xs
xsm
sm
md
lg

ระส่ำ!! ศาลสั่งอายัดทรัพย์องค์การค้าฯ 27 ล.เบี้ยวหนี้ บ.คอมพ์ฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


องค์การค้าฯ งานเข้า!! ศาลสั่งอายัดทรัพย์ 4 บัญชีธนาคารรวด หลังติดหนี้พร้อมดอกเบื้ย บ.คอมพ์ฯ กว่า 27 ล. ทนายระบุยอมให้ผ่อนชำระ 12 งวด แต่เบี้ยวตั้งแต่งวดแรก โทร.ทวงก็ขาดการติดต่อกลับ นิ่งเงียบ แฉยังมีเจ้าหนี้อีกบาน ด้าน “ชินภัทร” รก.ผอ.องค์การค้าฯ คนเก่ง ยังมีหน้าแถ บ.คอมพฯ ผิดมารยาท ยกเป็นหน่วยงานรัฐถูกอายัดทรัพย์ไม่ได้ ขณะที่กรมบังคับคดีไม่รับคำคัดค้านองค์การค้าฯ ด้าน บ.คอมพ์ฯ ยันไม่ถอนการอายัด พร้อมเสนอ 2 ทางเลือก หากยินยอมจะถอนการอายัด ให้เวลาองค์การค้าฯ ตอบรับภายใน 26 ก.พ.นี้

วันนี้(25 ก.พ.) นายวีรธัช อรุณเจริญพรชัย ทนายความบริษัท นิปด้า คอมพิวเทค จำกัด เปิดเผยว่า จากที่ บ.นิปด้าฯ ร่วมกับองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) จำหน่ายคอมพิวเตอร์ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นนทบุรี ในปี 2549 จำนวน 60 กว่าล้านบาท แต่องค์การค้าฯ ชำระเงินให้แก่บ.นิปด้าฯ แค่ 40 ล้านบาท ยังค้างชำระอีก 23 ล้านบาทนั้น บ.นิปด้าฯ ได้ติดตามทวงหนี้ แต่ถูกบ่ายเบี่ยงตลอด ดังนั้นในปี 2552 จึงฟ้องศาล แต่องค์การค้าฯ ก็เลื่อนนัดและระหว่างนั้นได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาไกล่เกลี่ยมูลหนี้กับทางบริษัท ก่อนจะนำบันทึกยอมความยื่นต่อศาลเพื่อพิพากษาตามยอม มีการทำสัญญายอมความในศาล โดยมีเงื่อนไขว่าองค์การค้าฯ จะต้องผ่อนชำระหนี้ 12 งวด งวดละ 2.3 ล้านบาท พร้อมกับดอกเบี้ย 6% หรือ 3 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 26.9 ล้านบาท หากผิดนัด ไม่ชำระเงินงวดหนึ่งงวดใด ให้ถือว่าผิดสัญญาและบริษัทมีสิทธิ์ที่จะอายัดทรัพย์สินทันที ถือว่าบริษัทประนีประนอมมากแล้ว เพราะตามกฎหมาย สามารถเรียกดอกเบี้ยได้ถึง 7.5%

นายวีรธัช
กล่าวต่อว่า การทำสัญญายอมความดังกล่าว มีขึ้นกลางเดือน ม.ค. 2553 โดยองค์การค้าฯ ต้องเริ่มชำระหนี้ตั้งแต่ 31 ม.ค. จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2553 จนครบหนี้พร้อมดอกเบี้ย 6% แต่ปรากฏว่าองค์การค้าฯ ผิดนัดชำระตั้งแต่งวดแรก ทั้งที่ทราบรายละเอียดสัญญาดี และบริษัทตลอดจนทนายความโทรศัพท์ติดตามทวงหนี้ตลอด จนถึงวันที่ 8 - 9 ก.พ. ก็ยังไม่ชำระ ตนและทนายความอีกคนก็ยังโทรศัพท์ไปติดตามทวงหนี้ เพื่อให้หมายเลขโทรศัพท์แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าฯเพื่อติดต่อกลับหากมีความคืบหน้า แต่บริษัทและทนายความไม่ได้รับการติดต่อกลับเลย ถือว่าองค์การค้าผิดเงื่อนไขตามสัญญา บริษัทจึงมีสิทธิ์ที่จะบังคับคดีตามที่มีการทำสัญญายอมในศาล ทั้งนี้ตนได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอหมายบังคับคดี พร้อมกับสืบทราบว่า จำเลยมีทรัพย์สินที่ใดบ้างเพื่อยื่นต่อกรมบังคับคดีขอให้อายัดทรัพย์ โดยตนได้ยื่นขออายัดบัญชีธนาคาร 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ 18.9 ล้านบาท, ธนาคารกรุงไทย 4 ล้านบาท, ธนาคารกรุงเทพ 2 ล้านบาท, และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 1.5 ล้านบาท

