xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์-คนไข้ ความขัดแย้งที่ยังรอการสมานฉันท์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากเหตุการณ์การผ่าตัดต้อกระจกให้แก่ผู้ป่วยที่โรงพยาบาลขอนแก่น แต่เกิดการติดเชื้อจนเป็นผลให้ผู้ป่วยกว่าสิบรายต้องตาบอด ผู้ป่วยที่เคยมารักษากับแผนกจักษุจากวันละ 100-200 ราย หายวูบไปทันทีเพราะความหวาดกลัว

ด้านกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และโรงพยาบาลขอนแก่นจึงต้องรีบออกมาชี้แจง เยียวยาความเสียหาย และออกมาตรการเพื่อสร้างมาตรฐานการรักษาในอนาคต
แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่ใช่ความผิดพลาดของแพทย์ผู้ผ่าตัดโดยตรง แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบกระเทือนความเชื่อมั่นที่สังคมมีต่อระบบการบริการสาธารณสุข ประเด็นที่ถูกหยิบยกตามมาเสมอก็คือการฟ้องร้องแพทย์ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น ยังผลให้ระบบบริการสาธารณสุขสั่นคลอน แพทย์ตามโรงพยาบาลชุมชนรู้สึกกดดัน ไม่กล้ารักษา ส่งต่อผู้ป่วยให้แก่โรงพยาบาลศูนย์ ทำให้โรงพยาบาลศูนย์เกิดภาวะคนไข้ล้น ด้านผู้ป่วยกับแพทย์ก็เกิดความขัดแย้ง ส่งผลเสียต่อเนื่องทั้งระบบ

1.
สถิติที่ สธ. รวบรวมไว้ตั้งแต่ปี 2539-2551 ระบุว่ามีคดีที่ สธ. ถูกฟ้องเป็นจำเลยทั้งหมด 98 คดี โดยสาเหตุที่ถูกฟ้องสูงสุดคือเรื่องการรักษาผิดพลาดไม่ได้มาตรฐาน
หากจะบอกว่าความผิดพลาดจากการรักษาที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือพิการเป็นเพราะความสะเพร่าของแพทย์ ก็ออกจะเป็นข้อกล่าวหาที่หยาบและเหมารวมอย่างไม่ยุติธรรม เพราะไม่มีแพทย์คนไหนต้องการให้ผู้ป่วยของตนเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเฉพาะตัวของแพทย์ผู้ทำการรักษาก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะตัดออกไปโดยสิ้นเชิงไม่ได้ แต่เราต้องไม่หลงลืมปัญหาเชิงระบบการบริการสาธารณสุขกำลังเผชิญอยู่

เมื่อสืบสาวเส้นด้ายแห่งความสัมพันธ์ทั้งหมด จะพบเงื่อนปมมากมายที่พอกพูนเป็นปัญหายากคลี่คลาย ไล่เรียงมาตั้งแต่ระบบการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ที่สร้างทัศนคติบางประการให้แพทย์เกิดความภูมิอกภูมิใจต่อความรู้ความสามารถของตนจนบ่อยครั้งเกินจุดพอดี, เป็นอาชีพที่สังคมให้การยอมรับยกย่อง, ระบบการศึกษาไม่สามารถผลิตแพทย์ได้เพียงพอต่อความต้องการ เกิดการขาดแคลนแพทย์ เมื่อแพทย์คนหนึ่งต้องรักษาผู้ป่วยจำนวนมากในแต่ละวัน ความเหนื่อยล้า ความกดดันย่อมส่งผลต่อการวินิจฉัยโรค

ระบบการจัดการสาธารณสุขที่ไร้ประสิทธิภาพ สังเกตว่าเราแทบไม่เคยได้รัฐมนตรี สธ. ที่มีความรู้ในเนื้องานจริงๆ เลย ข่าวลือล่าสุด ว่าที่รัฐมนตรีช่วย สธ. คนใหม่ก็จะเป็นน้องสาวของหัวหน้ามุ้งคนหนึ่งในพรรคภูมิใจไทย, อัตราเงินเดือนค่าตอบแทนของแพทย์ในโรงพยาบาลที่ค่อนข้างต่ำ, ปัญหาสมองไหล, การบริการสาธารณสุขที่กลายเป็นการค้ามากขึ้น, ปัญหาด้านยา, ปัญหานโยบายสาธารณะด้านสุขภาวะ, ปัญหาการคอร์รัปชัน, ปัญหาที่องค์กรวิชาชีพมีการควบคุมดูแลกันเองและไม่เปิดช่องทางให้ภาคสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมตรวจสอบ, การไม่มีกลไกป้องกันหรือเยียวยาผลกระทบ ฯลฯ

