเรียนปวช. จึงต้องได้รับเงินอุดหนุนเป็นการศึกษานอกระบบ

ด้าน นายสรจักร เกษมสุวรรณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงการจัดสมัชชาปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้นว่า ที่ประชุมได้พูดถึงประเด็นการปรับค่านิยมเรื่องของการเรียนอาชีวศึกษา ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษาฯ อย่างยิ่ง ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จึงจำเป็นต้องส่งเสริม และพัฒนาในการสร้างกำลังคนในเชิงอาชีพ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น โดยการจัดทำสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งคาดว่าจะเสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในเร็วๆ นี้ และหวังจะให้เกิดขึ้นได้ภายในปีนี้อย่างแน่นอน เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐาน ทักษะ สำหรับผู้จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษา ในการเทียบทักษะ สมรรถนะ ซึ่งเมื่อผ่านตรงนี้ไปก็จะได้รับเงินเดือนที่สูงขึ้น

นายสรจักรกล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา ตาม พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 ว่า ร่างกฎกระทรวงการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา พ.ศ. ... อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งที่ผ่านมาใช้เวลาพิจารณานานเนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่เห็นด้วยกับการที่รวมวิทยาลัยอาชีวศึกษา 415 แห่งทั่วประเทศ เป็นสถาบันการอาชีวศึกษา 19 แห่ง ในคราวเดียวกันทั้งหมด เพราะเห็นว่าขัดกับ พ.ร.บ.การอาชีวศึกษาฯ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ ที่ต้องการให้ยังคงเหลืออาชีวะในระดับวิทยาลัยอยู่ด้วย อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เคยตั้งข้อสังเกตว่าการจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา ควรจัดตั้งตามศักยภาพและความพร้อมของวิทยาลัย ไม่ใช่จัดตั้งคราวเดียว แต่ควรจัดตั้งคราวละน้อยๆ ซึ่งหากไม่ปรับแก้ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว คณะกรรมการกฤษฎีกาจะทำความเห็นเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอให้ไม่ผ่านร่างกฎกระทรวงฉบับนี้

“ผมได้รับมอบหมายจาก น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รมช.ศธ. ให้หารือร่วมกับตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมาซึ่งได้ข้อสรุปร่วมกันว่า จะมีการปรับแนวทางการจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษาใหม่ โดยจากเดิมที่รวมวิทยาลัยอาชีวศึกษา 415 แห่งทั่วประเทศ เป็นสถาบันการอาชีวศึกษา 19 แห่งในครั้งเดียวกันนั้น จะเปลี่ยนมาจัดตั้งเป็นสถาบันเฉพาะทาง โดยนำวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาเดียวกันมารวมกัน เพื่อสร้างความเป็นเลิศ เช่น ด้านยานยนต์ ก็ต้องรวมเอาวิทยาลัยที่มีความสามารถด้านยานยนต์มารวมกัน อาจรวมเฉพาะในพื้นที่ก่อนเพื่อความสะดวก โดยไม่จำเป็นต้องเอาทุกวิทยาลัยในพื้นที่มารวมกัน เป็นต้น โดยระยะแรกให้รวมกันในพื้นที่ที่ใกล้เคียงกันก่อน ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะรวมกันกันจัดตั้งเป็นสถาบันเฉพาะได้ประมาณ 4-8 แห่ง แต่ทั้งนี้ข้อสรุปจะต้องรอการประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวศึกษา 415 แห่งทั่วประเทศ ที่หอประชุมกองทัพบกในวันที่ 11 มี.ค.นี้ก่อน ซึ่งจะมีการชี้แจงทำความเข้าใจถึงเหตุผลที่ต้องจัดตั้งเป็นสถาบันเฉพาะทาง รวมถึงจะได้หารือร่วมกันด้วยว่าจะรวมวิทยาลัยใดบ้างเป็นสถาบันเฉพาะทาง และจะได้สถาบันเฉพาะทางสักกี่แห่ง” ที่ปรึกษา รมช.ศธ.กล่าว

นายสรจักรกล่าวอีกว่า ส่วนที่มีการคัดค้านการประชุมดังกล่าว เนื่องจากเกรงจะได้รับผลกระทบจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ประกาศจะรวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองในวันที่ 12 มี.ค.นั้น ยืนยันว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลที่จะไม่เข้าร่วมประชุม และยืนยันว่าจะไม่เลื่อนการประชุมออกไป

นายสรจักรกล่าวด้วยว่า สอศ.จะต้องนำข้อสรุปที่ได้จากการหารือร่วมกันระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกากับฝ่ายนโยบายของ ศธ.ไปปรับปรุงสาระร่างกฎกระทรวง โดยจะยังคงหลักการไว้ จากนั้นนำเสนอร่างกฎกระทรวงฯ เสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้ง ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น