xs
xsm
sm
md
lg

หนองคายเข้มลักลอบส่งออกแก๊สหุงต้มตามชายแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หนองคาย-อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ประสานความร่วมมือจังหวัดหนองคายและใกล้เคียง เข้มงวดการลักลอบส่งออกแก๊สแอลพีจี หลังราคาน้ำมันขยับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เสี่ยงต่อการฉวยโอกาสลักลอบส่งออกแก๊สแอลพีจีขายยังประเทศเพื่อนบ้านในราคาสูง ขณะที่กองทุนน้ำมันต้องแบกรับภาระชดเชยค่าแก๊สเฉลี่ยเดือนละกว่า 60 ล้านบาท หากนำแก๊สหุงต้มใช้ในครัวเรือนต้องพิจารณาตามความเหมาะสม แต่ต้องไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ที่ห้องประชุมจอมมณี ศาลากลางจังหวัดหนองคาย นายพีระพล สาครินทร์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ได้หารือร่วมกับนายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย หัวส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในจังหวัดหนองคายเพื่อหาแนวทางในการควบคุมและดูแลปัญหาการลักลอบส่งออกก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ แอลพีจี หรือ แก๊สหุงต้ม ตามแนวชายแดน

นายพีระพล สาครินทร์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า เดิมทีประเทศไทยผลิตแก๊สแอลพีจีใช้ในประเทศอย่างเพียงพอและส่งออกได้บ้าง หรือผลิตได้ประมาณ 340,000 ตัน แต่ปริมาณการใช้อยู่ที่ 440,000 ตัน ซึ่งตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมาที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นถึง 110 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ/ตัน และผันผวนอยู่ตลอดเวลา ทำให้ปริมาณความต้องการใช้แก๊สแอลพีจีสูงขึ้นตาม ประเทศไทยจึงต้องสั่งนำเข้าแก๊สแอลพีจีจากต่างประเทศ เพื่อป้อนความต้องการทั้งในครัวเรือน, อุตสาหกรรม, ปิโตรเคมี และการใช้ในรถยนต์

ในปี 2553 เฉลี่ยไทยจะต้องนำเข้าแก๊สแอลพีจี เดือนละประมาณ 110,000 – 154,000 ตัน จากประเทศผลิตแก๊สแอลพีจี กลายเป็นประเทศนำเข้าแก๊ส และพบว่ามีแก๊สถูกนำออกนอกประเทศราว 4,000 ตัน/เดือน คิดเป็นเงินประมาณ 60 ล้านบาท โดยรัฐบาลตรึงราคาแก๊สแอลพีจีอยู่ที่ ก.ก.ละ 18.13 บาท ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านไม่มีการตรึงราคา เช่น ประเทศลาว แก๊สแอลพีจี ก.ก.ละ 38.50 บาท, พม่า ก.ก.ละ 31 บาท, กัมพูชา ก.ก.ละ 39.19 บาท, เวียดนาม ก.ก.ละ 5.45 บาท และมาเลเซีย ก.ก.ละ 17.27 บาท ถ้าราคาแอลพีจีในตลาดโลกอยู่ที่ 735 เหรียญ บวกกับค่าใช้จ่ายในการนำเข้าอีกประมาณ 35 เหรียญ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะชดเชยค่านำเข้าอยู่ประมาณ 14 บาท

ด้วยส่วนต่างราคาจึงมีโอกาสสูงในการลักลอบส่งออกแก๊สแอลพีจีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในลักษณะการนำไปใช้ในครัวเรือน หรือนำไปขายต่อ ที่ผ่านมาพบว่าปริมาณการใช้แก๊สแอลพีจี ที่ จ.หนองคาย และ จ.นครพนม เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะ จ.นครพนม ปริมาณการใช้แก๊สแอลพีจีขยายตัวถึง 20% เป็นที่น่าสังเกตว่าอาจมีการลักลอบนำแก๊สออกต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัญหากระทบต่อประเทศไทยที่จะต้องนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชยส่วนต่างราคานำเข้าแก๊สหุงต้มที่หายไปจากปัญหาการลักลอบดังกล่าว ในส่วนของ จ.หนองคาย ในปี 2552 ที่ผ่านมา หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขงเขตหนองคาย จับกุมชาวลาวลักลอบนำถังแก๊สหุงต้มข้ามแม่น้ำโขง 20 ถัง , ตำรวจน้ำหนองคาย จับกุมได้ 121 ถัง