2.
มีการตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ประกาศใช้ อันเป็นกฎหมายที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคในการฟ้องร้องผู้ประกอบการที่ทำละเมิด ซึ่งกฎหมายนี้ได้รวมเอาคดีเกี่ยวกับความเสียหายทางการแพทย์เอาไว้ด้วย จึงทำให้เกิดการฟ้องร้องแพทย์มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตดังกล่าวยังไม่มีข้อมูลยืนยัน เพราะฝ่ายศาลก็บอกว่าคดีส่วนใหญ่เป็นคดีที่ผู้ประกอบการฟ้องผู้บริโภค

ถึงกระนั้นก็ตาม ได้มีความพยายามผลักดันจากหน่วยงานของรัฐที่ต้องการนำคดีความเสียหายทางการแพทย์ออกจากกฎหมายฉบับนี้

คงเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มักจะคลางแคลงการกระทำของผู้อื่นเสมอ และเชื่อว่าทำไปเพื่อผลประโยชน์ เมื่อผู้เสียหายฟ้องแพทย์จึงถูกสรุปว่า ‘เพื่อเงิน’ แต่เราไม่เคยถามอย่างจริงจังว่าจริงหรือเปล่า

“การฟ้องแพทย์ไม่ใช่ทางออก ผมไม่ได้ฟ้อง ไม่อยากจะฟ้องหมอ แต่อยากให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาแสดงความรับผิดชอบ เรื่องมันเกิดแบบนี้ ไปหน่วยงานไหนก็อึมครึมตลอด เหมือนกับเขารู้เรื่องแล้ว แต่ไม่ให้คำตอบเราเท่านั้นเอง”

ขันติพงษ์ บุตรวงษ์ ที่ต้องสูญเสียบุตรสาวหลังจากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เปิดเผยกับเรา สิ่งที่เขาต้องการที่สุดขณะนี้คือคำอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกสาวของเขา

“ถึงตอนนี้ยังไม่ได้รับคำอธิบายอะไรเลยครับ ทางผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ บอกว่าจะตั้งคณะกรรมการสอบภายใน 7 วัน อย่างช้า 1 เดือนเรื่องนี้ต้องกระจ่าง นี่ 6 เดือนเกือบ 7 เดือนแล้วยังไม่รู้เรื่องอะไรเลยครับ ยังมืดมนอยู่”

และเอาเข้าจริงๆ แล้ว การฟ้องแพทย์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

เนื่องจากกระบวนการหาความจริงเป็นเรื่องเชิงเทคนิคความรู้เฉพาะทาง ซึ่งก็มีแต่แพทย์ด้วยกันเท่านั้นที่จะชี้แจงต่อศาลได้ เป็นเหตุให้ไม่ค่อยมีแพทย์ขึ้นเป็นพยานให้แก่ฝ่ายผู้เสียหาย

และจากการติดตามเรื่องนี้ของ เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ก็ทำให้เกิดการเข้าใจว่า แพทยสภา เลือกที่จะยืนอยู่ตรงข้ามกับผู้เสียหาย

“มีการตั้งทีมหมอที่จบทนายขึ้นมาสู้กับคนไข้ และส่งข่าวถึงโรงพยาบาลทั่วประเทศไม่ว่ารัฐหรือเอกชนว่า ถ้ามีวี่แววว่าจะถูกตรวจสอบ ให้ส่งเวชระเบียนให้ทีมของเขาตรวจสอบก่อน หรือกระทั่งล็อบบี้สื่อถึงตำรวจว่า การจะรับแจ้งความจากคนไข้ต้องฟังความเห็นของแพทยสภาก่อน หรือเวลาเรานำคดีขึ้นสู่ศาล นายกแพทยสภาก็นำทีมไปสู้กับคนไข้ในศาลเอง ซึ่งพยานของคนไข้มีไม่กี่คน เพราะเราไม่สามารถนำหมอจากวิทยาลัยมาเบิกความให้เราได้ หายากมาก มันเป็นการต่อสู้กับระบบ” ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ อธิบาย