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา เจ้าพนักงานกรมบังคับคดี จึงดำเนินการอายัดทรัพย์ทั้ง 4 บัญชีธนาคารขององค์การค้าฯ ดังกล่าวแล้ว ซึ่งเท่ากับเป็นการบังคับให้องค์การค้าฯ ต้องจ่ายหนี้พร้อมดอกเบี้ยภายในงวดเดียว จากเดิมที่ประนีประนอมให้แบ่งชำระเป็น 12 งวด อย่างไรก็ตามตัวเลขเงินในบัญชี เป็นเพียงการคาดเดาของทนายความ ยังต้องรอธนาคารแจ้งกลับไปยังกรมบังคับคดีว่ามีเงินเพียงพอตามที่ขออายัดหรือไม่ ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะยังขาดอยู่อีก 3 แสนบาท ซึ่งอาจต้องขออายัดบัญชีอื่นๆ ขององค์การค้าฯ เพิ่มเติมด้วย ซึ่งสืบทราบว่ายังมีอีกหลายบัญชี

“เงินค้างชำระที่เหลืออยู่เกือบ 3 แสนบาท หากจำเป็น ก็อาจต้องยื่นขออายัดบัญชีธนาคารออมสิน เพราะทราบว่าธนาคารออมสินเพิ่งอนุมัติปล่อยกู้ 1,500 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามแผนฟื้นฟูองค์การค้าฯ ซึ่งคิดว่าอาจจะกระทบแผนฟื้นฟูที่ธนาคารออมสินคงต้องกลับมาทบทวน เพราะขนาดเกือบ 30 ล้านบาท ยังไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้ แล้วเงิน 1,500 ล้านบาท ก็อาจส่งผลให้ธนาคารต้องกลับมาทบทวนแผนฟื้นฟูฯ อีกครั้ง อย่างไรก็ตามหลังจากที่ได้มีการอายัดทรัพย์ขององค์การค้าฯ แล้ว ก็ได้มีเจ้าหนี้ขององค์การค้าฯ อีกกว่า 10 รายโทรศัพท์มาขอคำแนะนำจากเพื่อที่จะดำเนินการฟ้องร้ององค์การค้าฯ เช่นกัน อย่างสำนักพิมพ์ประสานมิตร ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ขององค์การค้าฯ อยู่ 40 กว่าล้านบาท ก็ยังโทรศัพท์มาขอคำปรึกษา ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมาองค์การค้าฯ ย่ามใจว่าตัวเองเป็นหน่วยงานราชการ จึงคิดว่าไม่มีใครกล้าฟ้องหรือชนะคดีได้”

ด้าน นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการองค์การค้า ของ สกสค. กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยประนีประนอมแล้ว และได้มีการวางแผนที่จะทยอยที่จะชำระหนี้ทั้ง 12 งวดตามสัญญา แต่ผลการประชุมมีขึ้นในเดือน ธ.ค. 2552 ขณะที่เรื่องนี้ มาถึงตนวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ส่งผลให้นำเข้าสู่บอร์ด สกสค. ไม่ทัน จึงทำให้การชำระหนี้ล่าช้าออกไป แต่แทนที่ บ.นิปด้าฯ จะโทรมาเร่งรัด แต่กลับดำเนินการบังคับคดี ซึ่งถือว่าผิดมารยาทการทำธุรกิจ เป็นการทำเกินกว่าเหตุ ทางองค์การค้าฯ ได้ส่งนิติกรไปขอคัดค้านการอายัดทรัพย์ต่อกรมบังคับคดีแล้วในวันที่ 25 ก.พ. พร้อมยืนยันว่าองค์การค้าฯ จะชำระงวดเดือน ม.ค. 2553 ในทันที ส่วนงวดเดือน ก.พ. จะชำระภายใน 28 ก.พ.นี้ตามกำหนด และจะทยอยชำระต่อเนื่องไปเป็นงวดๆ จนครบงวดชำระที่เหลือ ส่วนกรณีที่บ. นิปด้าฯ ต้องการบังคับคดีให้ชำระภายในงวดเดียว 26.9 ล้านบาทนั้น คิดว่าน่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