นอกจากนี้ยังพบว่ามีความพยายามพ่นอักษรภาษาลาว และภาษาจีนทับอักษรไทยบนถังแก๊ส แล้วนำกลับมาขอเปลี่ยนคืนถังแก๊สใน จ.หนองคาย แต่โรงบรรจุแก๊สไม่รับเปลี่ยนคืน เพราะจะมีปัญหาการส่งคืนถังแก๊สตามมา บุคคลเหล่านั้นจึงนำถังแก๊สหุงต้มไปเติมแก๊สยังสถานีบริการ หรือปั๊มแก๊ส ซึ่งเป็นอันตรายมาก ปลี่ยนคืนถังแก๊สมแก๊สใน จ.หนองคาย แต่โรงบรรจุแก๊สไม่รับเปลี่ยนคืนบนถังแก๊ส 121 ถัง มาชดเชยรายได้ส่วนที่ขาดหายไป รวมถึงจำกัดปริม

อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการด้านแก๊สรายใหญ่ 6 ราย ทางการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการดังกล่าวลงทุนในต่างประเทศ เพื่อรัฐจะได้ไม่ต้องใช้เงินอุดหนุนของกองทุนน้ำมันมาชดเชยรายได้ส่วนที่ขาดหายไป รวมถึงจำกัดปริมาณการใช้ของประเทศเพื่อนบ้าน ให้คนไทยใช้แก๊สได้เพียงพอและราคาไม่แพง และขณะนี้มี ปตท. เพียงรายเดียวที่มีศักยภาพสามารถส่งออกแก๊สแอลพีจีไปยังต่างประเทศได้ถูกต้องตามกฎหมาย

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องเฝ้าระวังควบคุมไม่ให้มีการลักลอบนำถังแก๊สหุงต้มออกนอกประเทศ แต่ก็ต้องพิจารณาดูตามสภาพความเหมาะสมด้วย หากนำไปใช้ในครัวเรือนซึ่งนิยมใช้แก๊สหุงต้มขนาดบรรจุ 15 ก.ก. 1 – 2 เดือน/ครั้ง ก็สามารถทำได้ แต่หากเปลี่ยนบ่อยจนผิดสังเกต หรือมีการขนย้ายในลักษณะกองทัพมดออกนอกประเทศ ก็ต้องตรวจสอบเข้มงวด หากพบกระทำผิดสามารถดำเนินการจับกุมตาม พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 รวมทั้งให้ประชาชนในพื้นที่ตามแนวชายแดนช่วยสอดส่องดูแลอีกทางหนึ่ง แต่ต้องไม่ให้กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และหากพบว่ามีผู้นำถังแก๊สหุงต้มไปเติมแก๊สจากสถานีบริการ ปั๊มแก๊ส แทนที่จะนำไปเติมยังโรงบรรจุแก๊ส สามารถจับกุมและดำเนินการตามกฎหมายได้ทัน โดยอัตราโทษสูงสุดจึงจำคุก 10 ปี

อย่างไรก็ตาม กรณีที่รถยนต์ของประเทศเพื่อนบ้านติดตั้งระบบแก๊สแอลพีจี แล้วมาเติมแก๊สที่สถานีบริการในไทยนั้น สามารถทำได้มากน้อยเพียงใด แม้ว่าขณะนี้รถยนต์ติดตั้งแก๊สแอลพีจีของประเทศเพื่อนบ้านมีปริมาณไม่มาก แต่ก็ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่ามีการติดตั้งถังแก๊สสำรองเพื่อกักตุนแก๊สหรือไม่ ประเด็นนี้จะนำไปพิจารณากับคณะกรรมการของกระทรวง
กำลังโหลดความคิดเห็น