ได้ยินเช่นนี้ ย่อมทำให้ฝ่ายผู้ใช้บริการสาธารณสุขรู้สึกหวั่นวิตก ซึ่งเมื่อเราสอบถามไปยังแพทยสภา ก็ได้รับการบอกกล่าวจาก นายแพทย์สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ว่าทางแพทยสภาไม่ได้อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้แน่นอน ไม่มีการตั้งทีมทนายแพทย์ ไม่มีการแก้ไขเวชระเบียน และไม่มีการล็อบบี้กับทางตำรวจ

“เรามีแต่การขอความร่วมมือจากศาล ตำรวจ และอัยการว่า เวลาจะรับฟ้อง ให้มาขอข้อเท็จจริงจากแพทยสภา ให้ทางแพทยสภาโดยคณะอนุกรรมการวิชาการตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริง จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ก่อน ว่าแพทย์คนนั้นๆ ทำผิดอย่างร้ายแรงจริงๆ หรือเปล่า ซึ่งเรามีหนังสือเวียนไปยังหน่วยงานเหล่านี้เพื่อขอความร่วมมือ ทางแพทยสภาก็จะให้ความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย ซึ่งตรงนี้อาจจะมีการนำไปตีความอย่างที่ตั้งคำถาม”

3.
แต่เราจะก้าวให้พ้นหลุมพรางของความขัดแย้งได้อย่างไร

“ที่สุดแล้ว มันต้องมีความเสียหาย มีการละเมิดสิทธิ ถึงจะฟ้องได้เคยถูกนักศึกษาแพทย์ตั้งคำถามว่า เป็นเพราะมีกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค หรือเปล่าจึงทำให้คนไข้ฟ้องมากขึ้น เราก็ถามว่าฟ้องง่ายขึ้นยังไง เขาเล่าว่ามีคนไข้คนหนึ่งมาโรงพยาบาลและสุดท้ายติดเชื้อจากโรงพยาบาล คนไข้เสียชีวิต ลูกเขาก็มาฟ้อง เราก็ถามว่า แล้วจริงๆ เขาควรจะต้องทำยังไง ถ้าเขาไม่ฟ้อง โรงพยาบาลมีอะไรช่วยเหลือหรือชดเชยแก่เขาไหม ไม่มี เพราะฉะนั้นก็ต้องใช้การฟ้อง ถ้าไม่อยากให้มีการฟ้องก็ต้องมีกลไกที่เรียกว่า กองทุนเยียวยา”

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อธิบายถึงความสำคัญของการสร้างกลไกการเยียวยา รวมไปถึงการปรับปรุงมาตรฐานการรักษาให้มีความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะใช้สิทธิสวัสดิการใด

“ถามว่าจะทำให้หมอยากลำบากไหม เราคิดว่าหมอที่อยู่โรงพยาบาลของรัฐไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะเวลาผู้เสียหายฟ้อง ไม่ได้ฟ้องหมอ เขาฟ้องกระทรวงสาธารณสุข เพราะฉะนั้นทางกระทรวงฯ ก็ต้องรีบคิดเรื่องพวกนี้อย่างจริงจัง ถ้าไม่รีบออกกฎหมาย ก็ต้องหาทางที่จะมีกองทุนชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย”

ด้านปรียนันท์ เรียกร้องว่า

“เราเสนอว่า หนึ่ง-รัฐบาลต้องมีกองทุนชดเชยความเสียหายครอบคลุมทุกสิทธิ์ สอง-ต้องมีองค์กรกลางประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่ายที่เป็นที่ยอมรับได้ของทั้งฝ่ายหมอและคนไข้ทำหน้าที่พิจารณาให้เกิดการชดเชยที่เป็นธรรม สาม-ต้องนำโครงการ ‘Patient for Patient Safety’ (โครงการขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวความปลอดภัยของคนไข้ โดยให้คนไข้มีส่วนร่วม นำเอาความผิดพลาดจากการรักษามาเป็นบทเรียนให้แพทย์และประชาชนได้เรียนรู้ ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2545) มาพัฒนาเป็นระบบป้องกันความเสียหาย ซึ่งส่วนนี้ถือเป็นการป้องกันที่ต้นเหตุ”