ดร.ชินภัทร กล่าวอีกว่า องค์การค้าฯ ไม่สามารถถูกบังคับคดีได้เพราะเป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งขณะนี้ตนได้ส่งนิติกรขององค์กรค้าฯ พร้อมด้วยหนังสือตีความของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่กรมบังคับคดีว่าองค์การค้าฯ เป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งไม่อยู่ในข่ายที่จะถูกบังคับคดีได้ ตนคิดว่าองค์กรค้าฯ คงจะเจรจากับบ. นิปด้าฯ ได้ เพราะตอนนี้ได้ให้ฝ่ายบัญชีขององค์การค้าฯ เขียนเช็ควางไว้แล้ว โดยจะชำระหนี้ 2 เดือน คือ งวดเดือนม.ด.และงวดเดือนก.พ. แล้วจะขอให้ถอนการอายัด ถ้าสามารถเจรจาสำเร็จ ก็สามารถเบิกเงินจากบัญชีเหล่านั้น มาจ่ายเป็นเงินเดือนพนักงานองค์การค้าฯ ได้ซึ่งตอนนี้มีเงินในบัญชีพอ จึงอยากให้ทางบ.นิปด้าฯ อะลุ้มอล่วย เพราะองค์การค้าฯ ก็ได้แสดงเจตนาที่จะชำระหนี้แล้วโดยการตั้งคณะกรรมการไปเจรจาประนีประนอมหนี้ด้วยกัน ไม่ได้มีเจตนาที่จะเบี้ยวหนี้ ทางบ.นิปด้าฯ จึงควรจะเอื้อให้บ้าง

ล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 16.30 น. นายวีรธัช เปิดเผยภายหลังการเจรจากับองค์การค้าฯ ที่กรมบังคับคดี ว่า นิติกรขององค์การค้าฯ ได้ ยื่นเรื่องขอคัดค้านการบังคับคดี ต่อกรมบังคับคดี โดยอ้างว่าองค์การค้าฯ เป็นหน่วยงานของรัฐ ไม่สามารถถูกบังคับคดีได้ พร้อมกับเจรจาขอผ่อนผันจ่าย 2 งวดก่อน ส่วนที่เหลืออีก 10 งวด จะขอแบ่งจ่ายจนครบเหมือนเดิม และขอให้บริษัทถอนการบังคับคดีด้วย อย่างไรก็ตามกรมบังคับคดีไม่รับคำคัดค้าน ส่วนกรณีที่องค์การค้าฯ เจรจาขอผ่อนจ่าย 2 งวดก่อนและขอให้บริษัทถอนอายัดนั้น บริษัทฯ ได้ยืนยันกลับไปว่าจะไม่ถอนการอายัด เพราะต้องการให้องค์การค้าฯ จ่ายครบภายในงวดเดียว

นายวีรธัช กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ได้เสนอทางเลือกให้กับองค์การค้าฯ ไป 2 ทางเลือกถ้ายอมเลือกทางใดทางหนึ่ง จึงจะยอมถอนการอายัดทรัพย์สิน ดังนี้ 1.ชำระเงินงวดแรก 10 ล้าน ที่เหลือให้แบ่งชำระออกเป็น 5 งวด 2. ชำระเงินงวดแรก 5 ล้านและที่เหลือให้แบ่งชำระออกเป็น 3 งวด ซึ่งองค์การค้าฯ จะให้คำตอบกับบริษัทในวันที่ 26 ก.พ.นี้

“หน่วยงานที่จะไม่อยู่ในข่ายถูกบังคับคดี ก็ต่อเมื่อเงินรายได้ดังกล่าว มาจากงบประมาณแผ่นดิน แต่กรณีขององค์กรค้าฯ เป็นเงินรายได้จากการทำธุรกิจขององค์การค้าฯ เอง จึงสามารถถูกอายัดได้” ทนายความ บ.นิปด้าฯ กล่าว

นายอนันต์ นุชเทศ ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้า คุรุสภา กล่าวว่า สหภาพฯกำลังประชุมหารือกันว่าจะทำอย่างไรหากองค์การค้าฯถูกอายัดทรัพย์ เพราะหากถูกอายัดจริงพนักงานจำนวน 1,878 คนจะไม่ได้เงินเดือนในเดือนนี้ ซึ่งจะต้องจ่ายเงินเดือนพนักงานประมาณ 35 ล้านบาท

กำลังโหลดความคิดเห็น