กรมบังคับคดีจัดประชุมพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับการขายทอดตลาดทรัพย์สินโดยเฉพาะประเด็นในเรื่องการวางเงินประกันในการสู้ราคา รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ด้าน รมว.ยุติธรรม ระบุที่ผ่านมาร่างกฏหมายมีช่องโหว่มากการระดมความเห็นในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน
วันนี้ (19 ก.พ.) เมื่อเวลา 10.30 น.ที่โรงแรมมิราเคิล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีโครงการ “ประชุมประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับการขายทอดตลาดทรัพย์สิน” โดยมีผู้เข้าร่วม เช่น ผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ผู้พิพากษา อัยการ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทนายความ ลูกหนี้ และประชาชนทั่วไป
นายพีระพันธุ์กล่าวว่า สืบเนื่องจากเกิดปัญหาขึ้นในประเด็นสำคัญของข้อกฎหมายในประเด็นสำคัญในเรื่องของการวางเงินประกันในการสู้ราคา การกำหนดราคาเริ่มต้นในการขายทอดตลาดทรัพย์สิน และการกำหนดราคาประเมินทรัพย์สินของลูกหนี้ต่างๆ ที่ถูกศาลตัดสินให้เป็นบุคคลล้มละลายและได้มีการยึดทรัพย์สินมาขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระแก่เจ้าหนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจและมีผลโดยตรง ทั้งที่เป็นคู่ความและเป็นผู้สนใจเข้าซื้อทรัพย์ในส่วนของกรมบังคับคดี อีกทั้งคำสั่งและแนวปฏิบัติของกรมบังคับคดีในฐานะเป็นกฎหมาย จึงได้จัดทำร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับการขายทอดตลาดสินทรัพย์ขึ้นมาใหม่ และระดมลงความเห็นเพื่อพัฒนาระบบการขายทอดตลาดทรัพย์สินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
“กรมบังคับคดีได้รับเรื่องร้องเรียนในประเด็นที่ไม่เหมาะสมและเป็นธรรม ยกตัวอย่างเช่น การประกาศขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยึดไว้ได้ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่ประสงค์จะเสนอราคาต้องนำเงินสด หรือแคชเชียร์เช็ค หรือหนังสือค้ำประกันของธนาคาร มาวางประกันในการเสนอราคาต่อเจ้าหน้าที่บังคับคดี แต่ทรัพย์สินที่ยึดมีราคาประเมินถึง 20ล้านบาท แต่ตามข้อกฎหมายให้วางประกันในจำนวนเงินไม่ใกล้เคียงกับราคาเป็นจริง จึงเกิดความไม่เป็นธรรมกันทั้งทางลูกหนี้และเจ้าหนี้อีกด้วย” รมว.ยุติธรรม กล่าว
นายพีระพันธุ์กล่าวต่อว่า ปัญหาที่พบอีกและเกิดขึ้นบ่อยมีขบวนการแอบแฝงเข้ามาทำประโยชน์จากช่องว่างของร่างกฎหมายดังกล่าวที่เปิดช่องให้มีการวางเงินค้ำประกัน หรือเสนอราคาประมูลทรัพย์สิน ซึ่งในข้อกฎหมายระบุว่า ให้วางเงินเพียงไม่กี่บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นราคาที่ไม่เป็นธรรมกับทางเจ้าหนี้และลูกหนี้ให้ราคาสมเหตุสมผลกับสินทรัพย์ตามความเป็นจริง รวมไปถึงช่องโหว่อีกหลายข้ออีกด้วย ทางกระทรวงยุติธรรมจึงได้มาพิจารณาเห็นควรให้มีการระดมความเห็นในการปรับปรุงแก้ไขในร่างกฎกระทรวง จากความคิดเห็นหลายภาคส่วนซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประชนทั่วไป