ฝ่ายผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภาก็เห็นด้วยว่าควรจะมีกลไกทางกฎหมายออกมาเพื่อดูแล

“เรื่องนี้เป็นเรื่องยอมรับกันอยู่แล้ว ในต่างประเทศก็มี ถือว่ามีประโยชน์ แต่มีข้อแม้นะครับว่า ถ้าผู้เสียหายได้รับเงินจากกองทุนนี้แล้ว จะต้องยุติการฟ้องร้องทางศาล ไม่ว่าแพ่งหรืออาญา ซึ่งในต่างประเทศก็ยุติ รับเงินจากกองทุนแล้วก็ถือว่าเรื่องราวต้องยุติ ไม่อย่างนั้นจะไม่มีประโยชน์อันใด เท่ากับว่าใช้ระบบศาลตามปกติ”

ประเด็นหลังนี้ ยังเป็นที่เรื่องถกเถียงกันอยู่ระหว่างฝ่ายแพทยสภากับฝ่ายผู้บริโภคที่เห็นว่าไม่ควรตัดโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้เสียหาย โดย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งยกร่างในสมัย นายแพทย์มงคล ณ สงขลา เป็นรัฐมนตรี สธ. กำลังจะเข้าสู่สภาในเดือนกุมภาพันธ์
ปรากฏว่าทางกองการประกอบโรคศิลปะต้องการให้แก้ไขเนื้อหากฎหมาย โดยให้สำนักงานกองทุนไปขึ้นอยู่กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทางฝ่ายผู้บริโภคไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่ากองทุนเยียวยาควรเป็นหน่วยงานอิสระที่ไม่ขึ้นตรงต่อ สธ. ซึ่งเป็นคู่กรณีของคนไข้ และมีบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากทั้งฝ่ายแพทย์และฝ่ายผู้บริโภคเข้าไปเป็นคณะกรรมการบริหาร

อย่างไรก็ตาม กว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีผลคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ในเบื้องต้นนี้ หนทางป้องกันความขัดแย้งที่ดีที่สุดก็คือการสื่อสาร

สารีกล่าวว่า จากประสบการณ์ของเธอ ไม่มีใครอยากฟ้องแพทย์ นอกเสียจากจะเห็นว่าแพทย์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ดังนั้น หากแพทย์ทำการสื่อสาร ให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยอย่างเพียงพอ แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจ และมีมาตรฐานในการรักษาที่เท่าเทียม เธอเชื่อว่าน่าจะลดความขัดแย้งได้ในระดับหนึ่ง

เช่นเดียวกัน ทางแพทยสภาก็มีการส่งเสริมให้แพทย์รักษามาตรฐานจริยธรรมของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยการสื่อสาร ให้ข้อมูล ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ป่วยที่จะรับทราบข้อมูลโดยละเอียดเพียงพอ เพราะถ้าให้ข้อมูลไม่เพียงพอก็ถือเป็นการละเมิดได้ นายแพทย์สุกิจกล่าวว่า

“เราจึงมีการรณรงค์ให้แพทย์เห็นความสำคัญในการให้ข้อมูลและการบันทึกข้อมูลเวชระเบียนต่างๆ ให้สมบูรณ์ ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยในการได้รับการดูแลต่อด้วย ความสมบูรณ์ของเวชระเบียน การให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยว่ามีการรักษาอย่างไรบ้างในแต่ละวัน ถือเป็นตัวหลักๆ ในการตรวจสอบคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์”

………

ถึงที่สุดแล้ว กองทุนเยียวยาฯ แม้จะเป็นหนทางหนึ่งในการบรรเทาปัญหา แต่ก็เป็นสิ่งที่อยู่ปลายๆ เหตุ หากโครงสร้างใหญ่ของระบบบริการสาธารณสุขยังไม่ได้รับการปรับปรุงให้เกิดการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เท่าเทียม เพียงพอ และเข้าถึง เชื่อขนมกินได้เลยว่าความขัดแย้งระหว่างคนไข้และแพทย์ก็จะคาราคาซังต่อไป
…….
เรื่อง : กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล



กำลังโหลดความคิดเห็น