xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ขยายบริการคลินิกยาต้านการแข็งตัวของเลือดในรพ.ชุมชน 14 แห่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สาธารณสุข เผยขณะนี้โรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตคนไทยมากเป็นอันดับ 2 ปีละกว่า 13,000 คน กว่าร้อยละ 90 เกิดจากโรคอื่น อาทิโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง จึงเร่งพัฒนาบริการ เพื่อลดการเสียชีวิต โดยในปี 2553 นี้ขยายบริการจ่ายยาต้านการแข็งตัวของเลือดรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ ในโรงพยาบาลชุมชนครั้งแรก 14 แห่ง ใน 8 จังหวัด เพื่อให้ผู้ป่วยรับยาใกล้บ้านมากขึ้น

วันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2553) ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ซิตี้ จอมเทียน จ.ชลบุรี นายแพทย์สถาพร วงษ์เจริญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการเครือข่ายโรคหัวใจ ครั้งที่ 2 มีแพทย์ พยาบาล จากศูนย์โรคหัวใจของกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชน ร่วมประชุมจำนวน 1,200 คน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานด้านโรคหัวใจ พัฒนาเครือข่ายและระบบบริการผู้ป่วยโรคหัวใจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายแพทย์สถาพรกล่าวว่า ขณะนี้โรคหัวใจ เป็นสาเหตุการป่วยและตายอันดับต้นๆ ของคนไทย แนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2551 มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือด 13,395 ราย สูงเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็งตับ ทั้งนี้ศูนย์โรคหัวใจทั้ง 29 แห่ง สังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมจัดทำการลงทะเบียนโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายชนิดเฉียบพลัน (STEMI Registry) ทำให้ทราบอุบัติการณ์การเกิดโรคและอัตราการเสียชีวิต ซึ่งสูงถึงร้อยละ 15 นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาด้านสารสนเทศ ของศูนย์โรคหัวใจและในอนาคตจะมีการลงทะเบียนโรคขยายครอบคลุมศูนย์โรคหัวใจที่มีอยู่ในภูมิภาคให้ครบทุกแห่ง

นายแพทย์สถาพรกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาศูนย์รักษาโรคหัวใจ ส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพมหานคร ผู้ป่วยที่อยู่ในต่างจังหวัด ต้องเสียทั้งค่าใช้จ่ายและเสียเวลาเดินทางมารับการรักษา ทำให้คิวรอรักษายาว บางรายเสียชีวิตก่อนถึงคิว กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งพัฒนาระบบบริการ โดยพัฒนาโรงพยาบาลที่มีความพร้อมให้เป็นศูนย์โรคหัวใจ และร่วมมือกับศูนย์โรคหัวใจสังกัดภาครัฐ 13 แห่ง อาทิ รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี รพ.จุฬาลงกรณ์ สถาบันโรคทรวงอก เพื่อเป็นเครือข่ายบริการ ขณะนี้ทั่วประเทศมีศูนย์โรคหัวใจ 60 แห่ง ในจำนวนนี้ อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 46 แห่ง

ทั้งนี้ ในปี 2553 กระทรวงสาธารณสุขได้ทดลองบริการให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดในผู้ป่วยโรคหัวใจในเครือข่ายโรงพยาบาล 8 จังหวัด จำนวน 14 รพ.ชุมชน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยที่ต้องรับการตรวจรักษาและกินยาต่อเนื่อง สามารถรับบริการกับแพทย์ใกล้บ้านมากขึ้น

นอกจากนี้ จะพัฒนาศูนย์รักษาโรคหัวใจที่สามารถให้การรักษาที่ซับซ้อน เช่น การใส่สายสวนหัวใจ อีก 4 แห่งในปีนี้ คือ ที่รพ.อุดรธานี รพ.ขอนแก่น รพ.ลำปาง และรพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ตั้งเป้าหมายภายในปี 2558 จะขยายศูนย์โรคหัวใจและจัดระบบเครือข่ายการบริการให้ถึงโรงพยาบาลชุมชน โดยพัฒนาศักยภาพแพทย์ ให้สามารถตรวจวินิจฉัยให้การรักษาโรคหัวใจเบื้องต้นได้ โดยเฉพาะการรักษาผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงอย่างถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงป่วยเป็นโรคหัวใจในอนาคต รวมทั้งมีระบบให้คำปรึกษา จัดช่องทางด่วนส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือมีอาการรุนแรงไปรักษาที่โรงพยาบาลแม่ข่ายโดยตรง จะช่วยลดอันตรายและการเสียชีวิตผู้ป่วยได้มาก นายแพทย์สถาพรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น