xs
xsm
sm
md
lg

“สนามหลวง” มหากาพย์ไล่รื้อที่ไม่จบสิ้น(1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานพิเศษ โดย รัชญา จันทะรัง

พื้นที่กว่า 118,197 ตารางเมตร ใจกลางพระนครที่ชื่อว่าสนามหลวงกลับมาอยู่ในความสนใจของประชาชนอีกครั้งหลัง กทม.ประกาศนโยบายปรับปรุงภูมิทัศน์ สภาพแวดล้อม และปัญหาทางสังคมในพื้นที่สนามหลวงและปริมณฑลภายใต้บังเหียน “สุขุมพันธุ์ บริพัตร ” ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน โดยตั้ง "ธีระชน มโมนัยพิบูลย์" รองผู้ว่าฯ กทม.เป็นประธานคณะกรรมการ เริ่มลงมือตั้งแต่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา
ก่อนจะมาถึงการปรับปรุงภูมิทัศน์ครั้งล่าสุดนี้ สนามหลวงได้ปิดปรับปรุง-จัดระเบียบ เปิดๆ ปิดๆ มาโดยตลอด ทั้งแบบธรรมดาและแบบมโหฬาร
เดิมทีพื้นที่สนามหลวงถูกจัดให้เป็นตลาดนัด ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2491 ต่อมาในปี 2492 ทางราชการจำเป็นต้องใช้ท้องสนามหลวง จึงได้ย้ายไปอยู่ในพระราชอุทยานสราญรมย์ จนถึงปี 2500 หลังจากนั้นได้ย้ายไปตั้งอยู่บริเวณสนามไชยเป็นการชั่วคราว แต่เนื่องจากสนามชัยคับแคบ จึงได้ย้ายกลับไปที่สนามหลวงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2501

กระทั่งมีการย้ายตลาดนัดจากสนามหลวงไปยังตลาดนัดจตุจักรในสมัย “เชาวน์วัศ สุดลาภา” เป็นผู้ว่าฯ กทม. ซึ่ง “เกรียงยศ สุดลาภา” ที่ปรึกษา รมช.มหาดไทย บุตรชายอดีตเจ้าของตำนานย้ายตลาดนัดสนามหลวงไปจตุจักร เล่าว่า ในปี 2522 ขณะที่บิดาดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรี ต้องการใช้สนามหลวงเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน จัดงานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี และจัดงานรัฐพิธีต่าง ๆ

ประจวบกับการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มอบที่ดินย่านพหลโยธิน ต่อจากสวนจตุจักรด้านทิศใต้ให้แก่ กทม.เพื่อใช้ในกิจการสาธารณประโยชน์จำนวน 74.57 ไร่ กทม.จึงปรับปรุงสถานที่ดังกล่าว เพื่อรองรับผู้ค้าที่จะย้ายออกจากสนามหลวงด้วยงบฯ 42 ล้านบาท ซึ่งได้รับการคัดค้านและต่อต้านจากกลุ่มผู้ค้าตลาดนัดสนามหลวงจำนวนมาก รวมถึงมีการโทรศัพท์เข้าไปต่อว่าถึงที่บ้านถึง 2 ปีเต็ม

ที่สุดก็สามารถย้ายผู้ค้าได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2525 โดยใช้ชื่อว่า“ตลาดนัดย่านพหลโยธิน ” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ ตลาดนัดจตุจักร” ซึ่งพ้องกับนามพระราชทานสวนสาธารณะจตุจักร เมื่อปีพ.ศ. 2530

ต่อจากนั้น พ.ศ. 2542 สมัยดร.พิจิตต รัตตกุล เป็นผู้ว่าฯกทม.ได้ปรับปรุงสนามหลวงครั้งใหญ่ เพื่อให้สวยงาม มีการจัดสรรพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน แบ่งโซนต่างๆ อย่างชัดเจน เช่น โซนพื้นที่สีเขียว พื้นที่ว่าง มีการเคลื่อนย้ายนกพิราบออกจากพื้นที่หลายพันตัว ซึ่งถูกต่อต้านจากผู้ค้าอาหารนกและประชาชนบางส่วนแต่ กทม.ได้ให้ชมรมผู้เลี้ยงนกพิราบเข้ามาจัดการแทนเรื่องจึงจบลงโดยใช้งบฯ 39 ล้านบาท พร้อมทั้งมีการออกกฎระเบียบใหม่โดยจำกัดการใช้พื้นที่เฉพาะงานรัฐพิธีและงานสาธารณประโยชน์เท่านั้น

จากนั้นในปี พ.ศ. 2544 สมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าฯ กทม.มีการออกประกาศโดยสำนักงานเขตพระนคร ห้ามบุคคลเข้าไปใช้พื้นที่ตั้งแต่เวลา 23.00-05.00 น. และมีการตั้งเต๊นท์ใกล้กับอนุสาวรีย์หมูข้างคลองหลอด เพื่อให้ผู้ที่เร่ร่อนหรือที่มาจากต่างจังหวัดใช้เป็นที่หลับนอนชั่วคราว ซึ่งครั้งนั้นมีเสียงก่นด่า คัดค้านจากผู้ที่เคยใช้ประโยชน์จากพื้นที่สนามหลวงเช่นเคย ประกอบกับไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-แปซิฟิก(เอเปค) จึงทำให้กทม.ต้องปรับปรุงพื้นที่สนามหลวงทั้งปลูกหญ้าใหม่ ปลูกหญ้าฮกเกี้ยนรอบต้นมะขาม ปรับปรุงระบบรดน้ำต้นไม้ ติดตั้งม้านั่งเพิ่มถึง 70 ตัว มีการตัดถนนผ่ากลางสนามหลวง ใช้งบปรับปรุงจำนวน 15 ล้านบาท

ในปี พ.ศ. 2548 สมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯกทม. ได้ประกาศจัดระเบียบรอบใหม่ โดย“ห้ามนอน” 5 ทุ่มถึงตี 5 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2548เพื่อแก้ปัญหาการค้าประเวณี ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาคนเร่ร่อน-คนจรจัด และหาบเร่แผงลอย

1 ปีต่อมาในยุคผู้ว่าฯคนเดิม สำนักสิ่งแวดล้อมได้ปรับปรุงพื้นที่สนามหลวงด้วยการปลูกหญ้าซ่อมแซมซึ่งใช้งบประมาณถึง 7 ล้านบาท ขณะที่ในปี พ.ศ. 2550 ก็ได้มีการปลูกหญ้าเพิ่มเติมเพราะสนามหลวงถูกใช้จนทรุดโทรมซึ่งใช้งบประมาณ 4-7 ล้านบาท

และในปี 2553 มหากาพย์ไล่-รื้อ บนพื้นที่สนามหลวง ยังคงไม่จบสิ้น ติดตามในตอนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น