สธ.ออกประกาศห้ามสูบบุหรี่เด็ดขาด ยานพาหนะสาธารณะ สถานศึกษา สถานพยาบาล สถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า ศาสนสถาน อนุญาตให้จัดที่สูบบุหรี่ภายในอาคารได้เฉพาะสนามบินนานาชาติ ส่วนให้จัดพื้นที่สูบบุหรี่ภายนอกอาคารปั๊มน้ำมัน สถานีขนส่ง สถานที่ราชการ มหาวิทยาลัย โทษปรับไม่เกิน 2 พันบาท ด้าน “จุรินทร์” เล็งเอาผิดเจ้าของสถานที่ปล่อยคนสูบบุหรี่ด้วย
วันนี้ (2 มี.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาตนได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับ ที่ 19 พ.ศ.2553 เรื่อง กำหนดชื่อหรือประเภทของสถานที่สาธารณะที่ให้มีการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่และกำหนดส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่สาธารณะดังกล่าวเป็นเขตสูบบุหรี่หรือเขตปลอดบุหรี่ตามพ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 โดยจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 90 วัน ซึ่งคาดว่าประกาศฉบับนี้น่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในอีก 4 เดือนข้างหน้า
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สำหรับสาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ เป็นการกำหนดสถานที่ห้ามสูบบุหรี่โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ 1.สถานที่ที่ห้ามสูบบุหรี่ทั้งหมด ซึ่งเดิมอนุญาตให้สูบบุหรี่ได้ในห้องส่วนตัวหรือในส่วนที่มีการจัดพื้นที่ไว้เป็นการเฉพาะ ได้แก่ สถานที่สาธารณะทั่วไป ยานพาหนะสาธารณะ สถานบริการสาธารณสุขและส่งเสริมสุขภาพทั้งของคนและสัตว์ที่พักค้างคืน สถานศึกษา เช่น โรงเรียน อุทยานการเรียนรู้ ศูนย์การเรียนรู้ สถานกวดวิชา สอนดนตรี กีฬ่าและศิลปะ หอศิลป์ พิพิธภัณฑ์สถาน สถานที่สาธารณะที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน อาทิ ร้านค้า สถานบันเทิง สถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬาทั้งกลางแจ้งและในร่ม ห้างสรรพสินค้า และบริเวณโถงพักคอยและบริเวณทางเดินทั้งหมดภายในของอาคารโรงแรม ห้องเช่า หอพัก คอนโดมิเนียม ศาสนสถาน ธนาคารและสถาบันการเงิน
2.สถานที่ที่ห้ามสูบบุหรี่ในอาคารแต่สามารถจัดพื้นที่สูบไว้นอกอาคารได้ ซึ่งเดิมอนุญาตให้สูบในอาคารได้หากมีการจัดพื้นที่ไว้เป็นการเฉพาะ คือ สถานที่ราชการและรัฐวิสาหกิจ ปั๊มน้ำมันและปั๊มแก๊ส มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับอุดมศึกษา สถานที่ทำงานเอกชน สถานีขนส่งผู้โดยสารทางบกทุกประเภท สถานีรถไฟ และ 3.สถานที่ที่อนุญาตให้สูบในอาคารได้ แต่จะต้องมีการจัดพื้นที่ไว้เป็นการเฉพาะ มีเพียงสนามบินนานาชาติเท่านั้น ส่วนสนามบินภายในประเทศที่เดิมอนุญาตให้สูบในพื้นที่ที่จัดไว้ในอาคารได้ แต่ประกาศใหม่นี้ไม่อนุญาตให้สูบในอาคาร โดยผู้ที่ฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 2 พันบาท
“ขณะนี้ยังไม่สามารถเอาผิดเจ้าของสถานที่ห้ามสูบบุหรี่แต่กลับปล่อยให้มีคนสูบบุหรี่ได้ เช่น เจ้าของร้านอาหาร ในอนาคตจำเป็นจะต้องมีมาตรการเพิ่มเติมสำหรับใช้ในการดำเนินการกับเจ้าของสถานที่ด้วย เพราะควรจะมีส่วนในการรับผิดชอบ” นายจุรินทร์กล่าว
ด้าน นพ.ชูฤทธิ์ เต็งไตรสรณ์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กล่าวว่า สำหรับระเบียงคอนโดมิเนียมในห้องส่วนตัว ประกาศฉบับนี้ยังไม่สามารถเอาผิดได้ แต่สามารถใช้กฎหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการ ในฐานที่สร้างความเดือดร้อน รำคาญให้แก่ผู้อื่นได้