สธ.แจงเงินบำรุงโรงพยาบาล แนวโน้มลด เหตุสัดส่วนค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น เตรียมปรับโฉมโอพีดีทั่วประเทศ
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการประชุมผู้บริหารระดับสูงในส่วนกลางและภูมิภาค ว่า จากกรณีที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้รายงานว่า สถานะการเงินการคลังของโรงพยาบาลปัจจุบันมีเงินกองทุนซึ่งมาจากเงินบำรุงโรงพยาบาลประมาณ 4 หมื่นล้านบาท จากเดิมก่อนมีโครงการหลักประกันสุขภาพมีเงินกองทุนอยู่ 1 หมื่นล้านบาทนั้น ความจริงแล้วเมื่อพิจารณาอย่างละเอียดพบว่าในเงินจำนวนดังกล่าว เมื่อหักหนี้สินและค่าตอบแทนแล้วจะมีเพียง 1-3 พันล้านบาทเท่านั้น และจากการที่สัดส่วนค่าตอบแทนมากขึ้นทำให้แนวโน้มเงินกองทุนลดลง
นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันยังมีหลายพื้นที่ที่มีปัญหาสถานะทางการเงิน แต่ไม่ได้เกิดจากปัญหาเรื่องการบริหารทั้งหมด ทำให้จะต้องมีการหารือกับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมต่างๆ และ สสจ.แต่ละจังหวัดเพื่อหาทางแก้ปัญหา โดยอาจจะใช้วิธีการจับคู่เพื่อช่วยเหลือทั้งในเชิงการบริหาร และความรู้ต่างๆ เพราะในบางพื้นที่พบว่ามีเงินกองทุนจำนวนสูงมาก แต่บางพื้นที่ก็มีความขาดแคลนมาก ซึ่งในภาพรวมปัจจุบันรายจ่ายยังสูงกว่ารายรับอย่างมาก จำเป็นต้องเร่งหาทางแก้ปัญหา
นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า สำหรับนโยบายเร่งรัดการพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาล และคุณภาพการให้บริการในทุกระดับ ให้เป็นที่ประทับใจประชาชน ปัจจุบันจุดบริการผู้ป่วย หรือ โอพีดี มีความแออัดมาก และเป็นจุดที่เกิดปัญหาร้องเรียนบ่อยที่สุด ในปีที่ผ่านมาพบว่าจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก 116 ล้านครั้ง ในปี 2550 เพิ่มเป็น 190 ล้านครั้ง ซึ่งเป็นผลมาจากประชาชนในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เข้าถึงบริการได้มากขึ้น ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนบริเวณดังกล่าวตั้งแต่สถานที่ การปรับเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่ดี เกิดความเชื่อมั่นศรัทธาในบริการภาครัฐมากขึ้น ไม่ว่าจะเข้าใช้บริการที่ใด จะได้รับการดูแลเอาใจใส่มาตรฐานเดียวกัน
นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า สิ่งที่จะต้องทำ คือ การปรับปรุงอาคารผู้ป่วยนอกให้ดูทันสมัยและผ่อนคลาย เช่น มีมุมเด็กเล่น มุมอ่านหนังสือสุขภาพ จัดห้องน้ำให้สะอาด หรูหรา มีกลิ่นหอม เพิ่มเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครภาคประชาชน เข้ามาให้การดูแลช่วยเหลือให้คำแนะนำคอยเป็นเพื่อนใจแก่ผู้มารับบริการอย่างอบอุ่น เป็นกันเองอย่างต่อเนื่อง มีการขยายบริการเพิ่มขึ้น ให้ประชาชนที่เจ็บป่วยที่ไม่รุนแรง เข้าใช้บริการได้ตามเวลาที่สะดวก เช่น การเปิดคลินิกนอกเวลาหรือคลินิกพิเศษ นอกจากนี้ ยังมีระบบการสื่อสารแก่ผู้ป่วยและญาติระหว่างรอพบแพทย์ ซึ่งจะใช้เวลารอน้อยลงกว่าเดิม และพัฒนาระบบบริการอาทิ จัดระบบบริการประชาชนหรือคอลเซ็นเตอร์ (Call center) ตลอด 24 ชั่วโมง จัดระบบคิวการรอตรวจ และบอกผู้รับบริการได้ว่าจะได้รับบริการในช่วงใด พร้อมทั้งจัดระบบการส่งต่อผู้ป่วยทางอินเทอร์เน็ต โรงพยาบาลปลายทางได้รับทราบประวัติผู้ป่วยล่วงหน้า เตรียมพร้อมให้บริการทันที