xs
xsm
sm
md
lg

อย.คุมเข้มจับขายยาแก้ไอผสม 4 คูณ 100 เร่งตรวจใบอนุญาตร้าน-เภสัช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อย.จับร้านขายยาในปัตตานี-สงขลา แห่งละ 2 ร้าน ลอบขายยาแก้ไอให้วัยรุ่นผสม 4 คูณ 100 เผยเภสัชฯ จงใจขายยาให้กับผู้ไม่ป่วยจริง ไม่ซักถามอาการ โก่งราคาสูงเท่าตัวขายขวดละ 40-50 บาท แถมขาใหญ่ขายยาผิดกฎหมาย ทั้งไม่มีทะเบียน หมดอายุ เตรียมเอาผิดร้านยาชงพิจารณาพักใช้ใบอนุญาตพร้อมส่งเรื่องให้สภาเภสัชกรรมพิจารณาโทษเภสัชกรผิดจรรยาบรรณ

วันที่ 3 มีนาคม นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อย.ได้ประสานงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดปัตตานี และจังหวัดสงขลา ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบร้านขายยาที่มีการแจ้งเบาะแส จำนวน 4 ร้าน พบการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยที่จังหวัดปัตตานี พบร้านขายยาจำนวน 2 ร้าน พบยาไม่แสดงฉลาก, ยาหมดอายุ, ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา และผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการไม่ควบคุมการทำบัญชียา นอกจากนี้ยังพบยาแผนปัจจุบันที่เป็นยาอันตรายมีเพื่อขาย ในร้านขายยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จฯ ซึ่งเป็นการขายยาแผนปัจจุบันไม่ตรงตามประเภทของใบอนุญาต

นพ.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่จังหวัดสงขลาจำนวน 2 ร้าน พบยาไม่แสดงฉลาก, ยาหมดอายุ, ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา นอกจากนี้ยังพบว่า มียาแก้ไอชนิดน้ำ ชื่อเด็กซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) ใส่ไว้ในภาชนะกล่องกระดาษจำนวนมากพร้อมส่งขายให้ลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีการซักถามอาการของผู้ป่วย สำหรับรายชื่อร้านยาที่กระทำผิดกฎหมาย อย.จะประกาศให้ทราบต่อไป เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว

“การขายยาแก้ไอให้กับผู้ที่ไม่ได้ป่วยแถมขายในราคาแพงจากขวดละไม่เกิน 20-25 บาท โดยที่รู้ทั้งรู้ว่าไม่ได้ป่วย แต่เพราะรู้ว่าขายยาให้เพื่อนำไปผสมยาเสพติด 4 คูณ 100 ก็ขายในราคาแพง ขวดละ 40-50 บาท ซึ่งการขายยาแก้ไอกลุ่มนี้จะเป็นที่รู้กันทั้งผู้ซื้อผู้ขาย แต่เมื่อ สสจ.หรือเจ้าหน้าที่มาถามก็จะอ้างว่าขายให้กับผู้ป่วย ดังนั้นการจับกุมไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเอาผิดตรงๆ ไม่ได้ เนื่องจากยาแก้ไอเป็นยาอันตรายแต่อนุญาตให้ขายได้ในร้านขายยาอยู่แล้ว และหลังจากส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจพื้นที่ก็พบว่าบางร้านรู้ตัวก่อนล่วงหน้าทำให้ตรวจไม่พบยาแก้ไอ ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ แต่พบยาผิดกฎหมายจำนวนมากและขณะตรวจก็พบผู้มาขอซื้อยาแก้ไอด้วย”นพ.พิพัฒน์กล่าว

นพ.พิพัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับความผิดทางกฎหมาย ข้อหาขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนข้อหาการมียาเสื่อมคุณภาพไว้เพื่อขาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 3,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ข้อหาขายยาแผนปัจจุบันไม่ตรงตามประเภทของใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 2,000-5,000 บาท ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการมีความผิดข้อหาไม่ควบคุมการทำบัญชีซื้อ ขายยา ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000-5,000 บาท

“ขณะนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำการยึดยารวมถึงเก็บตัวอย่างยาเพื่อประกอบการดำเนินการทางคดีตามกฎหมายกับร้านขายยาทั้ง 4 แห่งแล้ว พร้อมทั้งรวบรวมความผิด เพื่อส่งเรื่องเข้าคณะกรรมการยาพิจารณาพักใช้ใบอนุญาตชั่วคราว ซึ่งโทษอาจมีทั้งพักใช้ใบอนุญาต 6 เดือน ถึง 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตไปเลย รวมทั้งจะพิจารณาส่งเรื่องให้สภาเภสัชกรรมพิจารณาโทษทางจรรยาบรรณของเภสัชกรประจำร้านขายยาหรือเภสัชกรที่เป็นเจ้าของและหลังจากนี้จะตรวจเฝ้าระวังร้านขายยากลุ่มเสี่ยงนี้อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด “นพ.พิพัฒน์กล่าว

นพ.พิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า อย.ขอเตือนผู้ผลิต ผู้นำเข้า ให้ระมัดระวังการจำหน่ายยาน้ำแก้ไอชนิดน้ำเชื่อมทุกชนิดให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยการขายในลักษณะที่เป็นการขายยาจำนวนมาก จะต้องขายให้เฉพาะกับผู้รับอนุญาตขายยา กระทรวง ทบวง กรม สภากาชาดไทย องค์การเภสัชกรรม และผู้ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาล เท่านั้น ที่สำคัญ เภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในร้านขายยาต้องควบคุมการส่งมอบยากลุ่มนี้ให้เฉพาะกับผู้ที่มีอาการป่วย โดยต้องซักถามอาการและประเมินความเหมาะสมในการได้รับยาตามมาตรฐานวิชาชีพ

นพ.พิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม อย.ได้เร่งพัฒนาระบบการติดตามการกระจายยาให้มีประสิทธิภาพ โดยจะสามารถระบุสถานประกอบการที่มียากลุ่มนี้ในปริมาณมากๆไว้ในครอบครอง อันจะนำไปสู่การตรวจได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะรณรงค์สร้างความร่วมมือกับคนในชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้เบาะแสร้านขายยาที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ โดยแจ้งเบาะแสมาที่สายด่วน อย.1556 หรือตู้ ปณ. 1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือทางอีเมล 1556@fda.moph.go.th นอกจากนี้ อย.จะจัดทำสติกเกอร์รณรงค์แจกแก่ร้านยา ระบุให้ขายยาแก้ไอสำหรับผู้ป่วยเท่านั้น และหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นอาจเพิ่มมาตรการจำกัดการ

จำหน่ายยากลุ่มนี้ได้ไว้เฉพาะร้านขายยาที่ผ่านเงื่อนไขที่ อย.กำหนด ซึ่งคาดว่า น่าจะทำให้นโยบายคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องนี้ได้ผลมากยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น