xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทย์เตือนผู้ป่วย “ฉายรังสีเอกซเรย์” เสี่ยงอันตราย-ผู้เชี่ยวชาญเผยมีตัวเลือกที่ดีกว่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผู้ป่วยที่รับการฉายรังสีด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) อาจได้รับรังสีมากกว่าการถ่ายภาพเอกซเรย์วินิจฉัยทั่วไป ซึ่งรังสีที่ผู้ป่วยจะได้รับมากน้อยนั้นมีหลายปัจจัย เช่น ขอบเขตการสแกนอวัยวะ รูปร่างของผู้ป่วย เด็กหรือผู้ใหญ่เป็นต้น ทั้งนี้ การเอกซเรย์นั้นต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ได้มีการพัฒนาขีดความสามารถในการตรวจได้เร็วขึ้นและสามารถตรวจร่างกายได้หลายส่วน การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ถือเป็นการตรวจหลักในการวินิจฉัย ค้นหาและติดตามผลการรักษาโรค จากการสำรวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยกองรังสีและเครื่องมือแพทย์ เมื่อปี 2551 พบว่า เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทั่วประเทศมีทั้งหมด 343 เครื่อง อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 52 เครื่อง ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตระหนักถึงปัญหาและความเสี่ยงจากการได้รับปริมาณรังสีจากการเข้ารับการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT Scan จึงได้ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพและวัดปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับจากการถ่ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน โดยห้องปฏิบัติการของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ขอนแก่น จำนวน 19 เครื่อง ใน 7 จังหวัดที่รับผิดชอบ ได้แก่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร

จากการสำรวจในเทคนิคพื้นฐาน คือ เอกซเรย์สมอง ช่องท้อง และปอด พบว่ามีปริมาณรังสีเฉลี่ยจากการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สูงกว่าปริมาณรังสีจากการเอกซเรย์วินิจฉัยทั่วไปที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ขอนแก่นได้ทำการประเมินไว้ดังนี้ คือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้องจะได้รับรังสี 5.5 มิลลิเกรย์ สูงกว่าการเอกซเรย์วินิจฉัยทั่วไปที่ผู้ป่วยได้รับเพียง 2.3 มิลลิเกรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดได้รับรังสี 5.9 มิลลิเกรย์ สูงกว่าการเอกซเรย์วินิจฉัยทั่วไปที่ผู้ป่วยได้รับเพียง 0.2 มิลลิเกรย์เท่านั้น

ทั้งนี้ ข้อมูลจากการตรวจสอบคุณภาพและปริมาณรังสีมีผู้ป่วยได้รับจากการถ่ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ดังกล่าว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะได้นำมาใช้เป็นข้อมูลสาธารณสุขทางการแพทย์เพื่อให้หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ใช้ประกอบในการพิจารณาและวางแผนในการป้องกันและควบคุมอันตรายจากรังสีต่อไป

นายศิริพงษ์ ณ น่าน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า รังสีที่ผู้ป่วยจะได้รับจากการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ ขอบเขตการสแกนอวัยวะ รูปร่างของผู้ป่วย ความละเอียดและจำนวนในการตัดภาพรังสี นอกจากนี้ ต้องแยกระหว่างการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ด้วย

อย่างไรก็ตาม การจะใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์นั้น ควรจะใช้ก็ต่อเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าจำเป็นต้องใช้เท่านั้น และเครื่องฉายรังสีก็ต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เวลาใช้จะต้องมีนักเทคนิคเป็นผู้ควบคุมเครื่องมือ และควรพิจารณาทางเลือกอื่นที่ให้ผลตรวจใกล้เคียงกัน เช่น การตรวจเกี่ยวกับลำไส้และกระเพาะอาหาร การวินิจฉัยโรคด้วยเอกซเรย์วินิจฉัยทั่วไปหรืออัลตราซาวนด์ก็เพียงพอ หรือในกรณีที่ตรวจกระดูกและกล้ามเนื้อ การตรวจด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ก็เป็นตัวเลือกที่ดีกว่า ซึ่งจะทำให้การได้รับปริมาณรังสีน้อยลง มีความปลอดภัยจากและประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น